คาดสัปดาห์หน้า นายกฯ เคาะกลุ่มคนได้เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท

การเมือง
28 ต.ค. 66
19:25
778
Logo Thai PBS
คาดสัปดาห์หน้า นายกฯ เคาะกลุ่มคนได้เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นายกฯ เตรียมเคาะกลุ่มเป้าหมายรับเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท สัปดาห์หน้า ขณะที่คลังเปิดสถิติ "ผู้มีรายได้น้อย" ได้รับเงินโอนภาครัฐแล้วใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจมากที่สุด ภาคประชาคมเสนอสวัสดิการถ้วนหน้าแทนเงินดิจิทัล เชื่อรัฐบาลมีสัญญาณผิดปกติ

เศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าชะลอตัว ทำให้วันนี้ (28 ต.ค.2566) นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (ผอ.สศค.) ปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจปีนี้ จากร้อยละ 3.5 เหลือร้อยละ 2.7 หลังประเมินปัญหาดังกล่าวกระทบยอดส่งออกทั้งปี อาจติดลบ ร้อยละ 1.8 ประกอบกับ นักท่องเที่ยวจีน เดินทางเข้าประเทศน้อยกว่าคาด

ทั้งนี้ สศค. ยังประเมินเศรษฐกิจปีหน้าจะขยายตัวร้อยละ 3.2 โดยยังไม่รวมผลจากมาตรการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เนื่องจาก ต้องรอความชัดเจนเงื่อนไขการใช้จ่ายและกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับสิทธิ

โดยเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ทุก ๆ 400,000 ล้านบาท ถึงจะกระตุ้น GDP โตเพิ่มขึ้นได้ร้อยละ 1 แต่ไม่สามารถสรุปได้ว่า วงเงินจำนวนนี้สมควรมาจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยการฟื้นตัวภาคการส่งออก และการลงทุนทางตรงด้วย

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

สศค. ได้อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้จ่ายครัวเรือนปี 2564 พบว่าประชากรผู้มีรายได้น้อย ที่ได้รับเงินโอนภาครัฐ 100 บาท จะใช้จ่าย 60-85 บาท ซึ่งสูงสุดเมื่อเทียบกับประชากรชนชั้นปานกลาง และกลุ่มผู้มีรายได้สูง ตลอดจนสูงกว่าค่าเฉลี่ยประชากรทั้งประเทศที่ 53 บาท

ทั้งนี้ นายกฯ เตรียมประชุมคณะกรรมการดิจิทัล วอลเล็ต สัปดาห์หน้า เพื่อหาข้อสรุปแนวทางดำเนินโครงการ

ตามข้อเสนอคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับเงินดิจิทัล 3 กลุ่ม ได้แก่

  • กลุ่มผู้มีรายได้น้อย
  • กลุ่มผู้มีเงินเดือน 25,000 บาท และ/หรือ มีเงินฝากทุกบัญชีไม่เกิน 100,000 บาท
  • กลุ่มผู้มีเงินเดือน 50,000 บาท และ/หรือ มีเงินฝากทุกบัญชีไม่เกิน 500,000 บาท

ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาล จะตัดสิทธิกลุ่มผู้มีเงินเดือน 50,000 บาท และ/หรือ มีเงินฝากทุกบัญชีไม่เกิน 500,000 บาท แม้ขัดแย้งกับสภาพัฒน์ และ ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเสนอให้แจกเงินเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เพื่อลดความเสี่ยงทางการคลัง

ภาคประชาชนเสนอเปลี่ยนเงินดิจิทัลเป็นสวัสดิการถ้วนหน้า

ผู้เข้าร่วมเวทีเสวนา "การเมืองไทยกับประชาธิปไตยไทย" ชี้ว่ารัฐบาลกำลังเผชิญกับดักทางการเมือง ทั้งในพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล เป็นเหตุให้ขาดความอิสระไม่เพียงแต่ปัญหาการขับเคลื่อนนโยบายแจกเงินดิจิทัล แต่การเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญปี 2560 ก็ขาดเอกภาพ จึงเสนอแนะให้ทบทวนเหตุผลแทนการยึดติดกับคำสัญญา เสนอเปลี่ยนแจกเงินดิจิทัล เป็นสวัสดิการถ้วนหน้า 

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ยังคงเป็นประเด็นร้อน ที่ถูกหยิบยกมาสะท้อนถึงภาวะการเมืองในปัจจุบัน โดย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เสนอให้รัฐบาลเปลี่ยนเป้าหมายกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะเกิดผลลัพธ์กับห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ มาแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ผ่านโครงการลงทุนหมู่บ้านหรือสวัสดิการชุมชนถ้วนหน้า

เชื่อกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญไม่อิสระ

นอกจากนโยบายดิจิทัล วอลเล็ตแล้ว การแก้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ที่ผู้ร่วมเสวนาหยิบยกมาสะท้อนถึงภาวะการเมืองไทย โดย นายสรกล อดุลยานนท์ นักเขียนและคอลัมนิสต์ เชื่อว่าเวลานี้อยู่ในภาวะไม่ปกติ และเป็นเหตุให้กระบวนการต่างๆ ไม่อิสระ แม้แต่นายกฯ เศรษฐา ที่พูดถึงนายกฯ ว่ามี 2 คน ก็เป็นสัญญาณผิดปกติ

ผู้ร่วมเสวนา "การเมืองไทยกับประชาธิปไตยไทย" เสนอแนะให้รัฐบาลเดินหน้า-ขับเคลื่อนนโยบาย ด้วยเหตุผลมากกว่าการยึดมั่นกับคำสัญญา เพราะเชื่อว่า กำลังเผชิญกับดักทางการเมือง ทั้งความขัดแย้งที่ไม่กล้าเห็นต่างภายในพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาล

อ่านข่าวเพิ่ม :

ภูมิธรรม ยัน! เดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ต

ดาวลับฟ้า สิ้น "มานพ อัศวเทพ" เจ้าของบท "พระยาสวรรคโลก"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง