กินแตงโมเกินขนาด เสี่ยงกล้ามเนื้ออ่อนแรง ปัญหาหัวใจ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังควรเลี่ยง


Logo Thai PBS
กินแตงโมเกินขนาด เสี่ยงกล้ามเนื้ออ่อนแรง ปัญหาหัวใจ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังควรเลี่ยง

งานวิจัยชี้การรับประทานแตงโมมากเกินไปเป็นอันตรายต่อชีวิต เนื่องจากได้รับโพแทสเซียมที่มากเกินไปนำมาซึ่งอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ปัญหาหัวใจ ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังควรหลีกเลี่ยง

อากาศร้อน ๆ แบบนี้ คงไม่มีอะไรดีไปกว่าผลไม้ที่ดับร้อนได้ดีอย่างแตงโม ที่ให้ความหวานและความสดชื่นในคราวเดียวกันเมื่อได้รับประทาน ทั้งนี้การรับประทานในปริมาณที่มากเกินไปอาจส่งผลเสียตามมา จากงานวิจัยพบว่าแตงโมเป็นผลไม้ที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบถึง 95% และยังมีโพแทสเซียมในปริมาณที่สูงจนอาจทำให้เป็นอันตรายต่อร่างกาย แนะนำให้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง (CKD) ควรหลีกเลี่ยง

จากการวิจัยที่ระบุในวารสาร Annals of Internal Medicine ซึ่งเป็นการตีพิมพ์ร่วมกันของ American College of Physicians และ American Heart Association ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวถึงการที่แตงโมมีปริมาณโพแทสเซียมจำนวนมาก ซึ่งอาจไม่ได้ทำให้เกิดปัญหากับคนทั่วไป แต่สำหรับคนที่มีปัญหาโรคไตเรื้อรัง (CKD) อาจจะทำให้เกิดปัญหาได้ โดยผลการวิจัยนี้ได้กล่าวถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุในประเทศสหัฐอเมริกาจำนวน 35.5 ล้านคน หรือประมาณ 14% ของประชากรทั้งหมด

โรคไตเรื้อรัง (CKD) คือ สภาวะความสามารถของไตในการกรองเลือดและกำจัดของเสียที่ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเทียบเท่าคนปกติ ซึ่งเมื่อรับประทานแตงโมในปริมาณมากเกินไปนั่นหมายถึงการรับน้ำและโพแทสเซียมที่มากเกินขนาด ส่งผลให้ไตทำงานหนักในการคัดกรอง และอาจกำจัดโพแทสเซียมส่วนเกินที่ไม่จำเป็นออกได้หมด สารที่ตกค้างในร่างกายอาจส่งผลเสียได้

โพแทสเซียมจำเป็นต่อการทำงานปกติของทุกเซลล์ มีส่วนช่วยในการควบคุมการเต้นของหัวใจ ช่วยให้กล้ามเนื้อหดตัวและเส้นประสาททำงานได้อย่างถูกต้อง และยังควบคุมระดับของเหลวภายในเซลล์ โดยระดับโพแทสเซียมในเลือดทั่วไปสำหรับผู้ใหญ่จะอยู่ระหว่าง 3.6 - 5.2 มิลลิโมลต่อลิตร ซึ่งไม่ควรต่ำหรือสูงกว่าเกณฑ์ที่ระบุ หากมีระดับที่สูงมากเกินไปประมาณ 6.5 - 7 มิลลิโมลต่อลิตรอาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ รวมถึงภาวะหัวใจล้มเหลว และกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือเป็นอัมพาตได้

จากการศึกษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่บริโภคแตงโมเป็นจำนวนมากเป็นเวลา 3 สัปดาห์ ถึง 2 เดือน พบว่ามีผู้ป่วย 2 รายที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจซึ่งมีสาเหตุมาจากการขับโพแทสเซียมส่วนเกินออกไม่หมด ทำให้มีโพแทสเซียมในเลือดสูง ผู้ป่วยรายแรกเข้ารับการรักษาในห้อง ICU จากการหมดสติเป็นเวลา 15 วินาที และมีอัตราการเต้นของหัวใจที่ช้ากว่าปกติ 

และรายที่ 2 มีประวัติโรคหัวใจขาดเลือด เข้ารับการรักษาที่ห้อง ICU และได้รับการกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้า ACID โดยพบว่าเกิดภาวะหัวใจห้องล่างเต้นเร็ว และภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เมื่อหัวใจห้องล่างเต้นเร็วมาก หมายถึงการหดตัวอย่างรวดเร็วในลักษณะที่ไม่เป็นระเบียบ เป็นจังหวะที่อันตรายถึงชีวิตเพราะจะทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับผู้ป่วยรายที่ 3 แม้ไม่พบปัญหาหัวใจ แต่การรับประทานแตงโมติดต่อกัน 3 สัปดาห์ทำให้ผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายรายนี้ที่ได้รับการฟอกไตอยู่เสมอ กลับพบว่าระดับโพแทสเซียมเพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงก่อนรับประทาน

จากกรณีดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ปริมาณโพแทสเซียมที่สูงอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้สำหรับผู้ที่มีความบกพร่องในการทำงานของไต จึงควรบริโภคแต่พอเหมาะ ซึ่งนอกจากแตงโมที่มีโพแทสเซียมสูงแล้ว กล้วย ลูกพรุน ลูกเกด และน้ำส้ม ก็มีโพแทสเซียมเช่นเดียวกัน

ที่มาข้อมูล: iflscience, newatlasacpjournals 
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Thai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Scienceแตงโมกินแตงโมเกินขนาดโรคไต
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ