วันนี้ (5 พ.ค.2564) รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก เวลาประมาณ 18.00 น. ระบุว่า การประชุมร่วมระหว่างผู้ว่าฯ กทม. และทีม กทม.กับผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ตัวแทนสมาคมวิชาชีพ คณบดี หรือผู้แทนจากคณะแพทย์ในกทม. และผู้แทนราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เรื่องการเตรียมการรับมือสถานการณ์โควิดในกทม. มีมติร่วมกัน ดังนี้
1.ทุกฝ่ายจะร่วมกันเร่งค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชนเสี่ยงเพื่อแยกผู้ป่วยออกจากชุมชนให้ได้เร็วและมากที่สุด
2.ผู้ป่วยจะถูกรีบนำเข้าระบบการคัดแยกตามระดับความรุนแรง
3.ผู้ป่วยระดับสีเหลืองและสีแดงจะถูกนำเข้ารักษาในโรงพยาบาลหลัก
4.ผู้ป่วยสีเขียวจะถูกนำเข้ารักษาในโรงพยาบาลสนาม โดยจะคัดเลือกผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่ผลการตรวจน่าจะมีเชื้อไวรัสมาก และโรคอาจลุกลามได้ ให้เข้าสู่การรักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์นาน 5 วัน โดยต้องได้รับการดูแลรักษาอื่นตามมาตรฐาน
ต้องได้รับการยินยอมจากผู้ป่วยตามหลักจริยธรรม ต้องมีการเฝ้าระวังผลข้างเคียง และต้องมีการรวบรวมผลของการให้ยา เพื่อนำผลไปใช้ปรับแนวทางการรักษาของประเทศภายหลัง และจะมีการติดตามผลกระทบต่อการดื้อยา อีกทั้งยาที่นำมาใช้ในโครงการนี้ จะต้องไม่มีผลกระทบต่อสต๊อกยากลางของประเทศหรือมีให้น้อยที่สุด
5.จะขยายศักยภาพเพิ่มเติมของโรงพยาบาลสนาม ในความดูแลของกทม.ให้สามารถดูแลผู้ป่วยระดับสีเหลือง (เช่น ให้ออกซิเจน ให้น้ำเกลือ ฉีดยาเข้ากล้ามหรือเข้าเส้น ฯลฯ) ในกรณี
5.1 อยู่ในรพ.สนามตอนแรกเป็นสีเขียวแล้วแย่ลง และอยู่ในระหว่างการรอย้ายเข้ารพ.หลัก
5.2 เตียงรับผู้ป่วยสีเหลืองใน รพ.หลักหมุนเวียนใช้งานไม่ทัน
5.3 ผู้ป่วยสีเหลืองหรือสีแดงจากรพ.หลักที่อาการทุเลา แต่ต้องการการรักษาบางชนิดที่ไม่ซับซ้อน ก่อนกลับบ้านตามกำหนด
ทั้งนี้ความหมายของศักยภาพในรพ.สนามที่เพิ่มขึ้นนี้ ตรงกับนิยามไอซียูสนามของทีมกทม. แต่ไม่เทียบเท่าไอซียูสนามที่ใช้ดูแลผู้ป่วยโควิดรุนแรง/ วิกฤต ตามนิยามของสมาคมวิชาชีพฯ
6.จะเร่งระดมฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในชุมชนเสี่ยงทั้งหมดในกทม.เพื่อป้องกันการระบาดในปัจจุบันไม่ให้ขยายวงกว้าง และป้องกันการระบาดต่อไปในอนาคต