เดือนมิถุนายนของทุกปี นับเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศที่เป็นสากลทั่วโลก เรียกกันว่า Pride Month ซึ่งปี 2566 นี้ ไทยก็มีการจัดกิจกรรมอย่างยิ่งใหญ่ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด สำหรับกรุงเทพฯ มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 50,000 คน
ซึ่งในห้วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองนั้น มีการสื่อสารที่เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นภายในขบวนพาเหรดและบนโลกออนไลน์ โดยตลอดช่วง 1-6 มิ.ย. 66 มีข้อความเกิดขึ้นนับหมื่นข้อความ การมีส่วนร่วมมากกว่าล้าน แฮชแท็กกลายเป็นเทรนด์ที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลกโซเชียลมีเดีย จนเกิดข้อถกเถียงว่า การนำแฮชแท็กไปใช้นั้นเป็นเพียง "การตลาด" หรือเพื่อหวังผลักดันข้อเรียกร้องของ LGBTQIA+ โดยเฉพาะกฎหมายสมรสเท่าเทียม
ไทยพีบีเอสชวนทุกคนมาสำรวจผ่าน Thai PBS Trending in Number ระหว่าง #PrideMonth กับ #สมรสเท่าเทียม โดยจากข้อความที่โพสต์ตั้งแต่ 1-6 มิ.ย. 66 กว่า 16,458 ข้อความ มีคำว่า "สมรสเท่าเทียม”" เพียง 5,009 ข้อความ หรือคิดเป็น 30.4% เท่านั้น
จากการพูดถึงบนโลกออนไลน์ในช่วง 1 - 6 มิ.ย. 66 จะเห็นได้ว่า #PrideMonth กับ #สมรสเท่าเทียม แม้จะเป็นแฮชแท็กที่เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนความหลากหลายและความเท่าเทียมทางเพศ แต่การนำไปใช้มีความแตกต่างกันทั้งในทางแง่ของปริมาณแต่ละวันและประเภทแอ็กเคานต์ที่นำไปใช้
#PrideMonth จะถูกนำไปใช้มากในช่วงวันที่ 1 - 2 มิ.ย. 66 เพื่อเป็นการต้อนรับและเฉลิมฉลองเดือนแห่งความภาคภูมิใจในความหลากหลายทางเพศ แต่ #สมรสเท่าเทียม จะถูกนำไปใช้มากในช่วงวันที่ 4 - 5 มิ.ย. 66 ซึ่งเป็นวันที่จัดกิจกรรม Bangkok Pride 2023 โดยมีขบวนรณรงค์กฎหมายสมรสเท่าเทียม และส่วนใหญ่ประเภท Account ที่ใช้ คือ Account "สื่อ" กว่า 42.6% ขณะที่ #PrideMonth มี Account "สื่อ" แค่ 13.3% นอกนั้นเป็นแอ็กเคานต์ธุรกิจอื่น ๆ เช่น โรงแรม 12.3% และห้างสรรพสินค้า 6.9% เป็นต้น
ที่มา: จัดทำข้อมูลและวิเคราะห์โดยทีมงาน Thai PBS ผ่านเครื่องมือ Zocial Eye
สำรวจความหลากหลายทางเพศ ซึ่งสะท้อนผ่านโลกซีรีส์และภาพยนตร์ในแบบ Interactive พร้อมกันได้ที่ 👉🏻 https://thevisual.thaipbs.or.th/gender-on-screen