จับตาปฏิกิริยา "กะเหรี่ยงบีจีเอฟ" หลังเมียนมาตัดไฟทุนจีนเทา

ต่างประเทศ
16 มิ.ย. 66
09:51
690
Logo Thai PBS
จับตาปฏิกิริยา "กะเหรี่ยงบีจีเอฟ" หลังเมียนมาตัดไฟทุนจีนเทา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รัฐบาลเมียนมายุติสัปทานซื้อขายไฟเมืองทุนจีน 2 แห่งในเขตอิทธิพลกะเหรี่ยงบีจีเอฟ แม้ไม่ส่งผลต่อทุนจีนเทามากนัก แต่กลับเป็นภาพสะท้อนให้เห็นระดับความสัมพันธ์ที่แตกต่างกันระหว่าง SAC กับ จีน และ กะเหรี่ยงบีจีเอฟ ได้อย่างชัดเจน

ตัดไฟไม่กระทบเมืองทุนจีนเทา

ทันทีที่เข้าสู่วันที่ 6 มิ.ย.2566 ไทยยุติการขายไฟฟ้าบริเวณสองจุดของจังหวัดเมียวดี ซึ่งส่งไปเลี้ยงเมืองชเวโก๊กโก่ และ KK ศูนย์กลางเมืองสแกมเมอร์ และกาสิโนออนไลน์ ติดชายแดน จ.ตาก ของไทย หลังจาก รัฐบาลเมียนมาไม่ต่อสัมปทานการซื้อขายไฟใน 2 จุดนั้น

ผู้สื่อข่าวในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก รายงานว่า สถานการณ์ล่าสุดในเมืองชเวโก๊กโก่และเมือง KK ซึ่งเป็นพื้นที่ลงทุนของกลุ่มทุนจีนสีเทา ยังดำเนินกิจกรรมตามปกติ ไม่พบปัญหาขาดแคลนไฟฟ้า เนื่องจากมีไฟสำรองและเครื่องปั่นไฟขนาดใหญ่รองรับการใช้งานในกิจกรรมต่างๆ

ขณะที่ ชาวเมียนมาซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เช่น ร้านค้าขนาดเล็ก ขนาดกลาง และที่อยู่อาศัย กำลังได้รับความเดือดร้อน และเริ่มสั่งซื้อเครื่องปั่นไฟจาก อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อนำไปใช้ในครัวเรือน

3 เส้าความสัมพันธ์ จีน – SAC - กะเหรี่ยงบีจีเอฟ

นายกฤษณะ โชติสุทธิ์ อาจารย์ประจําหลักสูตรพม่าศึกษา ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสว่า พื้นที่การลงทุนของกลุ่มจีนเทาบริเวณชายแดนรัฐกะเหรี่ยง อยู่ในเขตอิทธิพลของกองกำลังพิทักษ์ชายแดนกะเหรี่ยง หรือ กะเหรี่ยงบีจีเอฟ

นายกฤษณะ โชติสุทธิ์ อาจารย์ประจําหลักสูตรพม่าศึกษา ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ ม.นเรศวร (ภาพจากคณะมนุษยศาสตร์ ม.นเรศวร)

นายกฤษณะ โชติสุทธิ์ อาจารย์ประจําหลักสูตรพม่าศึกษา ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ ม.นเรศวร (ภาพจากคณะมนุษยศาสตร์ ม.นเรศวร)

นายกฤษณะ โชติสุทธิ์ อาจารย์ประจําหลักสูตรพม่าศึกษา ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ ม.นเรศวร (ภาพจากคณะมนุษยศาสตร์ ม.นเรศวร)

จากข้อมูลของกลุ่มนักลงทุนจีนที่เข้ามาตั้งเมืองใหม่ริมแม่น้ำเมย พบว่า เป็นกลุ่มซึ่งมีปัญหากับรัฐบาลจีนอยู่เดิม แต่รัฐบาลจีนไม่สามารถลงมาจัดการกลุ่มจีนเทาเหล่านี้ได้ด้วยตนเอง เนื่องจากเป็นเขตอธิปไตยของเมียนมา และพื้นที่ดังกล่าวก็อยู่ในความดูแลของกะเหรี่ยงบีจีเอฟ ซึ่งได้รับอำนาจจากรัฐบาลเมียนมาให้จัดการพื้นที่ชายแดนบริเวณนี้

ทางการจีนจึงใช้วิธีการกดดันผ่านรัฐบาลกลางเมียนมา ผ่านสภาบริหารรัฐแห่งเมียนมา หรือ SAC ที่ก่อตั้งขึ้นหลังการรัฐประหารโดยกองทัพเมียนมาเมื่อปี 2564 โดยส่งตัวแทนเข้าพบผู้นำระดับสูงของ SAC ที่เนปิดอว์ นำไปสู่คำสั่งยุติสัมปทานซื้อขายไฟฟ้าทั้งสองจุดในเวลาต่อมา

ทางการจีนต้องการจัดการจีนเทา แต่ไม่สามารถจัดการได้ด้วยตนเอง จึงใช้ SAC เข้ามากดดันรัฐบาลไทยให้ตัดไฟที่ส่งไปยังเขตชเวโก๊กโก่และเมือง KK

หลังการรัฐประหารในปี 2564 SAC มีประเทศมหาอำนาจที่ยังเป็นพันธมิตรกันอยู่ไม่กี่ประเทศ ได้แก่ จีน และ รัสเซีย ขณะที่ ประเทศมหาอำนาจในโลกตะวันตกออกมาตรการคว่ำบาตร เพื่อโต้กลับการทำรัฐประหารของกองทัพเมียนมา เนื่องจากขัดกับหลักประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชน

นายฉิน กัง รมว.ต่างประเทศของจีน เยือนประเทศเมียนมาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 พ.ค.66 เข้าพบพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย นายกรัฐมนตรีเมียนมา

นายฉิน กัง รมว.ต่างประเทศของจีน เยือนประเทศเมียนมาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 พ.ค.66 เข้าพบพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย นายกรัฐมนตรีเมียนมา

นายฉิน กัง รมว.ต่างประเทศของจีน เยือนประเทศเมียนมาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 พ.ค.66 เข้าพบพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย นายกรัฐมนตรีเมียนมา

อาจารย์ประจําหลักสูตรพม่าศึกษา ม.นเรศวร บอกว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมากับรัสเซียในช่วงที่ผ่านมา ค่อนข้างมั่นคง ไม่มีข้อบ่งชี้ใดให้กังวลว่าสายสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศจะเปลี่ยนแปลงไป ต่างกับประเทศจีนที่มีท่าทีเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์เสมอ

ยกตัวอย่างเช่น ในยุครัฐบาลพลเรือน NLD หลายฝ่ายคาดการณ์ว่ารัฐบาลจีนไม่น่าชอบรัฐบาลที่มาจากพรรค NLD แต่เมื่อดูข้อเท็จจริงจะพบว่าจีนไม่ได้สนใจเรื่องนี้เท่าไรนัก แต่มุ่งเน้นไปที่ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจมากกว่า

ถ้าหาก SAC เลือกจะเข้าข้างกะเหรี่ยงบีจีเอฟ และไม่เอารัฐบาลจีนกลาง แบบนั้นจะสั่นคลอน SAC มากกว่า SAC จึงเลือกอยู่ข้างรัฐบาลจีน มากกว่าอุ้มกะเหรี่ยงบีจีเอฟไว้

นายกฤษณะ อธิบายเพิ่มเติมว่า การตัดสินใจเช่นนี้ เป็นเพราะ SAC เลือกที่จะรักษาผลประโยชน์ในภาพใหญ่มากกว่า เนื่องจากเศรษฐกิจของเมียนมาหลายด้าน รวมถึง ตำแหน่งในเวทีโลก ยังต้องพึ่งพามหาอำนาจอย่างจีน

ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่าง SAC กับกะเหรี่ยงบีจีเอฟ อยู่ในลักษณะพันธมิตรที่แบ่งปันกิจกรรมทางการเมืองและเศรษฐกิจ และอาจมีบางกิจกรรมที่แบ่งปันผลประโยชน์กันผ่าน “ส่วย” ซึ่งน้ำหนักความสัมพันธ์ลักษณะนี้ เทียบไม่ได้เลยกับน้ำหนักความสัมพันธ์ระหว่าง SAC กับรัฐบาลจีนกลาง

ขู่ปิดสะพานมิตรภาพ สัญญาณเตือนถึง SAC

ก่อนหน้าการยุติส่งไฟไม่กี่วัน พบว่า กองกำลังกะเหรี่ยงบีจีเอฟ ส่งสารอย่างไม่เป็นทางการว่าจะปิดสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาทั้งสองแห่งใน อ.แม่สอด จ.ตาก แต่สุดท้ายการปิดสะพานทั้งสองแห่งไม่เกิดขึ้น

พันเอกชิต ตุ ผู้นำกองกำลังกะเหรี่ยงบีจีเอฟ (คนหน้าสุด) ภาพจาก  YATAI IHG

พันเอกชิต ตุ ผู้นำกองกำลังกะเหรี่ยงบีจีเอฟ (คนหน้าสุด) ภาพจาก YATAI IHG

พันเอกชิต ตุ ผู้นำกองกำลังกะเหรี่ยงบีจีเอฟ (คนหน้าสุด) ภาพจาก YATAI IHG

นายกฤษณะ บอกว่า คำขู่จากกะเหรี่ยงบีจีเอฟ ไม่ใช่สารที่ส่งถึงทางการไทยอย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ แต่เป็นการส่งสัญญาณเตือน SAC เนื่องจากสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ทั้งสองแห่ง อยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลกลาง SAC ไม่ใช่กะเหรี่ยงบีจีเอฟ และ เขาประเมินว่าคำขู่ดังกล่าวส่งผลสะเทือนต่อ SAC พอสมควร

ถ้าหากกะเหรี่ยงบีจีเอฟ ปิดสะพานได้จริง นั่นหมายความว่า เขากำลังเริ่มทำสงครามกับ SAC

ยุติส่งไฟ 2 เมืองจีนเทาใครได้ประโยชน์?

อาจารย์ประจําหลักสูตรพม่าศึกษา ม.นเรศวร มองว่า SAC คือผู้ได้ประโยชน์จากการยุติจ่ายไฟให้กับสองเมืองทุนจีนเทามากที่สุด เพราะทำให้ SAC ได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลจีนมากยิ่งขึ้น

มีการตั้งข้อสังเกตว่า การยุติขายไฟให้ทั้งสองเมือง ทำให้รัฐบาลไทยสูญเสียรายได้ แต่ต้องยอมรับว่า ก่อนหน้านี้ รัฐบาลไทยมีปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ ถูกมองในลักษณะเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มทุนจีนเทา ดังนั้น การยอมสูญเสียรายได้จากการขายไฟ แลกกับกู้ภาพลักษณ์จากนานาชาติ ถือว่าคุ้มค่ามาก

เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า กลุ่มทุนจีนเทาที่อยู่ในเมืองวันนี้ ล้วนเดินทางผ่านประเทศไทย นั่งเครื่องบินมาลงประเทศไทย และต่อเครื่องไปลงแม่สอด

จีนเทายังมีอนาคต ไม่กระทบท่อน้ำเลี้ยงกะเหรี่ยงบีจีเอฟ

นายกฤษณะ บอกว่า ตราบใดที่เครื่องปั่นไฟทำงานได้อยู่ เมืองทุนจีนทั้งสองแห่งก็ยังสามารถดำเนินกิจกรรมต่อไปได้ และสามารถแบ่งปันผลกำไรไปยังกะเหรี่ยงบีจีเอฟได้เช่นเดิม ดังนั้น การยุติส่งไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจึงไม่กระทบท่อน้ำเลี้ยงของกลุ่มกะเหรี่ยงบีจีเอฟอย่างที่หลายฝ่ายประเมินไว้ในตอนแรก

สิ่งที่สำคัญที่สุดหลังจากนี้ที่ต้องจับตามองคือ รัฐบาลจีนกลางจะกดดัน SAC ต่ออย่างไร หรือฝ่ายไทยอาจเข้าไปกดดัน SAC ด้วยไหม ผมเข้าใจว่ารัฐบาลจีนกลางน่าจะมีมาตรการที่รุนแรงมากกว่านี้ในอนาคต

สิ่งที่น่ากังวลสำหรับฝ่ายไทยคือ ในอนาคตหากกะเหรี่ยงบีจีเอฟเปิดฉากตอบโต้ SAC โดยอาจเข้าร่วมกับกลุ่มต่อต้านอื่นๆ ในพื้นที่ จะส่งผลต่อสนามอำนาจในพื้นที่ชายแดนของไทยอีกรอบหนึ่ง และ อาจเกิดการสู้รบครั้งใหญ่ตามมา

 

จิราภรณ์ ศรีแจ่ม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง