“ยาน LRO” สามารถจับภาพ “ยานสำรวจดวงจันทร์” ของ “เกาหลีใต้” ในวงโคจรได้


Logo Thai PBS
“ยาน LRO” สามารถจับภาพ “ยานสำรวจดวงจันทร์” ของ “เกาหลีใต้” ในวงโคจรได้

ยาน Lunar Reconnaissance Orbiter (LRO) ของ NASA จับภาพ Danuri ยานสำรวจดวงจันทร์ของเกาหลีใต้ระหว่างที่อยู่บนวงโคจรของดวงจันทร์ได้ ซึ่งนี่นับว่าเป็นอีกครั้งที่ยานอวกาศถ่ายภาพกันเองบนวงโคจร

ภาพกราฟิกยาน Danuri

ยาน Lunar Reconnaissance Orbiter ยานสำรวจดวงจันทร์อายุ 15 ปีสามารถจับภาพยานสำรวจดวงจันทร์ Danuri ยานอวกาศสัญชาติเกาหลีใต้ในวงโคจรเหนือดวงจันทร์ได้ในระหว่างวันที่ 5 และ 6 มีนาคม 2024 เนื่องจากยานอวกาศทั้งสองเดินทางในวงโคจรที่เกือบจะขนานกัน ตำแหน่งที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่ระยะห่างประมาณ 4 กิโลเมตร ซึ่งการพบกันในครั้งนี้ยานทั้งสองลำนั้นมีทิศการเคลื่อนที่ที่สวนทางกัน ทำให้ความเร็วสัมพัทธ์ของทั้งสองอยู่ที่ราว 1,500 กิโลเมตรต่อชั่วโมง การถ่ายภาพยานอวกาศในวงโคจรในครั้งนี้จึงถือว่าค่อนข้างยาก

ภาพจำลองทิศทางและท่าทางของยาน LRO จากภาพถ่ายของกล้องยาน Danuri

ก่อนหน้านี้ ยาน Danuri เคยถ่ายภาพยาน LRO ในวงโคจรได้เมื่อช่วงเดือนเมษายน 2023 มาก่อน ในครั้งนั้น ระยะห่างของ LRO กับ Danuri อยู่ที่ 18 กิโลเมตร และความเร็วสัมพัทธ์อยู่ที่ 11,447 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ภาพที่ออกมาเป็นยาน LRO กำลังเคลื่อนที่สวนกันเป็นแถบยาว เนื่องจากตัวกล้องถ่ายภาพไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อถ่ายภาพวัตถุที่มีความเร็วสูง ซึ่งเมื่อนำภาพมาเทียบกับตัวทิศทางและท่าทางของยานอวกาศจริงจะเห็นว่ายานอวกาศอยู่ในท่าทางที่ตัวแผงโซลาร์เซลล์หันขนานกับพื้นของดวงจันทร์และจานรับสัญญาณเข้าหาตัวกล้องของ Danuri

ภาพถ่ายยาน Danuri จากยาน LRO ซึ่งปรากฏเป็นขีดยาวกลางภาพทั้งสอง เนื่องจากยานทั้งสองมีความเร็วสูงเกินกว่าที่กล้องจะสามารถบันทึกได้ ภาพนี้ยาน Danuri ห่างออกไปเพียง 4 กิโลเมตรเท่านั้น

ในครั้งนี้ยาน Lunar Reconnaissance Orbiter สามารถจับภาพตัวยาน Danuri ได้หลายภาพก่อนวงโคจรของทั้งสองจะคลาดกัน เนื่องจากความเร็วสัมพัทธ์ของทั้งสองนั้นเร็วมาก เร็วกว่าที่ตัวกล้อง LROC (Lunar Reconnaissance Orbiter Camera) ถูกออกแบบมา ทางทีมงานของศูนย์การบินอวกาศก็อดดาร์ดของ NASA ในเมืองกรีนเบลต์ รัฐแมริแลนด์ จึงจำเป็นต้องใช้จังหวะเวลาที่ดีเยี่ยมในการชี้ LROC ไปยังตำแหน่งที่ถูกต้องเพื่อถ่ายภาพการปรากฏตัวของยาน Danuri ด้วยกล้อง ซึ่งทุกอย่างต้องเตรียมการก่อนหน้าเพราะว่ายานอวกาศสองลำเคลื่อนที่ตัดกัน มีระยะเวลาที่จะสามารถมองเห็นได้ด้วยกันเพียงเสี้ยววินาที

LRO take Danuri

ภาพถ่ายของยาน Danuri เมื่อปรากฏออกมานั้นเป็นแถบยาวเหมือนกับที่ยาน Danuri ถ่ายยาน LRO เช่นกัน ซึ่งถึงแม้ทีมของศูนย์การบินอวกาศก็อดดาร์ดจะเปิดชัตเตอร์เพื่อรับภาพถ่ายในช่วงเวลาที่สั้นมากแค่ 0.338 มิลลิวินาที แต่ภาพของยาน Danuri ที่ปรากฏออกมายังเป็นแถบยาวที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวจริงของมัน 10 เท่า

ยาน Danuri เป็นยานสำรวจดวงจันทร์ลำแรกของเกาหลีใต้ ตัวยาน Danuri ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศตั้งแต่ 4 สิงหาคม 2022 ด้วยจรวด Falcon 9 เป้าหมายของ Danuri คือการสำรวจพื้นผิวของดวงจันทร์เพื่อตามหาน้ำแข็งบนพื้นผิวและแร่ธาตุหายาก เช่น ยูเรเนียม ฮีเลียม-3 ซิลิคอน และอะลูมิเนียม เพื่อทำแผนที่พื้นผิวของดวงจันทร์สำหรับการทำเหมืองแร่บนดวงจันทร์ในอนาคต อีกทั้งยาน Danuri ยังมีหน้าที่ในการสาธิตเทคโนโลยีอวกาศของเกาหลีใต้ หนึ่งในการทดสอบคือการส่งสัญญาณข้อมูลในรูปแบบอินเทอร์เน็ตไปกลับระหว่างยาน Danuri กับพื้นโลก ซึ่งยาน Danuri ประสบความสำเร็จในการส่งข้อมูลภาพถ่ายของดวงจันทร์ที่ตัวยานถ่ายเอาไว้ได้กลับมายังพื้นโลกด้วยโปรโตคอลอินเทอร์เน็ตอวกาศพร้อมกับวิดีโอที่ถูกจัดเตรียมไว้หลายไฟล์ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเพลงไดนาไมต์ ของวง BTS วง K-Pop ชื่อดังของเกาหลีใต้

เรียบเรียงโดย : จิรสิน อัศวกุล
พิสูจน์อักษร : ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

ที่มาข้อมูล: space, NASA

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ยาน LROLROLunar Reconnaissance Orbiterยานสำรวจดวงจันทร์ยานสำรวจดวงจันทร์DanuriอวกาศThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - Astronomy
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ