ภาพที่รถคันหรูขับไปท่ามกลางธรรมชาติงดงาม อาจเป็นคอนเทนต์น่าสนใจสำหรับใครหลายคน ทว่าแท้จริงแล้วหากไม่ได้รับอนุญาต การขับขี่เหล่านั้นจะถือว่าผิดกฎหมายและอาจสร้างความเสียหายได้ Thai PBS ชวนดูข้อกฎหมายเกี่ยวกับ “พื้นที่สาธารณะ” ซึ่งรวมทั้งพื้นที่สาธารณะใกล้ตัวเรา หรือสาธารณสมบัติที่เป็นทรัพยากรของประเทศด้วย มีอะไรที่คุณควรรู้บ้าง ?
กฎหมายพื้นที่สาธารณะ โทษสถานเบาจากความวุ่นวาย
การก่อความเสียหายในพื้นที่สาธารณะทั่วไป อาทิ การขับรถลงไปยังขายหาด หรือการกระทำอื่นใด ที่ทำให้เกิดความเดือดร้อน ต่อผู้อื่น มีข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา จัดอยู่ในหมวดความผิดแบบลหุโทษ เข้าข่ายผิดกฎหมายได้หลายมาตราด้วย ตัวอย่างเช่น
มาตรา 372 ผู้ใดทะเลาะกันอย่างอื้ออึงในทางสาธารณะหรือสาธารณสถาน หรือกระทำโดยประการอื่นใดให้เสียความสงบเรียบร้อยในทางสาธารณะหรือสาธารณสถาน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
มาตรา 385 ผู้ใดโดยไม่ได้รับอนุญาตอันชอบด้วยกฎหมายกีดขวางทางสาธารณะ จนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร โดยวาง หรือทอดทิ้งสิ่งของ หรือโดยกระทำด้วยประการอื่นใด ถ้าการกระทำนั้นเป็นการกระทำโดยไม่จำเป็น ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
มาตรา 387 ผู้ใดแขวน ติดตั้งหรือวางสิ่งใดไว้โดยประการที่น่าจะตกหรือพังลง ซึ่งจะเป็นเหตุอันตราย เปรอะเปื้อนหรือเดือดร้อนแก่ผู้สัญจรในทางสาธารณะ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
ยังมีการระบุความผิดจากการทำอื่น ๆ อีก ได้แก่ การพกพาอาวุธในที่สาธารณะ โดยเปิดเผยหรือไม่มีเหตุอันควร การดื่มแอลกอฮอล์หรือของมึนเมาคนเป็นเหตุก่อความวุ่นวาย การขุดหลุม วางสิ่งของขวางทางโดยไม่ได้รับอนุญาต การแขวนหรือทำการติดตั้งสิ่งที่อาจจะตกหรือพังสร้างอันตราย รวมถึงการทิ้งซากสัตว์ที่ทางสาธารณะ เหล่านี้มีโทษปรับอยู่ที่ไม่เกิน 5,000 บาทเช่นนั้น
นอกจากนี้ หากเป็นกรณีที่เกิดจากการขับรถ ยังมีโทษในส่วนของการฝ่าฝืนกฎจราจร ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 500 – 1,000 บาท
“ชายหาด” พื้นที่นี้มีกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมคุ้มครองด้วย
พ.ร.บ.การส่งเสริมบริหารการจัดการธรรมชาติชายฝั่งทะเล พ.ศ. 2558 มีการมอบอำนาจให้แต่ละจังหวัดตั้งคณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัด พิจารณาโทษและความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรชายฝั่งของแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีตั้งแต่ชายฝั่ง คลอง ทะเลสาบ ป่าชายเลน รวมถึงชายหาดด้วย
โดยมีการกำหนดข้อกฎหมายให้ผู้กระทำความเสียหาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรืออาจมีโทษมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับระดับความเสียหายที่เกิดขึ้น
กรณีพื้นที่อุทยานฯ ควรระวัง โทษสถานหนัก
กรณีเหตุเกิดในพื้นที่อุทยาน สิ่งที่เกิดขึ้นที่เกี่ยวข้องกับ “พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562” มีข้อกฎหมายตามมาตรา 19 ที่มีรายละเอียด ห้ามบุคคลใดกระทำการที่เป็นอันตรายหรือทำให้เสื่อมสภาพกับทรัพยากรธรรมชาติ มีกำหนดบทลงโทษไว้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท
นอกจากนี้ ยังมีระบุโทษให้ริบอุปกรณ์ เครื่องมือ หรือยานพาหนะที่ใช้กระทำความผิด จึงสามรถเข้ายึดรถที่ได้กระทำความผิดได้อีกด้วย
อ้างอิง
พระราชบัญญัติ จราจรทางบก (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๖๕
ประมวลกฎหมายอาญา ภาค ๓ ลหุโทษ (มาตรา ๓๖๗ - ๓๙๘)
พ.ร.บ.การส่งเสริมบริหารการจัดการธรรมชาติชายฝั่งทะเล พ.ศ. 2558
พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ปรับ 1 พัน นักท่องเที่ยวขับรถลงหาดกมลา อ้างลูกอยากถ่ายภาพทะเล
ปรับคนละ 5 พันบาท ทีมงานยูทูบเบอร์ขับรถลงหาดปากน้ำหลังสวน