รู้จัก "ปะการังฟอกขาว" สัญญาณอันตรายสิ่งมีชีวิตทางทะเล


Insight

23 เม.ย. 67

สันทัด โพธิสา

Logo Thai PBS
รู้จัก "ปะการังฟอกขาว" สัญญาณอันตรายสิ่งมีชีวิตทางทะเล

อุณหภูมิประเทศไทยเวลานี้ สูงติดอยู่ในโซนแดง ชนิดที่เรียกว่า อันตรายมาก ท่ามกลางความร้อนเหล่านี้ สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ล้วนได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หนึ่งในนั้นคือ “ปะการัง” ที่เกิดภาวะ “ฟอกขาว” ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทางทะเลโดยตรง

ปะการังฟอกขาว คือปรากฏการณ์แบบใด ? และเป็นสัญญาณเตือนถึงภาวะอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลอย่างไร ? Thai PBS นำเรื่องราวเหล่านี้มาบอกกัน

“ปะการังฟอกขาว” คืออะไร ?

ปะการังฟอกขาว หรือ Coral bleaching เป็นปรากฏการณ์ที่เนื้อเยื่อปะการังมีสีซีดหรือจางลง ต้นเหตุเกิดจากการสูญเสีย “สาหร่ายซูแซนเทลลี (zooxanthellae)” ซึ่งเป็นสาหร่ายที่ทำหน้าที่สังเคราะห์แสง ให้ธาตุแก่ปะการังในการดำรงชีวิต 

รวมทั้งเป็นตัวสร้างสีสันให้กับปะการัง เนื่องจากปกติปะการังไม่มีมีสี เป็นเพียงเยื่อใส ๆ การเห็นว่าปะการังมีสี เกิดจากสาหร่ายซูแซนเทลลี ที่ให้สีแดง ส้ม เขียว น้ำตาล นั่นเอง

นอกจากนี้ ปะการังและสาหร่ายซูแซนเทลลี ยังมีภาวะที่เกื้อกูลต่อกัน กล่าวคือ ปะการังเป็นที่อยู่อาศัยให้สาหร่ายซูแซนเทลลี ส่วนสาหร่ายซูแซนเทลลีจะนำของเสียจากปะการัง เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ ไนเตรท ฟอสเฟต มาใช้สร้างอาหาร ดังนั้น หากทั้งสองสิ่งแยกจากกัน ทำให้ไม่สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้

ปะการังฟอกขาว

“ปะการังฟอกขาว” เกิดจากสาเหตุใด ?

ปะการัง เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมา ภาวะโลกร้อน และสภาพอากาศแปรปรวน ส่งผลให้อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้น เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปะการังเกิดการฟอกขาวขึ้น 

นอกจากนี้ น้ำจืด รวมทั้งสารเคมี และมลพิษต่าง ๆ ที่ไหลลงสู่ทะเล ล้วนส่งผลต่อการดำรงชีวิตของปะการัง เนื่องจากปัจจัยเหล่านี้ ทำให้สาหร่ายซูแซนเทลลี อพยพออกจากเนื้อเยื่อของปะการัง เพื่อหาสภาพแวดล้อมใหม่ให้มีชีวิตรอด ทำให้ปะการังเหลือเพียงโครงสร้างหินปูนสีขาวเท่านั้น

“ปะการังฟอกขาว” ส่งผลต่อชีวิตในทะเลอย่างไร ?

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปะการัง คือแหล่งอาหารให้สัตว์ทะเลมากมาย รวมทั้งยังเป็นที่อยู่อาศัย และเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเล หาก ปะการัง ไม่สมบูรณ์ สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย เช่น มีโอกาสสูญพันธุ์ รวมถึงระบบนิเวศทางท้องทะเลที่เสียสมดุล นอกจากนี้ การสูญเสียแนวปะการังตามธรรมชาติ ยังส่งผลต่อการชะลอคลื่น และการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง จากคลื่นลมในมหาสมุทรอีกด้วย

สถานการณ์ปะการังบนโลกตอนนี้เป็นอย่างไร ?

Global Coral Reef Monitoring Network (GCRMN) ซึ่งเป็นหน่วยงานจัดทำข้อมูลปะการังระดับโลก ได้ทำรายงานที่ชื่อ Status of Coral Reefs of the World หรือรายงานสถานะของปะการังโลก โดยใช้ข้อมูลระหว่างปี 1978 – 2019 ของแหล่งปะการังกว่า 12,000 แห่ง ใน 73 ประเทศ พบว่า ระหว่างปี 2009 – 2018 ปะการังทั่วโลกหายไปประมาณ 14% คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 11,700 ตารางกิโลเมตร ส่วนพื้นที่ที่เกิดปะการังฟอกขาวจำนวนมากคือในมหาสมุทรอินเดีย พื้นที่ประเทศญี่ปุ่น และทะเลแถบหมู่เกาะแคริบเบียน 

ส่วนในประเทศไทย พบปะการังที่ยังมีชีวิตอยู่โดยภาพรวมเหลือราวร้อยละ 23 ขณะที่เกรตแบร์ริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef) ซึ่งเป็นแนวปะการังขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ในประเทศออสเตรเลีย เหลือปะการังที่มีชีวิตอยู่น้อยละ 10 เท่านั้น

ปะการังฟื้นคืนชีพได้ไหม ? และแก้ไขปัญหาปะการังฟอกขาวได้อย่างไร ?

ปะการัง สามารถดำรงชีวิตอยู่ในภาวะฟอกขาวได้ราว 2 – 3 เดือน ในช่วงเวลาดังกล่าว หากสภาพน้ำทะเลฟื้นคืนสู่สภาวะที่เหมาะสม สาหร่ายซูแซนเทลลีกลับเข้ามาอาศัยร่วมกับปะการัง ปะการังก็จะกลับมาเจริญเติบโตได้อีกครั้ง 

แต่ในมุมกลับกัน ถ้าการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในทะเลกินระยะเวลายาวนาน หรือยิ่งเสื่อมสภาพลงไป ปะการังก็จะอ่อนแอลง และตายไปในที่สุด 

สำหรับการดูแลและอนุรักษ์แนวปะการัง สามารถทำได้ทุกคน เริ่มจากคีย์เวิร์ดง่าย ๆ นั่นคือ ลดการสร้างมลภาวะ เช่น…

  • ลดการเผาสิ่งปฏิกูล
  • ลดการใช้สารเคมี
  • ลดการใช้ปุ๋ยในการเกษตร เพื่อหลีกเลี่ยงการชะล้างลงสู่ทะเล
  • ติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสีย หลีกเลี่ยงการทำลายแนวปะการัง
  • ไม่ทิ้งขยะตามชายฝั่งทะเล

ถึงเวลาที่ต้องร่วมมือกัน ทำ “โลก” ให้เย็นลง และน่าอยู่ ไม่เพียงแค่ช่วยเหลือปะการัง แต่ยังทำให้ “เราทุกคน” ได้อาศัยในบ้านใหญ่หลังนี้ ต่อไปอีกยาวนาน…

แหล่งข้อมูล
-วิกฤตการณ์ใต้ทะเล..ปะการังฟอกขาว 
-ปะการังฟอกขาว (Coral Bleaching) 
-Status of Coral Reefs of the World 2020
 

อ่านข่าวอื่น ๆ
-โลกเดือด! อุณหภูมิไทยแตะ 43 องศาฯ ปะการังฟอกขาว 
-NOAA ประกาศโลกเผชิญภาวะ "ปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่" รอบที่ 4 
-ทะเลอ่าวไทยอุ่นขึ้น 1 องศาฯ จับตา 3 เดือนเสี่ยงปะการังฟอกขาว 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ปะการังฟอกขาวปะการังโลกร้อนอุณหภูมิน้ำทะเลสูงปัญหาสภาพอากาศโลกเปลี่ยนแปลง
สันทัด โพธิสา
ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน

บทความ NOW แนะนำ