วันนี้ (12 พ.ค.2564) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตรืการแพทย์ กล่าวว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 ขอนแก่น ตรวจพิสูจน์ตัวอย่างของกลางที่ส่งโดยสถานีตำรวจในพื้นที่จ.มหาสารคาม เพื่อหาสารเสพติดและตัวยาอื่นๆ ประกอบด้วย ยาเพิ่มสมรรถภาพทางเพศผู้ชาย (ไวอากร้า) มีลักษณะเป็นเม็ดสีน้ำตาล พิมพ์ตัวเลข “800” ทั้งสองด้าน อยู่ในแผงบรรจุละ 6 เม็ด บนแผงพิมพ์รูปสุนัขสีแดง ข้อความภาษาจีน จำนวน 3 ตัวอย่าง ตรวจพบซิลเดนาฟิล (Sildenafil) ซึ่งเป็นยาในกลุ่มเสริมสมรรถภาพทางเพศทุกตัวอย่าง
นอกจากนี้ยังพบว่าในน้ำยาป๊อปเปอร์ (Poppers) มีลักษณะเป็นของเหลวใสสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นฉุน บรรจุในขวดสีชา ปิดฝาเกลียว ชื่อการค้าและฉลากเป็นภาษาต่างประเทศ ขนาดบรรจุประมาณ 9-10 มิลลิลิตร จำนวน 20 ตัวอย่าง ตรวจพบไอโซบิวทิลไนไตรท์ ทุกตัวอย่าง

ภาพ : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
ภาพ : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
สำหรับ ป๊อปเปอร์ เป็นสารระเหยถูกนำมาใช้ในทางที่ผิดวัตถุประสงค์ในบางกลุ่มประชากร ใช้สูดดมเพื่อผ่อนคลายอารมณ์ ให้เคลิบเคลิ้มเพิ่มความสุข หรือใช้ในการช่วยกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ โดยเฉพาะกลุ่มนักเที่ยวกลางคืน ผับ บาร์ และสถานบันเทิงๆ รวมถึงกลุ่มชายรักชาย
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สำหรับไอโซบิวทิลไนไตรท์จัดอยู่ในกลุ่มสารระเหยไนไตรท์ ออกฤทธิ์ทำให้เกิดการคลายตัว ของหลอดเลือด และการคลายตัวของกล้ามเนื้อเรียบ และก่อให้เกิดความผิดปกติ ต่อร่างกายทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง หากสูดดมต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาหนึ่ง จะมีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง จากฤทธิ์ขยายหลอดเลือด ได้แก่ ปวดศีรษะ หน้ามืด เป็นลม วูบวาบตามตัว ใจสั่น หรือบางรายส่งผลต่อระบบสายตา ทำให้มีการมองเห็นไม่ชัดเจน และอาจสูญเสียการได้ยิน
พบกลุ่มนักเที่ยวกลางคืนใช้สร้างอารมณ์
ส่วนอาการรุนแรง ได้แก่ หายใจไม่ออก กล้ามเนื้ออ่อนแรง และหากสูดดมต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะทำให้ระบบทางเดินหายใจผิดปกติ เซลล์ขาดออกซิเจน นอกจากนี้ยังพบอาการบริเวณที่สัมผัส เช่น ขอบจมูกอาจมีรอยไหม้แดง หากหกรดโดนผิวหนังหรือกระเด็นเข้าตาก็อาจเกิดอาการแสบร้อนหรือไหม้
ความเป็นพิษระยะยาวนั้น มีรายงานว่าไอโซบิวทิล ไนไตรท์อาจก่อให้เกิดมะเร็งได้ โดยมีการศึกษาในสัตว์ทดลองและมนุษย์ พบว่า ทำให้ปอดอักเสบ ภาวะซีด ลูคีเมีย พิษต่อตับ การกดไขกระดูก มีผลต่อภาวะซึมเศร้า และหากใช้ร่วมกับยากลุ่มฟอสโฟไดเอสเทอเรส-5 (พีดีอี-5) ซึ่งเป็นยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศจะทำให้เกิดการเสริมฤทธิ์ขยายหลอดเลือดอย่างมาก เกิดความดันเลือดต่ำอย่างรุนแรง และอาจเสียชีวิตได้

ภาพ : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
ภาพ : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
นพ.ศุภกิจ กล่าวา ไอโซบิวทิลไนไตรท์ ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ กำหนดให้เป็นสารที่ต้องมีการขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 ลงวันที่ 28 ต.ค.2557 การตรวจพบไอโซบิวทิลไนไตรท์ ร่วมกับ ยาในกลุ่ม เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ (ไวอากร้า)
เขตภาคอีสาน พบว่ามีการนำมาใช้กับกลุ่มนักศึกษา นักเที่ยวผับ สถานบันเทิงต่างๆ และมีการซื้อขายได้อย่างแพร่หลายในสังคมออนไลน์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ สังคม และความมั่นคงของประเทศ
ทั้งนี้ได้รายงานให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทราบ เพื่อร่วมมือและป้องกันไม่ให้มีการนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม แจ้งเตือนภัยอันตราย ให้ประชาชนได้รู้และเข้าใจ และช่วยกันเป็นหูเป็นตาเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังและกวดขันดูแลอย่างเข้มแข็งและเพื่อลดปัญหาดังกล่าว