The EXIT : ตามรอยไกเซอร์อิมพีเรียล

สิ่งแวดล้อม
8 พ.ย. 64
15:44
1,208
Logo Thai PBS
The EXIT : ตามรอยไกเซอร์อิมพีเรียล
ไกเซอร์อิมพีเรียล เป็น 1 ในซากผีเสื้อของกลาง 6 ชนิดพันธุ์ ที่ยึดได้จากผู้ต้องหาที่โพสต์ขายทางเฟซบุ๊ก เมื่อเดือน ก.ย. 2564 ซากผีเสื้อถูกสตัฟฟ์อยู่ในสภาพเกือบสมบูรณ์ ผีเสื้อชนิดพันธุ์นี้ไม่มีรายงานการพบเห็นในถิ่นที่อยู่มานานนับ 10 ปี

ซากผีเสื้อ 8 ซาก 6 ชนิดพันธุ์ เป็นของกลาง ที่ชุดปฏิบัติการเหยี่ยวดง กรมอุทยานฯ ยึดจากผู้ต้องหาเมื่อวันที่ 17 ก.ย.2564 ประกอบด้วย ผีเสื้อนางพญาพม่า ผีเสื้อนางพญากอดเฟรย์ ผีเสื้อหางดาบปีกโค้ง ผีเสื้อหางยาวตาเคียวปีกลายตรง ผีเสื้อหางยาวตาเคียวปีกลายหยัก และ ผีเสื้อไกเซอร์อิมพีเรียล

งหมดเป็นแมลงคุ้มครอง ภายใต้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 โดยมีผีเสื้อ 16 ชนิดในประเทศไทยที่ได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายฉบับนี้

 

หนึ่งในของกลาง คือ ซากผีเสื้อไกเซอร์อิมพีเรียล หรือ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า มรกตผ้าห่มปก สตัฟฟ์ใส่กรอบสภาพเกือบสมบูรณ์

ผีเสื้อชนิดพันธุ์นี้ มีรายงานพบมากที่ยอดดอยผ้าห่มปก เขตอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก จ.เชียงใหม่ ปัจจุบัน สถานภาพใกล้สูญพันธุ์ ไม่มีรายงานการพบเห็นในประเทศไทยมานานแล้วกว่า 10 ปี

 

แก้วภวิกา รัตนจันทร์ นักกีฏวิทยาชำนาญการพิเศษ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช บอกว่า คุณค่าของผีเสื้อเหล่านี้ไม่สามารถประเมินเป็นราคาได้ ผีเสื้อหลายชนิดพันธุ์ อยู่ในบัญชีที่ 2 ของไซเตส แม้ให้ค้าได้แต่ต้องควบคุมไม่ให้มีการใช้ประโยชน์มากเกินไปจนส่งผลกระทบต่อการอยู่รอดของชนิดพันธุ์ บางชนิดแม้สูญพันธุ์แล้ว แต่ต้องใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองซาก

 

ปี 2548 เจ้าหน้าที่ยึดซากผีเสื้อไกเซอร์อิมพีเรียลกว่า 100 ตัวได้จากผู้ต้องหาคดีสัตว์ป่าคุ้มครอง นับเป็นการยึดซากผีเสื้อคุ้มครองล็อตใหญ่ เป็นครั้งแรกในรอบ 16 ปี ซากทั้งหมดถูกเจ้าหน้าที่นำมาจัดเรียงต่อกันเป็นรูปผีเสื้อใส่กรอบขนาดใหญ่

ถ้าผีเสื้อเหล่านี้ยังมีชีวิตในธรรมชาติ เราอาจยังได้พบเห็น ไกเซอร์อิมพีเรียล ที่ดอยผ้าห่มปก ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของผีเสื้อชนิดนี้

แม้วันนี้ ยอดดอยผ้าห่มปก ความสูง 3,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก ไร้เงาผีเสื้อไกเซอร์อิมพีเรียล แต่ยังมีผีเสื้อสายพันธุ์ต่างๆ ให้ได้พบเห็น


หางติ่งปารีส เป็นผีเสื้อในวงศ์หางติ่ง ห้ามนำเข้าส่งออก ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 อยู่ในกลุ่มชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่ต้องมีการติดตาม ควบคุมการค้าระหว่างประเทศ แม้ยังไม่จัดอยู่ในประเภทแมลงคุ้มครอง แต่นักอนุรักษ์ผีเสื้อ กังวลว่า กลุ่มผีเสื้อชนิดพันธุ์นี้ใกล้จะสูญพันธุ์เพราะเริ่มหายาก

 

เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยพิทักษ์ป่ากิ่วลม อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก ให้ข้อมูลว่า ในอดีตมีชาวต่างชาติมารับซื้อผีเสื้อไกเซอร์อิมพีเรียลจากชาวบ้านถึงในพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านที่อาศัยในเขตอุทยานฯ นิยมขึ้นยอดดอยล่าผีเสื้อชนิดนี้กันเกือบทั้งหมู่บ้าน

โดยใช้วิธีการตอกทอยขึ้นไปขัดห้างดักผีเสื้อบนเรือนยอดต้นไม้สูง ปัจจุบัน ยังมีให้เห็นบริเวณเส้นทางเดินลาดตระเวนขึ้นยอดดอยผ้าห่มปก แต่ทรุดโทรมมากแล้ว

ผีเสื้อไกเซอร์อิมพีเรียล สวยมาก เวลาบิน เชฟปีกล่างจะมีส่วนหางที่พลิ้ว และโทนสีธรรมชาติ มีความคลาสสิกในตัวเอง ยิ่งหายากใกล้สูญพันธุ์ด้วย ทำให้เป็นที่ต้องการของนักสะสม

ปวีณา ปัญญาวงศ์ ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก ระบุว่า เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2557 เจ้าหน้าที่ยึดแมลงและผีเสื้อมากกว่าพันตัว พร้อมอุปกรณ์การดักจับ จากชายชาวต่างชาติ 4 คน ลักลอบจับผีเสื้อ บริเวณ ต.แม่แหลง อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก

 

ของกลางทั้งหมดที่ยึดได้ แบ่งเป็นผีเสื้อกลางวันกว่า 50 ชนิด ผีเสื้อกลางคืน 70 ชนิด และแมลงอื่นๆ จำนวนหนึ่ง แต่ไม่มีชนิดพันธุ์สัตว์ป่าคุ้มครองอยู่ในที่เกิดเหตุ  ผู้ต้องหาอ้างว่า ทำไปเพื่อการวิจัย และรวบรวมข้อมูลเพื่อเขียนหนังสือ แต่ไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอุทยานฯ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง