ไทม์ไลน์ 1 ปีภารกิจพา “พลายศักดิ์สุรินทร์” กลับบ้าน

สิ่งแวดล้อม
29 มิ.ย. 66
14:32
5,091
Logo Thai PBS
ไทม์ไลน์ 1 ปีภารกิจพา “พลายศักดิ์สุรินทร์” กลับบ้าน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

นับถอยหลังอีกเพียง 3 วัน คนไทยกำลังรอคอยการกลับมาของ “พลายศักดิ์สุรินทร์” ช้างไทยที่ไปทำหน้าที่ทูตสันถวไมตรี ที่ประเทศศรีลังกา นานถึง 22 ปีเต็ม จะได้เหยียบแผ่นดินแม่ในวันที่ 2 ก.ค.นี้

หากไล่เรียงไทม์ไลน์ในภารกิจครั้งนี้ ใช้เวลาถึง 1 ปีเต็ม นับตั้งแต่มีการร้องเรียนจากผ่านองค์กร RARE ซึ่งเป็นองค์การด้านการพิทักษ์สิทธิสัตว์ในศรีลังกา ถึงการใช้แรงงานอย่างหนักกับพลายศักดิ์สุรินทร์ หนึ่งในช้าง 3 เชือก ที่รัฐบาลไทยมอบให้รัฐบาลศรีลังกา กระทั่งวันนี้ จนภารกิจลุล่วง รัฐบาลไทยใช้งบ 19 ล้านบาทในการนำพาพลายศักดิ์สุรินทร์กลับมา

อ่านข่าวเพิ่ม ซ้อมจริง! 3 ชม.ย้าย "พลายศักดิ์สุรินทร์" ถึงสนามบินโคลัมโบ

ปี 2544 

ม.ค.2544 รัฐบาลไทยมอบช้างให้รัฐบาลศรีลังกา ประธานาธิบดีของประเทศศรีลังกา มีหนังสืออย่างเป็นทางการ ขอลูกช้างตัวผู้ จากประเทศไทย เพื่อนำไปฝึกสำหรับอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ

ปี 2565 

พ.ค.2565 มีการร้องเรียนจากผ่านองค์กร RARE ซึ่งเป็นองค์การด้านการพิทักษ์สิทธิสัตว์ในศรีลังกา ถึงการใช้แรงงานอย่างหนักกับพลายศักดิ์สุรินทร์ ในขบวนแห่พระเขี้ยวแก้ว ที่ประเทศศรีลังกา หลังจากพบว่าพลายศักดิ์สุรินทร์มีสภาพผอมโซ ถูกล่ามโซ่ มีบาดแผลฝีที่สะโพก และขาบาดเจ็บ

จากนั้นมีการสอบถามข้อเท็จจริงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มีหนังสือสอบถามมายัง กรมอุทยานฯ ให้พิจารณาตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับช้างพลายศักดิ์สุรินทร์

ส.ค.2565 ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยทส.ขอความอนุเคราะห์กระทรวงการต่างประเทศ โดย สำนักเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ ตรวจเยี่ยมความเป็นอยู่ของพลายศักดิ์สุรินทร์

ก.ย.2565 ตรวจสอบสุขภาพ คณะผู้แทนไทย ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่และสัตวแพทย์จาก กรมอุทยานแห่งชาติฯ องค์การสวนสัตว์ และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เดินทางไปประเทศศรีลังกา เพื่อหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและตรวจสอบสุขภาพช้าง

ต.ค.2565 เว็บไซต์ www.change.org  เปิดแคมเปญ Ask the President of Sri Lanka to sign off the retirement of abused Muthu Raja เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยนำ พลายศักดิ์สุรินทร์ หรือ Muthu Raja จากประเทศศรีลังกา

พ.ย.2565 สถานทูตในกรุงโคลัมโบ ย้ายพลายศักดิ์สุรินทร์ ไปที่สวนสัตว์ Dehiwala หลังมติการประชุมร่วมระหว่าง ทส. กระทรวงการต่างประเทศ เห็นว่าช้างมีปัญหาสุขภาพ ควรได้รับการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม โดยในชั้นต้นควรย้ายช้างไปยังสถานที่ที่เหมาะสม

อ่านข่าวเพิ่ม ดรีมทีมดูแล “พลายศักดิ์สุรินทร์” บนเที่ยวบิน IL-76 ศรีลังกา-ไทย

ปี 2566 

ก.พ.2566  รัฐบาลศรีลังกาเห็นชอบ เห็นว่าพลายศักดิ์สุรินทร์ ควรได้รับการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมโดยเร่งด่วน และขอบคุณรัฐบาลไทยสำหรับความช่วยเหลือ ในการดูแลสุขภาพช้าง จึงเห็นชอบในการนำพลายศักดิ์สุรินทร์มารักษาอาการป่วยที่ประเทศไทย

อ่านข่าวเพิ่ม ผมจะไม่ทิ้ง! เปิดใจควาญช้าง "พลายศักดิ์สุรินทร์" รอพากลับบ้าน

มี.ค.2566 นายทองสุก มะลิงาม และพี่ชาย ควาญช้าง และเคยเลี้ยงพลายศักดิ์สุรินทร์ก่อนถูกส่งไปที่ศรีลังกา เดินทางไปฝึกช้าง และดูแลช้างเพื่อปรับให้คุ้นชินกับคนไทย เตรียมความพร้อม แต่เดินทางกลับไทยเพราะมีปัญหาสุขภาพ

พ.ค.2566 ต่อกรงขึ้นพิเศษ เพื่อใช้ในการขนย้ายพลายศักดิ์สุรินทร์ ต่อขึ้นใหม่ ขนาด 2.1 × 6.55×3.075 เมตร มีความหนาของเหล็ก 21 ซม.ให้เหมาะกับขนาดตัวช้างที่สูง 2.9 ม.ลำตัวจากงาจรดหาง 4.55 ม.

อ่านข่าวเพิ่ม เปิดโปรแกรมฝึก "พลายศักดิ์สุรินทร์" ให้ยืนในกรง-ส่งเสียงดัง

มิ.ย.2566 กรมอุทยานฯ และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ส่งควาญช้าง 4 คนเดินทางไปฝึกความพร้อม นายทรชัยสิทธิ์ ศิริ นายศุภชัย บุญเกิด นายไกรสร เครือจันทร์ และนายกิติชัย ศรีประเสริฐ โดยมีแผนในการฝึกความคุ้นชิน เข้าออกกรง การเคลื่อนย้าย

ปฏิบัติการในการฝึกพลายศักดิ์สุรินทร์ เพิ่มความเข้มข้นขึ้น มีการจำลองเสียงดัง ใช้เครนยก และซ้อมเสมือนจริงเส้นทางจากสวนสัตว์ มายังสนามบินกรุงโคลัมโบ ซึ่งใช้เวลา 3 ชั่วโมงในการซ้อม 

ทีมกรมอุทยานฯ-ส่งทีมสัตวแพทย์ ไปประเมินอาการรอบสุดท้ายก่อนเดินทางด้วยเครื่องบิน ด้วยเครื่องบิน Ilyushin IL-76 ของรัสเซีย 

อ่านข่าวเพิ่ม อยากกลับบ้าน! “พลายศักดิ์สุรินทร์” ไม่ตื่นเต้น ซ้อมเข้า-ออกกรง

2 ก.ค.2566  ปฏิบัติการจริง จะเริ่มขึ้นในเวลา 02.00 น. เคลื่อนย้ายจากสวนสัตว์ และนำมาโหลดขึ้นเครื่องบินจากสนามบินนานาชาติกรุงโคลัมโบเวลา 07.30 น ถึงสนามบินเชียงใหม่ เวลา 13.00 น. ใช้เวลา 5 ชั่วโมง มีนายวรา วุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รอต้อนรับ

จากนั้นจะพลายศักดิ์สุรินทร์ ขนส่งโดยรถบรรทุกจากสนามบินเชียงใหม่ไปยังสถาบันคชบาลแห่งชาติ จ.ลำปาง ระยะทาง 70 กิโลเมตร ตามโปรแกรม กักกันโรคบริเวณพื้นที่เฝ้าระวัง (ตรงกันข้ามกับสถาบันคชบาล) ระยะเวลา 14 วัน มีการสังเกตอาการ และพฤติกรรมของช้าง จากนั้นเมื่อครบ 14 วัน จะมีการเก็บเลือด ตัวอย่างมูล ตรวจสอบเชื้อที่อาจติดต่อสู่คนและสัตว์ หากปลอดโรค จะเคลื่อนย้ายมาดูแลรักษาอาการ ป่วยในสถาบันคชบาล 

สำหรับ "พลายศักดิ์สุรินทร์" หรือถูกเรียกในภาษาศรีลังกาว่า มุทุราชา (Muthu Raja) หรืออีกชื่อที่ควาญเรียกว่า "บิลลี่" เป็นช้างไทยที่รัฐบาลไทย มอบให้เห็นทูตสันถวไมตรีแก่รัฐบาลศรีลังกา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 โดยรัฐบาลศรีลังกาได้โอนกรรมสิทธิ์ พลายศักดิ์สุรินทร์ ให้แก่วัดคันเดวิหาร เพื่อทำหน้าที่ขนส่งพระบรมสารีริกธาตุ ปัจจุบันคาดว่าอายุประมาณ 30 ปี

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"กัญจนา" เผยเบื้องหลังช่วย "พลายศักดิ์สุรินทร์" กลับไทย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง