เปิดเรื่องราวการ “เกณฑ์ทหาร” จากทั่วโลก


Insight

2 เม.ย. 67

สันทัด โพธิสา

Logo Thai PBS
เปิดเรื่องราวการ “เกณฑ์ทหาร” จากทั่วโลก

เมษายนของทุกปี นอกจากเป็นฤดูร้อนของเมืองไทย ยังเป็น “ฤดูกาลเกณฑ์ทหาร” ของพลเมืองชายสัญชาติไทยอีกด้วย แต่ไม่ใช่เพียงประเทศไทยที่มีการเกณฑ์ทหาร ในต่างประเทศก็มีการเกณฑ์ รวมถึงมีรูปแบบและเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป 

Thai PBS ชวนไปทำความรู้จักการเกณฑ์ทหาร พร้อมเรื่องราวน่ารู้ของการเกณฑ์ทหารจากทั่วโลก มาบอกกัน

“เกณฑ์ทหาร” คืออะไร ?

การเกณฑ์ทหาร คือ การรับสมัครบุคคลโดยบังคับเพื่อเข้ารับราชการทหาร การเกณฑ์ทหารมีมาแต่โบราณ กระทั่งปัจจุบันได้กลายเป็นเรื่องพื้นฐานของกองทัพในหลายประเทศ แม้จะไม่ได้อยู่ในช่วงสงคราม แต่การรับสมัครเข้ารับราชการทหาร ยังคงมีความสำคัญ ทั้งนี้เพื่อเป็นการฝึกฝนผู้เข้ารับราชการทหาร ให้มีระเบียบ วินัย รวมทั้งยังเป็นการฝึกหัดวิชาชีพ เพิ่มพูนความรู้ในด้านต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ ทั้งต่อตนเอง และกองทัพ

“เกณฑ์ทหาร” ในประเทศไทย มีกฎระเบียบอย่างไร ?

ตามกฎหมาย พ.ร.บ. รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 กำหนดให้ชายไทยต้องเข้ารับราชการทหารทุกคน โดยเมื่อมีอายุย่างเข้า 18 ปี (17 ปีบริบูรณ์) ให้ไปแสดงตนเพื่อลงบัญชีทหารกองเกิน ณ อำเภอท้องที่ที่เป็นภูมิลำเนาทหารของตนเอง 

จากนั้นเมื่อมีอายุย่างเข้า 21 ปี (20 ปีบริบูรณ์) ต้องไปแสดงตัว เพื่อรับหมายเกณฑ์ที่อำเภอที่ที่เป็นภูมิลำเนาทหารของตน เมื่อรับหมายเกณฑ์แล้ว จะต้องไปรับการตรวจเลือก (เกณฑ์) ในวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมายเกณฑ์ 

การเกณฑ์ทหารในประเทศไทย

อัตราการรับราชการทหารกองประจำการของไทย กำหนดระยะเวลาจำนวน 2 ปี และมีข้อยกเว้นและผ่อนผันสำหรับ ผู้ที่เรียนวิชารักษาดินแดน (ร.ด.) หรือผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับต่าง ๆ ซึ่งกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติรับราชการทหารและกฎกระทรวง

“หลักการเกณฑ์ทหาร” ทั่วโลก เป็นอย่างไร ?

  • ประเทศเกาหลีเหนือ ผู้ชายมีระยะเวลาในการเกณฑ์ทหารกว่า 10 ปี และเปิดรับผู้หญิงเข้ารับราชการทหารตั้งแต่อายุ 18 – 23 ปี ส่งผลให้เกาหลีเหนือ มีขนาดกองทัพที่ใหญ่แห่งหนึ่งของโลก 
  • ประเทศเกาหลีใต้ ชายชาวเกาหลีใต้อายุ 18 ปี ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร โดยสามารถผ่อนผันได้จนถึงอายุ 28 ปี ส่วนระยะเวลาการรับราชการทหาร หากสังกัดกองทัพบกกับนาวิกโยธิน 18 เดือน กองทัพเรือ 20 เดือน กองทัพอากาศ 21 เดือน
  • ประเทศอิสราเอล มีการเกณฑ์ทหารเป็นภาคบังคับทั้งชายและหญิง โดยทหารหญิงสามารถรับตำแหน่ง และปฏิบัติหน้าที่เทียบเท่ากับทหารชาย 

  • ประเทศนอร์เวย์ ชายอายุตั้งแต่ 19-44 ปี จะต้องสมัครเป็นทหาร ต่อมาใน 2559 รัฐสภานอร์เวย์ได้ผ่านร่างกฎหมาย อนุญาตให้ผู้หญิงสามารถเข้ารับการฝึกทหารได้ โดยกฎหมายกำหนดไว้ว่าจะต้องมีอายุตั้งแต่ 19-44 ปีเช่นกัน
  • ประเทศออสเตรีย ชายทุกคนต้องรับราชการทหาร โดยจะต้องเป็นทหาร 6 เดือน และเลือกทำงานบริการสาธารณะในหน่วยงานรัฐอีก 9 เดือน
  • ประเทศฟินแลนด์ ผู้ชายต้องรับใช้ชาติ ระยะเวลา 165 – 347 วัน ขึ้นอยู่กับตำแหน่งทางทหาร หรือสามารถเลือกทำงานบริการสาธารณะ 347 วันแทนได้
  • ประเทศเดนมาร์ก ผู้ชายทุกคนต้องเป็นทหาร มีเวลาตั้งแต่ 4 – 12 เดือน ขึ้นอยู่กับหน่วยงาน  
  • ประเทศกรีซ ผู้ชายต้องเข้ารับราชการทหารทุกคน หากเลือกเป็นทหารบกใช้เวลา 9 เดือน เป็นทหารเรือ 12 เดือน เป็นทหารอากาศ หรือเลือกทำงานบริการสาธารณะ 12 เดือน

เหลียวดู “ประเทศเพื่อนบ้าน” มีหลักเกณฑ์ทหารอย่างไร ?

  • ประเทศเวียดนาม ผู้ชายอายุ 18 – 27 ปี ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร โดยมีระยะเวลารับราชการทหารทั้งสิ้น 2 ปี 
  • ประเทศสิงคโปร์ ผู้ชายอายุ 18 ปี ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร เป็นเวลา 2 ปี โดยทุกคนต้องเข้ารับการฝึกทหารขั้นพื้นฐาน 
  • สปป.ลาว ผู้ชายอายุ 18 ปี ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร เป็นเวลา 18 เดือน 
  • ประเทศเมียนมา ชายที่มีอายุตั้งแต่ 18-35 ปี และหญิงที่มีอายุตั้งแต่ 18-27 ปี ต้องเข้ารับราชการทหารเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี และสามารถขยายระยะเวลาประจำการได้สูงสุดถึง 5 ปี

ประเทศที่ไม่มีการเกณฑ์ทหาร มีแห่งไหนบ้าง ?

ประเทศที่ไม่มีการเกณฑ์ทหาร ส่วนใหญ่ถูกยกเลิกไปจากเมื่อครั้งอดีต อาทิ ออสเตรเลีย ยกเลิกไปในปี 1972 เบลเยี่ยม ยุติการเกณฑ์ทหารไปในปี 1994 บัลแกเรียและโครเอเชีย ยกเลิกในปี 2008 ฝรั่งเศสและเยอรมนี ยกเลิกในปี 2001

นอกจากนี้ยังมีประเทศในโซนยุโรปอีกหลายประเทศที่ไม่มีการเกณ์ทหาร อาทิ สเปน, เนเธอร์แลนด์, มอลตา, โปแลนด์, โรมาเนีย, ฮังการี รวมไปถึงประเทศมหาอำนาจอย่าง สหรัฐอเมริกา, อินเดีย, จีน, ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร ต่างก็ไม่มีการเกณฑ์ทหารเช่นกัน 

ประเทศในทวีปแอฟริกา อาทิ แอฟริกาใต้, รวันดา, ตองกา ไม่มีการเกณฑ์ทหาร หรือในแถบเอเชีย อาทิ จอร์แดน, บังคลาเทศ, มัลดีฟส์, เลบานอน, ซาอุดิอาระเบีย, กาตาร์, ภูฏาน รวมถึงประเทศย่านอาเซียน ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และบรูไน ต่างก็ไม่มีการเกณฑ์ทหารทั้งสิ้น

การเกณฑ์ทหาร อาจเป็นเพียงกรรมวิธีหนึ่งในการได้มาซึ่ง “กำลังพล” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันดินแดนหรือประเทศ เหนือสิ่งอื่นใด คือการสร้างชาติให้เป็นปึกแผ่น มีเสถียรภาพในทุกภาคส่วน ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่จำเป็นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน...

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

-เกณฑ์ทหาร 2567 เช็กวัน รายละเอียด ขั้นตอนการตรวจเลือกทหาร

-“ถูกจับกี่ครั้ง เสียเงินเท่าไร ก็ต้องมาไทยให้ได้” เมียนมาลักลอบเข้าเมือง ชะตากรรมที่เลือกไม่ได้

-"สุทิน" ตรวจเกณฑ์ทหารวันแรก ย้ำ "โปร่งใส" ขออย่าด้อยค่าการเป็นทหาร

-ยอดเกณฑ์ทหารปี 67 จำนวน 8.5 หมื่น เหลือจับใบแดงใบดำ 4 หมื่น

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เกณฑ์ทหารเกณฑ์ทหารทั่วโลกประเทศที่ไม่มีการเกณฑ์ทหาร
สันทัด โพธิสา
ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน

บทความ NOW แนะนำ