เลือกตั้ง2566: ถอดรหัส "22 พ.ค." ครบรอบ 9 ปีรัฐประหารสู่วันนับหนึ่งรัฐบาลก้าวไกล

การเมือง
19 พ.ค. 66
16:24
1,356
Logo Thai PBS
เลือกตั้ง2566: ถอดรหัส "22 พ.ค." ครบรอบ 9 ปีรัฐประหารสู่วันนับหนึ่งรัฐบาลก้าวไกล
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"ยุทธพร อิสรชัย" นักวิชาการการเมือง ถอดรหัส 22 พ.ค.66 "พิธา" ปักหมุดจับมือพรรคร่วมรัฐบาลแถลงเอ็มโอยูจัดตั้งรัฐบาล สะท้อนนัยการเมืองครบรอบ 9 ปีรัฐประหาร เรียกว่าสัญวิทยาทางการเมือง
รัฐบาลชุดใหม่จะทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ต่ออำนาจของประชาชน และเราจะเป็นรัฐบาลของคนไทยทุกคน

ถ้อยแถลงของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่บอกกับสื่อมวลชนในเวทีการแถลงข่าว จัดตั้งรัฐบาลประชาชน ร่วมกับ 8 พรรคการเมืองแถลงร่วมจัดตั้งรัฐบาล 313 เสียง ที่โรงแรมโอกุระ เพรสทีจ เมื่อ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา

ทุกพรรคจะตกผลึกและร่วมแถลงรายละเอียดของ MOU ในวันที่ 22 พ.ค.นี้

แม้หลายคนจะเข้าใจไทม์ไลน์การแถลงจัดตั้งรัฐบาลของนายพิธา และพรรคร่วมรัฐบาลที่เพิ่งผ่านมาหมาดๆ หลังเลือกตั้งแค่ 4 วัน อาจจะเร็วเกินไปที่จะกำหนดรายละเอียด และสาระสำคัญ แต่ในทางการเมือง กลับถูกเพ่งเล็งถึงวันที่ 22 พ.ค.ที่กำลังจะมาถึงอีกแค่ 3 วัน

22 พ.ค.2557 หรือเมื่อ 9 ปีก่อนประเทศไทย เคยผ่านเหตุการณ์รัฐประหารครั้งที่ 13 

หากย้อนไปเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 เวลา 16.30 น. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารได้ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ซึ่งนับเป็นรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย

อ่านข่าวเพิ่ม เลือกตั้ง2566 : ศัพท์ใหม่การเมืองไทย "MoU" ที่รัฐบาลก้าวไกลใช้

รัฐประหารดังกล่าวเกิดขึ้น หลังวิกฤตการณ์การเมืองซึ่งเริ่มเมื่อเดือนต.ค.2556 เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ และนายทักษิณ ชินวัตร หลังรัฐประหาร มีประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 สิ้นสุดลง  

ยกเว้นหมวด 2 คณะรัฐมนตรีรักษาการหมดอำนาจ ตลอดจนให้ยุบวุฒิสภา จนเมื่อวันที่ 22 ก.ค.2557 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ซึ่งให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา จากนั้น 21 ส.ค.2557 สภามีมติเลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

อ่านข่าวเพิ่ม เลือกตั้ง2566 : "พิธา" นำ 8 พรรคแถลงร่วมตั้งรัฐบาล 313 เสียง มั่นใจโหวตผ่านนายกฯ

ไทม์ไลน์ "พิธา" นัยทางการเมือง

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์ รศ.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มองปรากฎการณ์นี้ว่า เป็นการแสดงนัยทางการเมืองอย่างชัดเจน เชื่อว่าทั้งพรรคก้าวไกล เพื่อไทย และพรรคร่วมตั้งใจเลือกวันที่ 22 พ.ค.นี้ เพราะสะท้อนวันรัฐประหารปี 2557

และหากย้อนไปเมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา การนัดพูดคุยเพื่อหารือการจัดตั้งรัฐบาล ก็เลือกร้านอาหารที่ถนนสุโขทัย ที่ในปี 2531 เคยถูกใช้เป็นสถานที่จัดตั้งรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หลังจากรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อยู่ในรัฐบาลมาอย่างยาวนาน

เป็นการสะท้อนนัยทางการเมืองอย่างชัดเจน เป็นการเลือกวันที่ 22 พ.ค.ที่ครบรอบ 9 ปีรัฐประหาร เชื่อว่ามีการวางไทม์ไลน์ในแต่ละวันที่เลือกหารือพูดคุย เรียกว่าสัญวิทยาทางการเมือง

รศ.ยุทธพร มองว่าการที่เรียกว่าสัญวิทยาทางการเมือง เพราะไม่ใช่การตลาดเท่านั้น แต่เป็นการสะท้อนถึงสัญวิทยา เครื่องมือในการสื่อสารการเมืองกับผู้คนที่เกี่ยวข้อง

หากถามต่อว่าการพูดคุยจัดตั้งรัฐบาลก้าวไกล ที่ระบุว่า จะไม่มีการแบ่งเค๊กเก้าอี้กระทรวง นักวิชาการกลับเห็นต่างว่า เนื่องจากการเมืองจะหนีโควตาไม่พบ แม้ก้าวไกลฝันจะทำการเมืองแบบมิติใหม่ แต่อาจจะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ และพรรคก้าวไกลก็พยายามเคลียร์ในแต่ละพรรค

ต้องยอมรับว่าในพรรคการเมืองก็มีมุ้ง ซึ่งมุ้งทางการเมืองก็ไม่ใช่ว่าจะเห็นตรงกันทั้งอุดมการณ์ทางการเมือง เพราะจะมีจุดยืนทางการเมืองที่ต่างกันไป และตรงนี้อาจจะทำให้ผลประโยชน์ทางการเมือง เป็นตัวกำหนดโควตารัฐมนตรี

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เลือกตั้ง2566 : รู้จัก "พรรคใหม่" เสียงที่ 314 ร่วมตั้งรัฐบาลก้าวไกล

เลือกตั้ง2566 : "ชัยธวัช" ชี้ดีลเก้าอี้ไม่ลงตัว แย้มกระทรวงเกรดเอ โควตาพรรคแกนนำ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง