โลกรู้จักโควิด-19 มานานกว่า 3 ปีแล้ว มีชุดความรู้เกิดขึ้นมากมายเพื่อรับมือกับโรคร้ายนี้ นับจากวันที่โรคถูกประกาศให้เป็นการระบาดใหญ่ (Pandemic) สู่การเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) ที่โรคจะเกิดขึ้นเป็นประจำเฉพาะพื้นที่ และแพร่กระจายแบบที่สามารถคาดเดาอัตราการติดเชื้อได้และมีอัตราการเสียชีวิตลดลง ไทยพีบีเอสจึงขอรวบรวมชุดความรู้เพื่อช่วยรับมือโควิด-19 ในปี 2566 นี้
1. ‘ฟ้าทะลายโจร’ กำจัดไวรัสได้ แต่ป้องกันโควิด-19 ไม่ได้!
ในช่วงแรกของการระบาดมีการส่งต่อข้อมูลการใช้ฟ้าทะลายโจรเพื่อป้องกันโควิด-19 ทำให้มีการใช้เกินจำเป็นจนเกิดผลข้างเคียง ถึงตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าฟ้าทะลายโจรสามารถป้องกันโควิด-19 ได้ แต่สามารถช่วยกำจัดไวรัส ลดไข้ ลดอาการอักเสบได้ อย่างไรก็ตาม ควรใช้อย่างระมัดระวัง
2. ทำไมควรดื่มน้ำมาก ๆ ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19
การเข้ารับวัคซีนมีส่วนสำคัญในการลดทั้งอาการป่วย การติดเชื้อรวมถึงการแพร่ระบาดของโรค การเตรียมตัวก่อนรับวัคซีนมีความสำคัญเช่นกัน นอกจากพักผ่อนให้เพียงพอแล้ว การดื่มน้ำตามปริมาณที่ร่างกายต้องการประมาณ 2-3 ลิตรต่อวันก็ช่วยให้วัคซีนทำงานได้ดีขึ้น เพราะจะช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี ดังนั้นจึงควรงดเครื่องดื่มที่ทำให้เลือดข้น เช่น ชา กาแฟ ด้วย
3. รู้จัก เข้าใจ วัคซีนโควิด-19 ทำงานอย่างไร
กลไกการทำงานของวัคซีนจะคล้ายการนำเชื้อไวรัสที่อ่อนแอกว่าเข้าสู่ร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันก็จะทำงานโดยสร้างแอนติบอดี้ที่สามารถรับมือกับไวรัสนั้น ๆ ได้ เมื่อร่างกายต้องเจอกับเชื้อไวรัสจริง ก็จะสามารถรับมือ ช่วยลดความรุนแรงของอาการป่วย ลดการติดต่อ รวมถึงลดการแพร่เชื้อได้
4. ท่านอน บรรเทาไอ-หายใจลำบาก
ผู้ป่วยโควิด-19 มักจะมีอาการไอและหายใจลำบาก ท่านอนที่ถูกต้องมีส่วนช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้ได้ ที่ผ่านมามีงานวิจัยพบว่า ท่านอนคว่ำ(โดยจัดท่าให้หายใจได้สะดวก) ช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนสู่ปอดได้ และสามารถช่วยให้ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบและไข้หวัดใหญ่มีอัตรารอดชีวิตสูงขึ้น ทั้งนี้ การนอนคว่ำเป็นเวลานานอาจทำให้เหนื่อยได้จึงควรมีการจัดท่านอนสลับให้เหมาะสม และควรหลีกเลี่ยงท่านอนหงาย
5. ป่วย ‘ลองโควิด’ ต้องทำทันที 3 ข้อฟื้นฟูปอด
หลังหายจากโควิด-19 ผู้ป่วยหลายคนต้องเผชิญกับอาการลองโควิด (Long Covid) ที่จะมีตั้งแต่อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น หรือมีการศึกษาพบว่าหลังหายจากโควิดจะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดสมองอีกด้วย การฟื้นฟูร่างกายหลังหายจากโควิด-19 จึงเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งการพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย รับประทานอาหารโดยเน้นสารอาหารในกลุ่มโปรตีน ได้แก่ เนื้อสัตว์ ไข่ เต้าหู้ กลุ่มโพรไบโอติกส์ ได้แก่ โยเกิร์ต นมเปรี้ยว และกลุ่มวิตามิน ได้แก่ ผัก ผลไม้ต่าง ๆ แต่หากยังมีอาการผิดปกติอยู่อาจปรึกษาแพทย์
6. แนะนำรับวัคซีนห่างจากเข็มสุดท้าย 3 เดือน
หลังจากช่วงเทศกาลสงกรานต์ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้น นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เผยว่า สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกมีแนวโน้มลดลง ขณะที่การให้วัคซีนนั้นเริ่มมีการปรับเป็นแบบประจำปี จึงมีข้อแนะนำให้คนไทยเข้ารับวัคซีนหลังเข็มสุดท้าย 3 เดือน เพื่อรักษาระดับภูมิคุ้มกัน
7. โควิด-19 โอมิครอนสายพันธุ์ใหม่ไม่แรงเท่าเดลตา
การระบาดระลอกล่าสุด นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยว่า โควิด-19 ที่ระบาดอยู่นี้ยังคงเป็นสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้เฝ้าระวัง 7 สายพันธุ์ด้วยกัน ได้แก่ BQ.1, BA.2.75, CH.1.1, XBB, XBB1.19.1, และ XBF ทั้งนี้สายพันธุ์ที่มีการระบาดมากที่สุดคือ XBB.1.5 ขณะที่ XBB.1.16 และ XBB.1.9.1 เริ่มพบมากขึ้น ซึ่งสายพันธุ์ดังกล่าวมีความสามารถในการหลบภูมิคุ้มกันและแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่ในส่วนของความรุนแรงนั้นจนถึงตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานว่ามีอาการร้ายแรงกว่าสายพันธุ์เดลต้า ผู้ป่วยอาจมีอาการเยื้อบุตาอักเสบ คันตา ขี้ตาเหนียว ลืมเปลือกตาไม่ขึ้น ยังคงสามารถตรวจวินิจฉัยด้วยชุดตรวจ ATK หรือ RT-PCR เหมือนกับสายพันธุ์ก่อนโดยต้องใช้เวลา 4-5 วันหลังจากติดเชื้อแล้วถึงจะแสดงผลเป็นบวก
ข้อมูลจาก
ชัวร์หรือมั่ว : กินฟ้าทะลายโจรก่อนออกจากบ้าน ป้องกันโควิด-19 ไม่ได้
คนสู้โรค : อาหารการกิน ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19
คนสู้โรค : จัดท่านอนสำหรับผู้ป่วยโควิด-19
คนสู้โรค : อาหารลดอาการ Long Covid
กรมวิทย์ฯ ชี้โควิด XBB.1.16 ไม่แรงเท่าเดลตา-ไทยพบแล้ว 27 คน
อ่านเพิ่มเติม
เทียบอาการโควิด-19 สายพันธุ์ XBB.1.5 vs XBB.1.16