เรื่องน่ารู้ รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์


Insight

4 เม.ย. 66

สันทัด โพธิสา

Logo Thai PBS
เรื่องน่ารู้ รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์

“4 เมษายนของทุกปี ได้รับการยกให้เป็น วันภาพยนตร์แห่งชาติ”


และหากให้นึกถึงงานประกาศรางวัลภาพยนตร์ไทย หนึ่งในงานที่ผู้คนให้ความสนใจ และอยู่คู่กับวงการบันเทิงไทยมายาวนาน นั่นคือ “งานประกาศรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์” ถูกจัดมาแล้วกว่า 30 ปี 

แม้ว่าล่าสุด จะมีเรื่องราวการขอสละสิทธิการได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลจากบรรดาผู้กำกับฯ และทีมงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นการแสดงออกถึงเงื่อนไขในการเข้าชิงรางวัลสุพรรณหงส์ ที่ส่งผลให้ภาพยนตร์รายเล็กไม่ได้เข้าชิงรางวัล 

ต่อมาสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติได้ออกมาชี้แจง พร้อมปรับเกณฑ์การคัดเลือกผลงานภาพยนตร์ที่เข้าชิงรางวัลใหม่ เพื่อให้มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น จึงทำให้กระแสการคัดค้านเป็นไปในทางที่ดีขึ้น 

แต่เหนือสิ่งอื่นใด รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติ และได้รับการยอมรับในวงกว้าง ไทยพีบีเอสจึงขอนำเรื่องราวอันน่ารู้ นับจากอดีตสู่ปัจจุบันของรางวัลอันทรงเกียรตินี้ มาให้ทราบกัน

ย้อนเวลาชื่องาน..จากสุพรรณหงส์ทองคำ สู่งานภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์

ก่อนที่จะมาใช้ชื่อรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ แต่เดิมรางวัลนี้มีชื่อเรียกในวงการบันเทิงไทยว่า “รางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ” ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2521 โดยเป็นการร่วมมือกันของสมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ไทย ร่วมกับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย สมาคมนักประชาสัมพันธ์ และองค์กรอื่น ๆ ในแวดวงบันเทิงและสื่อสาร ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อมอบรางวัลอันทรงเกียรตินี้ให้กับบุคลากรในแวดวงหนังไทย

การประกาศรางวัลสุพรรณหงส์ทองคำจัดติดต่อกันมาอีกหลายครั้ง จนกระทั่งในปี 2531 งานได้ถูกเว้นว่างการจัดลงไป จากนั้นในปี 2535 งานได้กลับมาจัดขึ้นใหม่อีกครั้ง และเปลี่ยนเป็นชื่อ “งานภาพยนตร์แห่งชาติ” โดยรางวัลเป็นสัญลักษณ์ "ทางช้างเผือกสู่ดวงดาว" มีความหมายถึง บุคคลที่สร้างผลงานภาพยนตร์ไทยยอดเยี่ยม ได้รับการยกย่องเป็นดาวดวงเด่นของปี

แต่สัญลักษณ์ “ทางช้างเผือกสู่ดวงดาว” ถูกเปลี่ยนอีกครั้งในช่วงปี 2542 โดยกลับมาใช้สัญลักษณ์ “สุพรรณหงส์” และต่อมาในปี 2545 ชื่องานได้ปรับเปลี่ยนอีกครั้ง เป็น “รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์” และใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน

รางวัล “สุพรรณหงส์” สัญลักษณ์อันทรงเกียรติ

หลังจากหยุดจัดงานไปในช่วงปี 2531 ก่อนจะกลับมาจัดงานอีกครั้ง พร้อมชื่อใหม่ “รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ” ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน และพระราชทานรางวัลในพิธีประกาศผลรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติเป็นครั้งแรก ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 

โดยสัญลักษณ์ของรางวัล “สุพรรณหงส์” ถือเป็นของสำคัญประจำชาติ โดยเป็นเรือพระที่นั่ง ที่มีมาแต่โบราณตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา กระทั่งปัจจุบัน ยังเป็นเรือที่ถูกใช้ในพระราชพิธีกระบวนพยุหยาตราชลมารค พร้อมกันนี้ “เรือสุพรรณหงส์” ยังเคยได้รับเหรียญรางวัลมรดกทางทะเลจากองค์การเรือโลกเมื่อปี 2535 อีกด้วย

ด้วยความสำคัญและประวัติที่มีมายาวนาน จึงส่งให้สัญลักษณ์รางวัลสุพรรณหงส์ มีความทรงเกียรติ และถือเป็นรางวัลอันทรงคุณค่า ที่ได้มอบให้กับคนทำงานในวงการภาพยนตร์ไทย

งานสุพรรณหงส์ กับผลรางวัลที่น่าจดจำ

หากย้อนกลับไปตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นงานประกาศผลรางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ ครั้งแรกที่มีการจัดงานในปี 2521 ผลรางวัลสำคัญ ๆ อาทิ รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม โดยรางวัลตกเป็นของ มนตรี เจนอักษร จากภาพยนตร์เรื่องคนภูเขา ส่วนรางวัลนักแสดงหญิงยอดเยี่ยม เป็นของ พิสมัย วิไลศักดิ์ จากเรื่องไร้เสน่หา

ภาพจากหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

จนเมื่อเปลี่ยนชื่อมาเป็นงานรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ เมื่อปี 2535 นักแสดงที่ได้รับรางวัลนักแสดงชายยอดเยี่ยม ประจำงานภาพยนตร์แห่งชาติครั้งแรก ได้แก่ สุรศักดิ์ วงษ์ไทย จากภาพยนตร์เรื่องกะโหลกบางตายช้า กะโหลกหนาตายก่อน ส่วนรางวัลนักแสดงหญิงยอดเยี่ยม ตกเป็นของ ปวีณา ชารีฟสกุล จากภาพยนตร์เรื่องเวลาในขวดแก้ว ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ ยังได้รับรางวัลสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไปอีกด้วย

สถิติรางวัลสุพรรณหงส์ที่น่าสนใจ

ผ่านมากว่า 30 ปี รางวัลสุพรรณหงส์ถูกมอบให้กับเหล่าบุคลากรวงการภาพยนตร์ไทยมากมาย โดยมีสถิติรางวัลที่น่าสนใจ อาทิ ภาพยนตร์ที่เข้าชิงรางวัลมากที่สุด “ฉลาดเกมส์โกง” ในปี 2560 และ “ร่างทรง” ในปี 2564 ทั้งสองเรื่องถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลทั้งหมด 16 รางวัล นอกจากนี้ภาพยนตร์เรื่องร่างทรง ยังเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลมากที่สุด คือ 13 รางวัล

ภาพยนตร์ที่มีความยาวมากที่สุด ที่ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ได้แก่ “ชั่วฟ้าดินสลาย” ปี 2553 ความยาว 3 ชั่วโมง 10 นาที ส่วนภาพยนตร์ที่มีความยาวสั้นที่สุด ที่ได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ได้แก่ “ตั้งวง” ในปี 2556 มีความยาว 1 ชั่วโมง 26 นาที

นักแสดงที่มีชื่อเข้าชิงรางวัลมากที่สุด ได้แก่ สรพงศ์ ชาตรี เข้าชิงในสาขานักแสดงนำและสมทบทั้งหมด 8 ครั้ง ส่วนนักแสดงชายที่เข้าชิงสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมมากที่สุด คือ ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ และ อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม จำนวน 7 ครั้งเท่ากัน ด้านนักแสดงหญิงที่มีชื่อเข้าชิงรางวัลมากที่สุด คือ จินตหรา สุขพัฒน์ เข้าชิงทั้งรางวัลนักแสดงนำหญิงและสมทบหญิง จำนวน 8 ครั้ง

ส่วนผู้กำกับการแสดงที่เข้าชิงสาขารางวัลผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยมมากที่สุด ได้แก่ เป็นเอก รัตนเรือง เข้าชิงทั้งหมด 7 ครั้ง ได้รางวัลไปหนึ่งครั้ง ด้านผู้กำกับการแสดงที่คว้ารางวัลผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยมมากที่สุด ได้แก่ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล, บัณฑิต ฤทธิ์ถกล, นนทรีย์ นิมิบุตร, จิระ มะลิกุล, ชูเกียรติ ศักดิ์วีรกุล และ คงเดช จาตุรันต์รัศมี จำนวนคนละ 2 ครั้ง

กติกาเงื่อนไข และดรามางานสุพรรณหงส์

งานประกาศรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ถูกจัดติดต่อกันมากว่า 30 ปี แม้ที่ผ่านมา จะมีการเปลี่ยนกติกา หรือเกณฑ์การพิจารณาผลงานที่เข้าชิงรางวัล อาทิ การใช้คณะกรรรมการ ตัดสินร่วมกับบุคลากรในแวดวงภาพยนตร์ไทยที่สามารถลงคะแนนผ่านเว็บไซต์ของสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ 

หรือเมื่อปี 2562 ทางสมาพันธ์ฯ มีเกณฑ์การพิจารณาผลงานที่เข้าชิงรางวัลไว้ว่า ภาพยนตร์ที่จะเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ จะต้องเป็นภาพยนตร์ที่เข้าฉายอย่างน้อย 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพ ชลบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา และนครศรีธรรมราช หรือต้องมีคนดูตั้งแต่ 50,000 คนขึ้นไป จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการ “ปิดโอกาส” ภาพยนตร์รายเล็ก หรือภาพยนตร์ทางเลือก หรือเฉพาะทาง ที่อาจไม่เข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าว จนต้อง “หมดสิทธิ” ในการเข้าร่วมชิงรางวัลไป

จากเงื่อนไขดังกล่าว ทำให้งานประกาศรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติในปี 2566 มีบุคลากรในแวดวงภาพยนตร์ไทยหลายคน ประกาศขอสละสิทธิ ตลอดจนไม่เข้าร่วมงานปีล่าสุด หากว่า “กฎกติกา” ยังคงเป็นแบบเดิม จนเกิดกระแส #แบนสุพรรณหงส์ และกลายเป็นข่าวที่ถูกพูดถึงในวงกว้าง

ต่อมา สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติได้มีการเพิ่มเติมเงื่อนไขใหม่ โดยปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ว่า… 

ภาพยนตร์ที่สามารถเข้าชิงรางวัล จะต้องเป็นภาพยนตร์ไทยที่มีความยาวไม่น้อยกว่า 60 นาที และเข้าฉายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 โดยเป็นการฉายในรูปแบบภาพยนตร์ หรือสถานที่อื่นใดที่มีการจัดฉายภาพยนตร์ในเชิงพาณิชย์ในประเทศไทย และมีระยะเวลาการฉายไม่น้อยกว่า 7 วัน

จากการประกาศเงื่อนไขใหม่ของสมาพันธ์ฯ ช่วยลดกระแสความตึงเครียดที่เกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องกฎกติกา หรือรูปแบบการพิจารณาผลงานภาพยนตร์ของงานประกาศรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ยังเป็นประเด็นที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ควรหารือและหาข้อสรุปร่วมกันอย่างชัดเจน เพื่อสร้างให้เป็นมาตรฐานแก่วงการภาพยนตร์ไทยต่อไป

านประกาศรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ประจำปี 2566 ถูกจัดขึ้นในวันที่ 4 เมษายน ซึ่งเป็นวันภาพยนตร์แห่งชาติ เชื่อว่าจะเป็น “หมุดหมาย” ที่ดีในการร่วมใจกันสร้างสรรค์ผลงาน และสร้างมาตรฐานให้กับแวดวงการหนังไทยต่อไป

ข้อมูล: สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ  www.mpc.or.th

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

งานสุพรรณหงส์รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติวันภาพยนตร์แห่งชาติ
สันทัด โพธิสา
ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน

บทความ NOW แนะนำ