สายใย "โอโม่ เขาใหญ่" vs "ยายมะลิ" กระทิงชราตาบอด

สิ่งแวดล้อม
30 ม.ค. 67
10:09
6,105
Logo Thai PBS
สายใย "โอโม่ เขาใหญ่" vs "ยายมะลิ" กระทิงชราตาบอด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ทุก ๆ วัน "ประทีป ประจันตะเสน" หรือโอโม่ เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 2 (ขญ.2 ผากระดาษ) จะขี่รถจักรยานยนต์พ่วงข้าง ไป-กลับ 2 รอบ เกี่ยวหญ้ามาให้ "ยายมะลิ" กระทิงชรา ตาบอด เขาคอยเอาใจป้อนหญ้า ตักน้ำใส่ถังให้กิน อาบน้ำให้ทุกเช้า พาเดินเล่น และพูดคุยหยอกล้อกระทิง "พอป้อนก็ไม่ลุกเลยนะยาย ตากแดดจนตัวดำหมดแล้ว"

เป็นเวลา 1 ปีแล้ว ที่โอโม่คอยดูแลกระทิงตาบอด 2 ตัว ภายใน ขญ.2 ผากระดาษ สถานที่พักฟื้นกระทิงตาบอด ซึ่งเขาเป็นเจ้าหน้าเพียงไม่กี่คนที่ยายมะลิยอมให้ดูแลใกล้ชิด ป้อนหญ้า และสัมผัสตัว อาจเพราะถูกชะตาและไว้ใจให้ดูแลในบั้นปลายชีวิต

โอโม่ เล่าเหตุการณ์วันแรกที่ได้พบกับกระทิงชรา ว่า รู้สึกสงสารมาก เพราะยายมะลิตาบอด ร่างกายซูบผอม หลังชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงแจ้งว่า พบกระทิงอยู่ในไร่ข้าวโพด เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปตรวจสอบพบว่า กระทิงตัวนี้ไม่มีท่าทีดุร้าย จึงนำเชือกคล้องไว้ และกระทิงก็ยอมเดินตามรถกระบะ

วันแรกที่เจอ ยายผอม น่าสงสารมาก ตาบอด ไม่รู้จะเอาอะไรให้กินถึงจะถูกใจ ต้องศึกษากัน พาเดินและคอยดูว่าเขาชอบกินอะไร ก็จะหามาให้กินเรื่อย ๆ บางครั้งเขาจะส่งเสียงผ่านจมูก ตอบรับสิ่งที่เราคุยกับเขา

เมื่อมาถึง ขญ.2 ผากระดาษ ทุกคนพยายามนำหญ้า อาหาร น้ำ มาให้กระทิงกิน แต่ก็ไม่ตอบรับ กระทั่งโอโม่เดินเข้าไปหาและป้อนหญ้าให้ยายมะลิกินสำเร็จ จากนั้นจึงกลายเป็นพี่เลี้ยงเบอร์ 1 ทั้งคู่พยายามศึกษานิสัยใจคอกัน ซึ่งโอโม่เล่าโมเม้นต์น่ารักของยายมะลิ ว่า แม้ยายมะลิจะมองไม่เห็น แต่ก็ชอบอยู่ใกล้ ๆ ตอนพาไปเดินเล่นก็จะต้องเดินรอกัน ไม่ทิ้งระยะห่างเกินไป เพราะยายมะลิจะหยุดเดินทันที สุดท้ายต้องวกกลับไปรับและเดินไปพร้อม ๆ กัน หรือก่อนจะไปเกี่ยวหญ้า ก็ต้องบอกให้ยายมะลิอุ่นใจ ว่า ไปไม่นาน

รู้สึกว่ายายเป็นเหมือนญาติ เหมือนคนในครอบครัว 1 ปีแล้วที่ไม่ได้กลับบ้านต่างจังหวัด กลัวยายไม่มีอะไรกิน เพราะต้องมีหญ้าให้กินตอนกลางวัน-กลางคืน แต่กระทิงป่ามักจะลุกขึ้นกินเวลากลางคืน

โอโม่ เล่าว่า บางครั้งถ้าไม่ได้ยินเสียงเขา ยายมะลิจะเดินตามหา เคยสร้างวีรกรรมวัยเก๋าทำเชือกหลุด และเดินไปหาตนเองถึงเปลในบ้านพัก ซึ่งระยะเวลา 1 ปี สร้างความผูกพันเหมือนเป็นคนในครอบครัว ดูแลยามเจ็บป่วยเมื่อครั้งยายมะลิถูกกระทิงหนุ่มทำร้ายจนเป็นแผลบริเวณทวารหนัก ต้องรักษาและล้างแผลนาน 6 เดือน จนกลับมาขับถ่ายได้ปกติ และแข็งแรงขึ้นตามวัยกระทิงชรา 25 ปี

เรื่องราวของ "ยายมะลิ" ผ่านกาลเวลามานับ 25 ปี "บดินทร์ จันทศรีคำ" หรือลุงหมู ประธานชมรมคนรักสัตว์ป่า สันนิษฐานว่า เป็นกระทิงตัวเดียวกับ "มะลิ" แม่ของทองแดง และทองดี กระทิงมีชื่อในเขาแผงม้า เพราะตอนพบไปช่วยที่ไร่ กระทิงตาบอดตัวนี้ไม่ได้วิ่งหนี หรือหวาดระแวงคน อีกทั้งมีลักษณะเด่นเขาโค้งเป็นรูปหัวใจเช่นเดียวกัน

บดินทร์ เล่าย้อนไปช่วงปี 2550 กระทิงมะลิ ถูกหมาในไล่กัดมาจากพื้นที่ป่าเขาใหญ่ และไปแอบอยู่ใกล้เขต อบต.หมูสี ชาวบ้านพบเห็นจึงนำมามอบให้เจ้าหน้าที่ และนำมาอนุบาลไว้ที่ ขญ.2 ผากระดาษ จึงมีความคุ้นเคยกับคน กระทั่งแม่มะลิอายุ 9-10 ปี มีกระทิงหนุ่มเข้ามาติด จนแม่มะลิตั้งท้องและคลอดลูกตัวแรก จากนั้นได้ตามกระทิงหนุ่มเข้าป่า

บดินทร์ จันทศรีคำ

บดินทร์ จันทศรีคำ

บดินทร์ จันทศรีคำ

หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เคยมาเยี่ยมลูกกระทิงทั้ง 2 ตัว พร้อมตั้งชื่อให้ โดยตัวแรกชื่อว่า "ทองแดง" และในอีก 4 ปีต่อมา แม่มะลิตั้งท้องและกลับมาคลอดลูกที่นี่อีกครั้ง ชื่อว่า "ทองดี" เป็นตัวผู้ทั้งคู่ จากนั้นแม่กระทิงได้ตามหนุ่มเข้าป่าและหายไปอย่างไร้ร่องรอย เช่นเดียวกับทองแดงที่เข้าไปอยู่อาศัยและสร้างครอบครัวในป่า ส่วนทองดียังเดินไปมาจาก ขญ.2 ผากระดาษ ไปจุดสกัดเขาแผงม้า

บดินทร์ เชื่อว่า การกลับมาของแม่มะลิในช่วงบั้นปลายชีวิต เพราะอาจรู้ตัวว่าอายุมาก ตาบอดทั้งสองข้าง แต่จมูกยังทำงานได้ดี เหมือนกลับมาเป็นเด็กอีกครั้ง และต้องการให้ที่นี่เป็นบ้านหลังสุดท้ายของชีวิต

จะดูแลเขาไปจนถึงนาทีสุดท้ายของชีวิต

ขณะที่ สัตวแพทย์หญิงชนัญญา กาญจนสาขา อัปเดตสุขภาพของยายมะลิ ว่า ยายมะลิสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ขึ้น ล่าสุดไปตรวจสุขภาพและให้ยาถ่ายพยาธิประจำปี แต่กังวลเรื่องโภชนาการ เพราะช่วงนี้หญ้าแห้งและมีโปรตีนไม่เพียงพอ จึงเสริมด้วยอาหารข้น และให้วิตามินบำรุงร่างกาย แต่ยายมะลิกลัวหมอ เมื่อได้ยินเสียงจะฮึดฮัด หมุนตัวหนี กลัวเข็ม อาจเพราะเคยถูกวางยาซึม เย็บบาดแผลถูกกระทิงหนุ่มทำร้าย จนกล้ามเนื้อข้างรูทวารทะลุถึงลำไส้ใหญ่ ขณะนี้หายดีแล้วและกลับมาขับถ่ายได้ปกติ ส่วน "พี่เดี่ยว" กระทิงตัวผู้ตาบอดอีก 1 ตัว ด้านข้างลำตัวยังมีร่องรอยบาดแผลจากการถูกรถชน ทำให้ไม่ไว้ใจคน และนิสัยค่อนข้างดุ ได้รับการดูแลภายในคอกล้อมรั้วไม้

พี่เดี่ยว กระทิงตาบอด

พี่เดี่ยว กระทิงตาบอด

พี่เดี่ยว กระทิงตาบอด

เมื่อ "กระทิงชรา-ตาบอด" ไม่สามารถดำรงชีวิตตามธรรมชาติได้ ขญ.2 ผากระดาษ จึงกลายเป็นศูนย์พักพิงให้สัตว์ป่าเหล่านี้มีความสุขในช่วงบั้นปลายของชีวิต


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"หมอล็อต" ชี้ "แมลงวันตา" ทำกระทิงตาบอดปล่อยแบคทีเรียก่อโรค 

ช่วย "กระทิงตาบอด" ย้ายไปอยู่กับ "ยายมะลิ" ที่ผากระดาษ 

5 ชั่วโมง! ช่วย "ชบาแก้ว" กระทิงตาบอดจมเลน อาการอ่อนเพลีย 

บั้นปลายชีวิตที่ผากระดาษ "ยายมะลิ" กระทิงชรา-ตาบอด 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง