รอชม! จันทรุปราคาเต็มดวงคืนลอยกระทง 8 พ.ย.นี้

Logo Thai PBS
รอชม! จันทรุปราคาเต็มดวงคืนลอยกระทง 8 พ.ย.นี้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รอชม "จันทรุปราคาเต็มดวง" คืนวันลอยกระทง 8 พ.ย.นี้ ประเทศในแถบเอเชีย รวมทั้งไทย ตะวันตกของแอฟริกา ยุโรปตะวันออก อเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย มหาสมุทรแปซิฟิก มองเห็น โดยดวงจันทร์จะเริ่มเข้าเงามัว 15.05 น. และเห็นดวงจันทร์ปรากฏเป็นสีแดงอิฐทั้งดวงนานถึง 57 นาที

วันนี้ (28 ต.ค.2565) สมาคมดาราศาสตร์ไทย ระบุว่า ในวันที่ 8 พ.ย.นี้ ซึ่งตรงกับวันลอยกระทง จะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง บริเวณที่สามารถมองเห็นได้ ได้แก่ ด้านตะวันตกของแอฟริกา ยุโรปตะวันออก อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ เอเชีย ออสเตรเลีย มหาสมุทรแอตแลนติก และมหาสมุทรแปซิฟิก

จันทรุปราคา ในครั้งนี้ ดวงจันทร์โคจร อยู่ในกลุ่มดาวแกะ ขณะที่ดวงจันทร์ขึ้นเหนือขอบฟ้าประเทศไทย ดาวยูเรนัส จะผ่านตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์พอดี ทำให้บางส่วนของโลก รวมทั้งพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทย สามารถเห็นดวงจันทร์บังดาวยูเรนัสได้

ขั้นตอนการเกิดจันทรุปราคา 8 พ.ย.นี้

  • ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลก เวลา 15.02.15 น.
  • เริ่มเกิดจันทรุปราคาบางส่วน เวลา 16.09.12 น.
  • เริ่มเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง เวลา 17.16.39 น.
  • ดวงจันทร์เข้าไปในเงาลึกที่สุด เวลา 17.59.10 น.
  • สิ้นสุดจันทรุปราคาเต็มดวง เวลา  18.41.39 น.
  • สิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วน เวลา 19.49.05 น.
  • ดวงจันทร์พ้นจากเงามัวของโลก เวลา 20.56.11 น.

 

สำหรับจันทรุปราคาวันที่ 8 พ.ย.นี้ถือเป็นจันทรุปราคาเต็มดวงหรือราหูอมจันทร์  ในวันดังกล่าว ประเทศไทยดวงจันทร์จะโผล่พ้นจากขอบฟ้าเวลาประมาณ 17.44 น. (เวลา ณ กรุงเทพฯ) ทำให้ผู้สังเกตในไทยมีโอกาสมองเห็นดวงจันทร์ปรากฏเป็นสีแดงอิฐทั้งดวงนานถึง 57 นาที

ก่อนที่จะเข้าสู่จันทรุปราคาบางส่วนในเวลา 18.42-19.49 น. และเข้าสู่จันทรุปราคาเงามัวที่สังเกตเห็นได้ยาก และสุดท้ายดวงจันทร์จะพ้นจากเงามัวของโลกเวลา 20.56 น. ถือว่าเป็นการสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาในครั้งนี้โดยสมบูรณ์

ก่อนหน้านี้เมื่วันที่ 19 พ.ย.2564 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน ซึ่งถือเป็นปรากฎการณ์ทางดาราศาสตร์ครั้งสุดท้ายของปีนี้

โดยจะมีส่วนที่เงาโลกบังดวงจันทร์อยู่มากกว่า 90% กินระยะเวลายาวนานกว่า 6 ชั่วโมง ถือว่านานสุดในรอบ 580 ปี พ.ศ.1983 และปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วนที่จะยาวนานกว่านี้ต้องรอไปถึงปี พ.ศ.3212
ภาพ:สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ภาพ:สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ภาพ:สมาคมดาราศาสตร์ไทย

จันทรุปราคา หรือราหูอมจันทร์คืออะไร?

ปรากฏการณ์จันทรุปราคา เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในแนวระนาบเดียวกัน โดยโลกอยู่ตรงกลางระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์

ขณะที่ดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงามืดของโลก ผู้สังเกตบนโลกจะมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งไปทีละน้อยจนดวงจันทร์เข้าไปอยู่เงามืดทั้งดวง จากนั้นจะเริ่มมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ออกจากเงามืดของโลก ช่วงที่ดวงจันทร์โคจรเข้าไปอยู่ในเงามืดของโลกบางส่วนจะเรียกว่า “จันทรุปราคาบางส่วน” และช่วงที่ดวงจันทร์โคจรเข้าไปอยู่ในเงามืดของโลกทั้งดวง เรียกว่า “จันทรุปราคาเต็มดวง” จะมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงเป็นสีแดงอิฐ เนื่องจากได้รับแสงสีแดงซึ่งเป็นคลื่นที่ยาวที่สุด หักเหผ่านบรรยากาศโลกไปกระทบกับดวงจันทร์

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"พระจันทร์สีเลือด" ยาวนานที่สุดในรอบ 580 ปี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง