“พายุสุริยะ” ที่รุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี ทำให้ในหลายประเทศ มีโอกาสได้เห็นความงดงามของแสงเหนือ หรือ "ออโรรา" (Aurora) ล่าสุด GISTDA เผย จุดเริ่มต้นการเกิด "พายุสนามแม่เหล็กโลก" ที่รุนแรงระดับสูงสุด ระบุมีโอกาสส่งผลกระทบกับดาวเทียมที่โคจรในอวกาศ ระบบการสื่อสาร และระบบนำร่อง ซึ่งอยู่ระหว่างการติดตามผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น
ย้อนไปนับตั้งแต่มีการติดตามสภาพอวกาศ (space weather) มนุษย์กำลังเผชิญกับ “พายุสนามแม่เหล็กโลก” ที่กระทบโลกรุนแรง โดยในอดีตเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ 2402 หรือ ค.ศ. 1859 ประมาณ 165 ปีก่อน เกิดปรากฏการณ์ "Carrington event" และครั้งล่าสุด เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2546 หรือ ค.ศ. 2003 หรือประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา เหตุการณ์นี้ถูกเรียกว่า "Halloween solar storm" โดยในครั้งนี้ สร้างผลกระทบกับระบบไฟฟ้าของประเทศสวีเดนและสร้างความเสียหายให้กับหม้อแปลงไฟฟ้าในแอฟริกาใต้
สำหรับการเกิดพายุสนามแม่เหล็กโลกระดับสูงสุด ครั้งล่าสุด เมื่อช่วงค่ำคืนวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 เวลา 22.00 น. โดยประมาณตามเวลาประเทศไทย เกิดจากบริเวณที่มีการประทุ (AR 3664) ของดวงอาทิตย์ ซึ่งมีขนาดมหึมาเทียบเคียงกับ 2 ครั้งที่ผ่านมา และถึงแม้ว่าดวงอาทิตย์จะอยู่ห่างจากโลกระยะทางกว่า 150 ล้านกิโลเมตร หรือ 1 AU แม้จะดูห่างไกล แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบนดวงอาทิตย์ล้วนส่งผลต่อสภาวะอวกาศ (Space weather) และกิจกรรมของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอวกาศทั้งสิ้น

จุดเริ่มต้น “พายุสนามแม่เหล็กโลก”
ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ “GISTDA” ได้ติดตามบริเวณที่มีการปะทุ AR 3664 ของดวงอาทิตย์ที่ขยายขนาดใหญ่ขึ้นต่อเนื่อง หลายสำนักข่าวนานาชาติ ตั้งชื่อบริเวณนี้ว่า “monster sunspot region” (ตามภาพที่ 1)
บริเวณนี้มีการปะทุรุนแรงและต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นมา บริเวณนี้ได้ปล่อยเปลวสุริยะ (solar flare) ระดับความรุนแรงสูงสุด (X class) ทั้งหมด 7 ครั้ง (ตามภาพที่ 2)

การปะทุทำให้เกิดการปลดปล่อยมวลโคโรนา ส่งผลให้เกิดลมสุริยะ (Solar wind) และพายุสนามแม่เหล็กโลกตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นมา โดยปกติจากข้อมูลของ NOAA ลมสุริยะมีความเร็วประมาณ 300-500 km/s มีความเร็วสูงขึ้นสูงสุดไปที่ประมาณ 1,000 km/s และค่าสนามแม่เหล็กรวม (Bt) จากเดิมอยู่ในระดับต่ำกว่า 10 nT และเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็น 74 nT (ตามภาพที่ 3)
จากข้อมูลล่าสุดจาก NOAA ค่าสนามแม่เหล็กมีแนวโน้มลดลง แต่ความเร็วของลมสุริยะยังอยู่ในระดับสูง แต่ข้อมูลจากแบบจำลอง (ตามภาพที่ 4) คาดการณ์ว่าความรุนแรงของลมสุริยะมีแนวโน้มลดลง
พายุสนามแม่เหล็กโลก จะมีผลกระทบต่อไทยอย่างไร ?
ดร.สิทธิพร ชาญนำสิน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศของ GISTDA เผยว่า สำหรับผลกระทบจากพายุสนามแม่เหล็กโลกในประเทศไทย พบว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูล local K index ตั้งแต่วันที่ 9 -11 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 ช่วง 3 วันที่ผ่านมา ค่า local K-index ขึ้นสู่ระดับสูงสุดที่ระดับ 9 หรือ G5
โดยมีความรุนแรงขั้นสูงสุดของพายุสนามแม่เหล็กโลก (Extreme level) ในวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 ในช่วงเวลา 11.00 - 16.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ซึ่งมีโอกาสส่งผลกระทบกับดาวเทียมที่โคจรในอวกาศ ระบบการสื่อสาร และระบบนำร่อง อาจจะถูกรบกวนหรือไม่สามารถสื่อสารได้ชั่วคราว (ตามภาพที่ 5) ซึ่งอยู่ระหว่างการติดตามผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ดังกล่าว

ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 10-11 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา หลายประเทศที่อยู่ละติจูดที่สูงสามารถมองเห็นแสงเหนือหรือออโรราด้วยตาเปล่าและมีสีสันหลากหลายมากกว่าปกติ เนื่องจากพายุสนามแม่เหล็กโลกที่เกิดขึ้นในระดับสูง (ตามภาพที่ 6)
อย่างไรก็ตาม ทาง GISTDA ได้ติดตามเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และอัปเดตสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากมีข้อมูลสำคัญ จะแจ้งให้ทุกท่านทราบโดยทันที
อ้างอิง
• ผลการวิเคราะห์พายุสนามแม่เหล็กโลกประเทศไทย : ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศ (Space Technology Research Center: S-TREC) GISTDA
• Sun : https://sdo.gsfc.nasa.gov/
• Aurora : https://spaceweathergallery2.com/
• Solar flare (X-ray flux) : https://www.swpc.noaa.gov/products/goes-x-ray-flux
• Solar wind : https://www.swpc.noaa.gov/products/real-time-solar-wind และ https://www.swpc.noaa.gov/products/wsa-enlil-solar-wind-prediction
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
ที่มาข้อมูล : GISTDA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech