วิเคราะห์ : สัดส่วน รมต. คนละครึ่ง ?

การเมือง
19 พ.ค. 66
20:47
2,531
Logo Thai PBS
วิเคราะห์ : สัดส่วน รมต. คนละครึ่ง ?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
คาดพรรคก้าวไกลคุมเก้าอี้รัฐมนตรี "คลัง-มหาดไทย-กลาโหม" ตรงกับท่าที "พิธา" เคยกล่าวว่านายกฯ ควบกลาโหมถ้าจำเป็น

เลี่ยงไม่ได้สำหรับรัฐบาลก้าวไกล ที่จะต้องไม่มีคำว่า "แบ่งเค้ก-โควตาหรือสัดส่วน" เพราะตามข้อเท็จจริง ประชาธิปไตยก็ยึดตามเสียงข้างมาก "แบ่ง" ตาม "สัดส่วน" กำหนดเป็น "โควตา" โดยคำนวณจากคะแนนเสียงของแต่ละพรรค และเป็นไปตามกฎหมาย "ครม.จะมีนายกรัฐมนตรี 1 คน บวกรัฐมนตรี รวม 36 คน" เท่านั้น

ดังนั้น ประมวลเสียงของแต่ละพรรคในพรรคร่วมรัฐบาลก้าวไกล เริ่มที่ "ก้าวไกล" 152 เสียง, "เพื่อไทย" 141 เสียง, "ประชาชาติ" 9 เสียง, "ไทยสร้างไทย" 6 เสียง, "เพื่อไทรวมพลัง-เสรีรวมไทย-เป็นธรรม-สังคมใหม่-พรรคใหม่ รวมถึงชาติพัฒนากล้า" รวมๆ กันแล้วบวก ลบ คูณ หาร ออกมาเป็นสัดส่วน จะได้ ส.ส. 8 คน ต่อ 1 เก้าอี้รัฐมนตรี

เทียบกับรัฐธรรมนูญปี 2560 หมวด 8 เรื่องคณะรัฐมนตรี มาตรา 158 ที่บัญญัติไว้ว่า "พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่น ไม่เกิน 35 คน" โควตาที่ควรจะเป็นจะออกมาเป็น นายกรัฐมนตรี 1 คน บวกกับ 35 รัฐมนตรี

หากเทียบกับวิถีปฏิบัติ จะก่อนหน้านี้หรือในรัฐบาลพลังประชารัฐ ปี 2562 ภาพของ ครม.พิธา ก็น่าจะมีรองนายกฯ ประมาณ 4 คน หรือขึ้นอยู่กับข้อตกลงในพรรคร่วม จะมีเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการ รวมกับรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ไม่เกิน 19 คน และมีรัฐมนตรีช่วยอีกราวๆ 12 คน รวมแล้ว 1+35 ตามรัฐธรรมนูญ จากนั้นก็นำมาเทียบกับสัดส่วนเก้าอี้ ส.ส.ของพรรคร่วมฯ

คาดการณ์ว่า "ก้าวไกล" น่าจะครองเก้าอี้ "ว่าการ" 8 ตำแหน่ง "ช่วยว่าการ" 7 ตำแหน่ง / "เพื่อไทย" น่าจะอยู่ที่ "ว่าการ" 8 ตำแหน่ง ส่วน "ช่วยว่าการ" น่าจะอยู่ที่ 6 คน / "ประชาชาติ กับไทยสร้างไทย" น่าจะได้ "ว่าการ" พรรคละ 1 ตำแหน่ง / รวมถึง "ชาติพัฒนากล้า อาจรวมกับพรรคเล็ก" ก็น่าจะได้ "ว่าการ" 1 ตำแหน่ง

และจากที่ "ก้าวไกล" ฟันธงจะเก็บ "กลาโหม-มหาดไทย-คลัง" ไว้ให้คนของพรรค ก็น่าจะชัดระดับหนึ่งแล้ว หากเทียบกับนโยบายและทิศทางของ "ก้าวไกล" ที่ย้ำไว้กับการหาเสียงก็น่าจะมี "ยุติธรรม-ศึกษา-ต่างประเทศ-แรงงาน" รวมอยู่ในโควตารัฐมนตรีของพรรคด้วย

ตามรายงานข่าวรัฐมนตรีคลัง น่าจะเป็น "ศิริกัญญา ตันสกุล" ด้วยเป็นงานถนัด-เชี่ยวชาญอยู่ แต่เจ้าตัวก็ตอบได้แค่ว่า "รอพรรคเคาะ" ส่วนเก้าอี้มหาดไทยมี 2 ชื่อ "วิโรจน์ ลักขณาอดิศร" กับ "ชัยธวัช ตุลาธน" ซึ่งทั้งคู่ "แบ่งรับ-แบ่งสู้" กันอยู่ โดยตอบในทำนองเดียวกัน "พรรคยังไม่ชี้" และที่เป็นไฮไลท์อยู่คือ "ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ" จะได้นั่งเก้าอี้ "ดีอีเอส" ซึ่งบอกแล้วว่า "พร้อม" แต่ยังไม่ได้รับการทาบทาม

ส่วนที่ชัดในเวลานี้ก็เริ่มไม่ชัดขึ้นมา "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ว่าที่นายกฯ มีข่าวว่าจะควบ "ว่าการ" กระทรวงการต่างประเทศ จากเดิมที่เคยระบุไว้ว่า "จำเป็น" ก็จะควบ "ว่าการ" กระทรวงกลาโหม

ตามรายงานข่าว "ก้าวไกล" อยู่ระหว่างการต่อสายคนนอก ด้วยคุณสมบัติของรัฐมนตรีที่กำหนดอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี และต้องการผู้มีประสบการณ์-เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการนั่งเก้าอี้รัฐมนตรี

ขณะที่ "เพื่อไทย" ถ้ายึดตามโควตาแล้ว มีรายงานว่า กระทรวงที่ได้ คือ "เกษตร-พาณิชย์-คมนาคม-อตุสาหกรรม-พลังงาน" และอยู่ระหว่างการต่อรองขอ "ดีอีเอส" ด้วยเหตุผลที่จะ "ดีสรัป" การทำงานและพรรคคู่ขนานกันไป

สำหรับพรรคร่วมรัฐบาลก้าวไกล "ประชาชาติ-ไทยสร้างไทย-ชาติพัฒนากล้า-เสรีรวมไทยและพรรคเล็ก" ตามโควตาจะมีเก้าอี้รัฐมนตรี "ท่องเที่ยว-พัฒนาสังคม-อุดมศึกษา-สาธารณสุข และกระทรวงทรัพย์ฯ" ที่จะจัดสรรกัน

ทั้งหมดนี้ คาดการณ์ภายใต้กฎหมาย-ความเหมาะสมและสถานการณ์การเมืองในเวลานี้ แต่ก่อนจะเคาะโผ ครม.พิธา 1 แกนนำพรรค "ก้าวไกลและเพื่อไทย" ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "ขอ MOU ให้จบก่อน" จะจบแบบไหน อย่างไร รอผลเย็นวันจันทร์

จากนั้นต้องรอผลโหวตนายกรัฐมนตรี แต่กว่าจะฝ่าด่านไปถึงการโหวตนายกรัฐมนตรี ต้องฝ่าด่านการเลือกประธานรัฐสภา ซึ่งหมายถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร และอีกหลายด่าน แต่จะอาฟเตอร์ช็อกแค่ไหนกับด่านสุดท้ายที่ถูกจับตามอง นั่นก็คือ การถือหุ้นไอทีวี รวมถึงคำร้องล่าสุด มีใครครอบงำพรรคก้าวไกล หรือไม่

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เลือกตั้ง2566 : คาดการณ์ MOU รัฐบาลก้าวไกล

เลือกตั้ง2566 : "ชัยธวัช" ชี้ดีลเก้าอี้ไม่ลงตัว แย้มกระทรวงเกรดเอ โควตาพรรคแกนนำ

เลือกตั้ง2566: ถอดรหัส "22 พ.ค." ครบรอบ 9 ปีรัฐประหารสู่วันนับหนึ่งรัฐบาลก้าวไกล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง