เปิดศักยภาพอาวุธ "ฮามาส" ต่อกรอิสราเอล

ต่างประเทศ
10 ต.ค. 66
21:27
7,079
Logo Thai PBS
เปิดศักยภาพอาวุธ "ฮามาส" ต่อกรอิสราเอล
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การโจมตีของฮามาสครั้งนี้นอกจากจะทำให้อิสราเอลไม่ทันตั้งตัวแล้ว ทั่วโลกยังพุ่งความสนใจไปที่ศักยภาพของกลุ่มฮามาส คำถามคืออาวุธของฮามาสมาจากไหน โดยเฉพาะมีการตั้งข้อสังเกตถึงอาวุธอเมริกันที่นักรบกลุ่มนี้ใช้งาน

เหตุปะทะรุนแรงระหว่างอิสราเอลกับฮามาส แม้จะไม่ใช่เรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ดูเหมือนว่าครั้งนี้อาวุธของนักรบฮามาสจะมีศักยภาพเพิ่มมากขึ้นจากในอดีต

สื่อสายทหารของฮามาส เผยแพร่คลิปวิดีโอเมื่อวันที่ 9 ต.ค.2566 เป็นภาพของนักรบฮามาสยิงจรวดโจมตีเครื่องบิน แต่จุดที่น่าสนใจในคลิปดังกล่าวคือการเปิดตัวระบบป้องกันภัยทางอากาศ "มุตเบอร์ วัน"

ฮามาส พัฒนาระบบป้องกันภัยชิ้นนี้ขึ้นเอง เพื่อใช้จัดการกับเป้าหมายในอากาศที่บินในระดับต่ำ ซึ่งรวมถึงอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) และเฮลิคอปเตอร์ด้วย ซึ่งฮามาสระบุว่าเคยใช้อาวุธชิ้นนี้โจมตีเฮลิคอปเตอร์ "อาปาชี" ของอิสราเอลไปแล้วอย่างน้อย 4 ลำ

ปัจจุบัน กองพลน้อย "อัล-คาสซาม" ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นกองกำลังที่ใหญ่ที่สุดและมีอาวุธที่ดีที่สุดของฮามาส ระบุว่าได้ประจำการระบบนี้ในกาซา เพื่อใช้รับมือเครื่องบินรบอิสราเอล

นอกจากฮามาสและกองกำลังติดอาวุธปาเลสไตน์จะพัฒนาและผลิตอาวุธขึ้นใช้เองเป็นจำนวนมากแล้ว ส่วนหนึ่งยังถูกจัดส่งมาจากนอกกาซาด้วย ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมาจากอิหร่านและซีเรียเป็นหลัก แต่เส้นทางการจัดส่งอาวุธภายใต้สภาพการถูกปิดล้อมอย่างเข้มข้นไม่ใช่เรื่องง่าย

อ่านข่าว : อิสราเอลพลาดท่า ถูกฮามาสโจมตีครั้งใหญ่ได้อย่างไร ?

อิสราเอลเริ่มปิดล้อมกาซา นับตั้งแต่ฮามาสเข้าปกครองพื้นที่นี้ตั้งแต่ปี 2007 โดยก่อนที่จะเกิดความรุนแรงระลอกล่าสุด มีจุดข้ามแดนออกจากกาซาเปิดเพียงแค่ 3 จุด จากทั้งหมด 7 จุดเท่านั้น รวมทั้งมีการตรวจตราและการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ดังนั้นอาวุธต่างๆ รอดสายตาของเจ้าหน้าที่อิสราเอลไปได้อย่างไร

สภาพความเสียหายในกรุงเทลอาวีฟ หลังถูกโจมตีด้วยจรวดที่ยิงโดยกลุ่มติดอาวุธ

สภาพความเสียหายในกรุงเทลอาวีฟ หลังถูกโจมตีด้วยจรวดที่ยิงโดยกลุ่มติดอาวุธ

สภาพความเสียหายในกรุงเทลอาวีฟ หลังถูกโจมตีด้วยจรวดที่ยิงโดยกลุ่มติดอาวุธ

การจัดส่งหลักๆ มี 2 เส้นทาง คือ การลักลอบขนส่งมาทางทะเล โดยจะนำอาวุธใส่ในแคปซูลที่ปิดหนาแน่น แล้วนำมาทิ้งไว้บริเวณนอกชายฝั่งกาซา ซึ่งแม้จะเสี่ยงถูกทหารเรืออิสราเอลตรวจพบ แต่ก็ยังดีกว่าการลักลอบขนผ่านด่านตรวจบริเวณพรมแดน ขณะที่อีกหนึ่งจุด คือ การลำเลียงผ่านอุโมงค์ลับใต้พรมแดนอียิปต์-กาซา

นอกจากนี้ ฮามาสยังเผยแพร่อีกหนึ่งคลิปวิดีโอที่ระบุว่า เป็นภาพการบุกทำลายรถถังอิสราเอลใกล้กับพรมแดนกาซา เมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา รวมถึงใช้โดรนติดระเบิดบินไปทิ้งระเบิดโจมตี โดยผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางส่วนหนึ่ง ระบุว่า การโจมตีของฮามาสระลอกนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่มีการใช้โดรนร่วมในภารกิจโจมตีรถถังอิสราเอล

อาจพูดได้ว่า อาวุธที่ฮามาสใช้ เทียบไม่ได้กับเทคโนโลยีอาวุธของอิสราเอล เพราะส่วนใหญ่มักจะเป็นเพียงแค่อาวุธขนาดเล็ก เช่น จรวด ปืนกล หรือรถยนต์ธรรมดาที่ดัดแปลงมาใช้งานในการสู้รบ แตกต่างจากอิสราเอลที่ได้รับการสนับสนุนอาวุธและเทคโนโลยีด้านอาวุธจากสหรัฐฯ โดยมีทั้งรถถัง รถหุ้มเกราะ ไปจนถึงเครื่องบินรบรุ่นล่าสุดอย่าง F-35 และเชื่อว่าอิสราเอลน่าจะมีอาวุธนิวเคลียร์ด้วย

ทหารอิสราเอลเข้าประจำการในรถหุ้มเกราะ ใกล้ชายแดนฉนวนกาซาทางตอนใต้ของอิสราเอล

ทหารอิสราเอลเข้าประจำการในรถหุ้มเกราะ ใกล้ชายแดนฉนวนกาซาทางตอนใต้ของอิสราเอล

ทหารอิสราเอลเข้าประจำการในรถหุ้มเกราะ ใกล้ชายแดนฉนวนกาซาทางตอนใต้ของอิสราเอล

ในช่วง 20 นาทีแรก นับตั้งแต่เปิดปฏิบัติการโจมตีอิสราเอล เมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา มีรายงานว่า ฮามาสยิงจรวดไปมากกว่า 5,000 ลูก โดยในจำนวนนี้มีไม่น้อยที่หลุดรอดระบบป้องกันภัยทางอากาศไอร์ออน โดม ของอิสราเอลไปได้ ซึ่งข้อได้เปรียบหนึ่งของอาวุธฮามาส คือ แม้จะไม่ล้ำสมัย แต่มีต้นทุนต่ำและสามารถผลิตได้ในปริมาณมาก หรือพูดง่ายๆ คือการใช้ปริมาณเข้าสู้

ฮามาสมีจรวดอยู่หลายรุ่นด้วยกัน มีพิสัยทำการตั้งแต่ 10 กิโลเมตร ไปจนถึง 150 กิโลเมตร ครอบคลุมอิสราเอลทั้งประเทศ ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งเชื่อว่า ปัจจุบันฮามาสยังมีจรวดอยู่ในคลังแสงอีกจำนวนมาก แต่ประเด็นเรื่องอาวุธของฮามาสที่กำลังถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ คือ อาวุธสัญชาติอเมริกันไปอยู่ในมือของนักรบฮามาสได้อย่างไร

อ่านข่าว : ทัพ "อิสราเอล" เทคโนโลยีล้ำสมัย ก้าวข้ามขีดจำกัดทรัพยากร 

มาร์จอรี เทย์เลอร์ กรีน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากรีพับลิกัน และผู้สนับสนุนสายแข็งของโดนัลด์ ทรัมป์ โพสต์ข้อความเสนอให้รัฐบาลอเมริกันร่วมมือกับอิสราเอล เพื่อติดตามและตรวจสอบอาวุธอเมริกันที่ฮามาสใช้ในการทำศึกรอบนี้ว่ามาจากอัฟกานิสถาน หรือยูเครน หรือมาจากทั้ง 2 ที่

การตั้งข้อสังเกตในลักษณะนี้ มีขึ้นหลังจากทรัมป์ จูเนียร์ บุตรชายของอดีตผู้นำสหรัฐฯ พูดในทำนองว่า อาวุธที่เห็นในตะวันออกกลางดูคล้ายกับของสหรัฐฯ มากกว่ารัสเซีย และนั่นอาจมาจากคลังอาวุธที่สหรัฐฯ ทิ้งเอาไว้ให้กลุ่มตอลีบานในอัฟกานิสถานหรือไม่

แม้ว่ากระแสข่าวดังกล่าวจะเป็นเพียงแค่การตั้งข้อสังเกตและยังไม่มีหลักฐานยืนยัน แต่ก่อนหน้านี้ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนก็ออกมาแสดงความกังวลว่า สงครามและความขัดแย้งรุนแรงในจุดต่างๆ ของโลก อาจส่งผลให้การค้าอาวุธเถื่อนข้ามชาติยิ่งเฟื่องฟู

แต่อย่างไรก็ตาม การติดตามข่าวสารในช่วงนี้ โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ ต้องตรวจสอบกันให้ดี

วิเคราะห์โดย ทิพย์ตะวัน ธีรนัยพงศ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สหรัฐฯ เคลื่อนกองเรือรบมุ่งหน้าอิสราเอล

"ฮามาส" เปิดทางเจรจาหวังหยุดยิงกับอิสราเอล

รู้จัก "อิสราเอล" ดินแดนแห่งประวัติศาสตร์นับพันปี

รู้จัก "กลุ่มฮามาส" กองกำลังติดอาวุธ โจมตีอิสราเอลรุนแรงสุดในรอบ 50 ปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง