รวม "ไวรัส" ต้องระวัง หลังสงกรานต์


Thai PBS Care

22 เม.ย. 67

อธิเจต มงคลโสฬศ

Logo Thai PBS
รวม "ไวรัส" ต้องระวัง หลังสงกรานต์

ผ่านไปแล้วกับสงกรานต์ เทศกาลแห่งความสนุกสนานของผู้คนกับสายน้ำ ทว่าสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือ “เชื้อไวรัส” ที่อาจติดต่อกันได้ ยิ่งกับสงกรานต์ที่มีการสาดน้ำ มีการละเล่นที่ผู้คนต้องใกล้ชิดกัน โอกาสของการแพร่เชื้อไวรัสต่าง ๆ จึงเป็นไปได้ง่าย Thai PBS รวมเอา “ไวรัส” ที่ต้องพึงระวัง หลังสาดน้ำสงกรานต์แล้ว ควรดูแลสุขภาพของตัวเองกันด้วย


“ไวรัสโควิด-19” ยังน่ากลัวหากติดเชื้อในกลุ่มเสี่ยง

หลังจาก โควิด-19 ถูกประกาศให้กลายเป็นโรคประจำถิ่น การกลับมาแพร่ระบาดตามช่วงเวลาจึงเกิดขึ้นได้ โดยในช่วงหลังสงกรานต์ เริ่มมีการพบผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น กรมควบคุมโรค แนะนำให้สังเกตอาการ ซึ่งดูคล้ายไข้หวัด แต่อย่าประมาท โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ ผูู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตสายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน หากตรวจ ATK ทราบผลว่าติดเชื้อ ควรรีบสวมใส่หน้ากากป้องกันการแพร่เชื้อและเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลโดยเร็ว

“ไวรัสโรต้า” ท้องเสียรุนแรงโดยเฉพาะในเด็ก

การสาดน้ำเล่นในช่วงสงกรานต์ หากน้ำมีการปนเปื้อนอาจก่อให้เกิดอาการท้องเสียได้ ทั้งจากแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสต่าง ๆ โดยไวรัสโรต้า (Rotavirus) ถือเป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียได้รุนแรงมากที่สุด เพราะเชื้อจะเข้าไปในระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการท้องร่วงรุนแรง ท้องเสีย มีไข้ อาเจียน หากไข้ขึ้นสูงอาจถึงขั้นมีอาการชักหรือถึงชั้นช็อกเสียชีวิตจากการขาดน้ำรุนแรงได้ 

การติดเชื้อไวรัสมักจะมีอาการรุนแรงในเด็กเล็กมากกว่าเด็กโต หากพบอาการใกล้เคียงให้หมั่นดื่มน้ำเกลือแร่บ่อย ๆ รวมทั้งงดดื่มนม (กรณีเด็กเล็กไม่ต้องหยุดนมแม่) และผลไม้ ถ้ามีอาการรุนแรงมีไข้สูง อาเจียน ควรพบแพทย์ทันที

“ไวรัสตับอักเสบเอ” โรคติดต่อที่ต้องระวัง

เชื้อไวรัสนี้ติดต่อได้ง่าย ผ่านการใช้สิ่งของร่วมกัน การกินอาหารรวมถึงน้ำที่ปนเปื้อน ไวรัสตับอักเสบเอเป็นไวรัสที่พบได้มากในไทย บางคนไม่แสดงอาการ ส่วนกรณีที่แสดงอาการ จะเกิดในช่วง 2 - 7 สัปดาห์หลังรับเชื้อ โดยจะมีอาการคล้ายไข้หวัด เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดจุกแน่นท้อง คลื่นไส้ ในกลุ่มที่มีอาการรุนแรง อาจถึงขั้นตับอักเสบเฉียบพลันได้ ดังนั้นหากสังเกตพบอาการข้างต้น ควรเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลโดยเร็ว

“ไวรัสเดงกี” ทำให้เกิดโรค “ไข้เลือดออก” 

ไข้เลือดออกมักแพร่ระบาดในช่วงฤดูฝน เนื่องจาก “ไวรัสเดงกี” ที่ก่อให้เกิดโรคไข้เลือดออกนั้น มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งมักจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นในช่วงฤดูฝน แต่ในช่วงต้นปี 2567 กลับพบตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมากขึ้นกว่าปีก่อนถึง 2 เท่า สาเหตุหนึ่งมาจากสภาพอากาศหรือภาวะโลกร้อน รวมถึงพายุฤดูร้อนที่เร่งให้ยุงลายเพิ่มจำนวนขึ้น

อาการที่สังเกตได้คือ มีไข้สูงเฉียบพลันเกิน 38 องศาเซลเซียส ติดต่อกัน 2 - 7 วัน คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดท้องอย่างรุนแรง หากพบอาการเหล่านี้ในคนที่อาการไม่รุนแรง สามารถรักษาตามอาการ ดื่มน้ำผลไม้หรือน้ำเกลือแร่เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ หมั่นเช็ดตัวเพื่อลดไข้เป็นระยะ อาจรับประทานยาลดไข้ แต่หากมีอาการอาเจียนมาก ปวดท้องรุนแรง ไข้ลดรวดเร็ว ตัวเย็นลงเร็วผิดดปกติ หรือไม่ปัสสาวะนานกว่า 6 ชั่วโมง ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน


“ไรโนไวรัส” ไข้หวัด โรคคุ้นเคย…ต้องระวังอาการแทรกซ้อน

ไข้หวัดอาจเป็นโรคที่หลายคนคุ้นเคย เกิดจากการติดเชื้อไวรัสบริเวณทางเดินหายใจที่แตกต่างกันไป ในแต่ละครั้งที่ร่ายกายป่วยจะสร้างภูมิคุ้มกันไวรัสเหล่านั้น ไวรัสส่วนมากจะอยู่ในกลุ่มที่ชื่อว่า ไรโนไวรัส (Rhinoviruses) เมื่อป่วยร่างกายจะมีอาการเจ็บคอ น้ำมูกไหล คัดจมูก ไอ จาม เสียงแหม มีไข้ที่อุณหภูมิต่ำประมาณ 37.5 - 38.4 องศาเซลเซียส สามารถหายได้เองโดยการรักษาตามอาการและพักผ่อนให้เพียงพอ

ข้อควรระวังในช่วงที่ป่วยคือ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะอ่อนแอลง แบคทีเรียในระบบทางเดินหายใจ อาจทำให้เกิดต่อมทอมซิลอักเสบ ไชนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอับเสบ จนไปถึงปอดอักเสบได้ หากเกิดในเด็กเล็กอาจมีอาการชักจากไข้ อาการแทรกซ้อนเหล่านี้มักเกิดในคนที่พักผ่อนไม่เพียงพอและขาดสารอาหารได้


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ตรียมรับมือ “ไข้เลือดออก” ช่วงหลังสงกรานต์
เช็กอาการโควิด ยอดป่วยเพิ่ม 7 วันเข้า รพ. 1,004 คน
เด็กป่วย 60 คนหลังเล่นสงกรานต์ปาร์ตี้โฟม คาดติดเชื้อไวรัสโรต้า


อ้างอิง
กรมควบคุมโรค
สมาคมโรคติดเชื้อในแห่งประเทศไทย
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

แท็กที่เกี่ยวข้อง

สงกรานต์ป่วยโควิด -19ไวรัสไข้หวัด
อธิเจต มงคลโสฬศ
ผู้เขียน: อธิเจต มงคลโสฬศ

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส สนใจเนื้อหาด้านสุขภาพจิต สาธารณสุข และความยั่งยืน รวมถึงประเด็นทันกระแสที่มีแง่มุมน่าสนใจซ่อนอยู่

บทความ NOW แนะนำ