ความคืบหน้ากรณีที่ประชุมแพทยสภา ประชุมครั้งที่ 5/2568 ประจำเดือนพฤษภาคม โดยมีวาระสำคัญ คือ การพิจารณาคดีจริยธรรมของแพทย์ที่เป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ในกรณีที่มีการกล่าวโทษแพทย์ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์และโรงพยาบาลตำรวจ ผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม ปม "ทักษิณ ชินวัตร" รักษาตัวชั้น 14 รพ.ตำรวจ

วันนี้ (8 พ.ค.2568) ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา อุปนายกแพทยสภาคนที่ 1 ในฐานะหนึ่งในคณะกรรมการ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการแพทยสภา มีมติลงโทษแพทย์ 3 คน โดยเป็นการว่ากล่าวตักเตือน 1 คน ในกรณีประกอบวิชาชีพและเวชกรรมที่ไม่ได้มาตรฐาน เกี่ยวกับการออกใบส่งตัว และพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม 2 คน ในกรณีให้ข้อมูลหรือเอกสารทางการแพทย์อันไม่ตรงกับความเป็นจริง
"ขณะนี้ข้อมูลที่ได้รับ พบว่าไม่ได้มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนว่ามีภาวะวิกฤตเกิดขึ้น ซึ่งการพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพฯ ถือเป็นการลงโทษที่รุนแรงกับแพทย์ทุกท่านอยู่แล้ว ถือเป็นความผิดรุนแรง"

ทั้งนี้ มติของที่ประชุมคณะกรรมการแพทยสภาในวันนี้ยัง ไม่ถือเป็นคำสั่งที่สิ้นสุด หรือสามารถดำเนินการได้ในทันที. แพทยสภาจะต้องนำเสนอมติดังกล่าวต่อสภานายกพิเศษ คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอความเห็นชอบก่อนดำเนินการตามมติดังกล่าว ซึ่งเป็นขั้นตอนตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ต่อไป ส่วนการพักใช้ใบอนุญาตนานเท่าใดนั้นยังไม่สามารถตอบได้ ซึ่งระยะเวลาพักใช้ฯ ต้องรอความเห็นชอบจาก รมว.สาธารณสุข

การพักใช้ใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525
- เป็นการลงโทษทางวินัย: การพักใช้ใบอนุญาตเป็นคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการแพทยสภาที่เกิดขึ้นหลังจากกระบวนการสอบสวนการประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม
- มีกำหนดระยะเวลา: การพักใช้ใบอนุญาตจะมีกำหนดเวลาตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร แต่ต้องไม่เกิน 2 ปี
- ผู้ถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตไม่ถือเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม: เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตถือว่า มิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ บุคคลนั้นไม่สามารถประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้โดยชอบด้วยกฎหมายในช่วงระยะเวลาที่ถูกพักใช้ใบอนุญาต
- การวินิจฉัยชี้ขาดต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข: มติของคณะกรรมการแพทยสภาในเรื่องการพักใช้ใบอนุญาต ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภานายกพิเศษ คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก่อนจึงจะดำเนินการตามมตินั้นได้
- กระบวนการหลังจากมติของคณะกรรมการแพทยสภา: นายกแพทยสภาจะเสนอมติต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีมีอำนาจยับยั้งมตินั้นได้ หากไม่ยับยั้งภายใน 15 วัน จะถือว่าเห็นชอบ หากรัฐมนตรียับยั้ง มติจะกลับมาที่คณะกรรมการแพทยสภาเพื่อพิจารณาอีกครั้ง และหากยืนยันมติด้วยเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของกรรมการทั้งคณะ ก็ให้ดำเนินการตามมตินั้นได้
อ่านข่าว : ศาลฎีกาฯ นัดไต่สวน "ทักษิณ" 13 มิ.ย.ปมรักษาตัวชั้น 14 ตีตกคำร้อง "ชาญชัย"