เทศกาลหนังเมืองคานส์ (Cannes Film Festival) ถือเป็นหนึ่งในเทศกาลหนังที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และก็มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ได้ไปปรากฏตัวบนพรมแดงของคานส์ จนสะกดสายตาคนทั้งโลกมาแล้ว
แต่กว่าที่เทศกาลหนังเมืองคานส์จะเกิดขึ้นมาได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ย้อนกลับไปปี ค.ศ. 1938 ทางการฝรั่งเศสตัดสินใจก่อตั้งเทศกาลหนังนานาชาติของตัวเองเพื่อมา “แทนที่” เทศกาลหนังเมืองเวนิส (Venice Film Festival) – ซึ่งเป็นเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่เก่าแก่ที่สุดของโลก – เพราะในช่วงนั้น นาซีเยอรมนีและกลุ่มฟาสซิสต์อิตาเลียนมีอิทธิพลมากจนทำให้เทศกาลหนังเมืองเวนิสเป็นพื้นที่ “โฆษณาชวนเชื่อ” ของเยอรมนีและอิตาลีกลาย ๆ อีกทั้งผู้สร้างหนังจากประเทศประชาธิปไตยต่าง ๆ โดยเฉพาะอเมริกาและบริเตนใหญ่ ก็ประกาศจะไม่กลับไปเวนิสอีก ณ ตอนนั้น
จากเมือง 3 เมืองที่เป็นตัวเลือกหลัก ได้แก่ คานส์ (Cannes - หรือ ‘กาน’ ตามสำเนียงฝรั่งเศส), บียาริตส์ (Biarritz) และนีซ (Nice) สุดท้าย กลุ่มผู้สนับสนุนและผู้ประกอบการโรงแรมในคานส์ก็ดันให้ ‘เมืองคานส์’ เป็นสถานที่จัดเทศกาลหนังนานาชาติของฝรั่งเศสได้สำเร็จ
แม้เทศกาลหนังเมืองคานส์ครั้งแรกควรจะต้องเกิดขึ้นในวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 แต่การบุกเข้าโปแลนด์โดยนาซีเยอรมนีในวันเดียวกันนั้นเอง ก็ทำให้งานล่มอย่างเลี่ยงไม่ได้ จนในที่สุด เทศกาลหนังเมืองคานส์ครั้งแรกก็เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1946 และนับเป็นงานที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสนใจจนถึงทุกวันนี้
ความภาคภูมิใจของ ‘วงการหนังไทย’ ในเทศกาลหนังเมืองคานส์
ทุกปี เทศกาลหนังเมืองคานส์จะมีการแจกรางวัลให้ภาพยนตร์ที่ได้รับเลือกให้ฉายในงาน โดยมีรางวัลใหญ่ ๆ ได้แก่
- Palme d’Or (Golden Palm) หรือ ‘ปาล์มทองคำ’ ซึ่งเป็นรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในการประกวดสายหลัก (Competition) ถือเป็นรางวัลสูงสุดของเทศกาลหนังเมืองคานส์
- Grand Prix (Grand Prize) หรือ ‘รางวัลรองภาพยนตร์ชนะเลิศ’ ในการประกวดสายหลัก
- Prix de Jury (Jury Prize) หรือ ‘รางวัลภาพยนตร์ขวัญใจคณะกรรมการ’ ในการประกวดสายหลัก
- Un Certain Regard (A Certain Glace) ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้แก่หนังที่มีเอกลักษณ์เฉพาะและมีเรื่องราวที่ไม่เหมือนใคร โดยรางวัลนี้แยกออกมาจากการประกวดสายหลัก
- Grand Prix de la Semaine de la critique (Grand Prize of Critics’ Week) ซึ่งเป็นรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำงาน ‘Critics’ Week’ ที่จัดคู่ขนานไปกับเทศกาลหนังเมืองคานส์ โดยรางวัลนี้มอบให้แก่ผู้กำกับหน้าใหม่ในวงการภาพยนตร์โลก
นอกจากนี้ ในการประกวดสายหลัก ยังมีรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม (Prix de la mise en scène) รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (Prix d'interprétation masculine) รางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (Prix d'interprétation feminine) รางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Prix du scenario) อีกด้วย และบางคนอาจจเคยได้ยินชื่อรางวัล ‘Palm Dog’ (นักแสดงสุนัขยอดเยี่ยม) และ ‘Queer Palm’ (ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ LGBTQIAN+) ซึ่งเป็นรางวัลส่วนหนึ่งจากผู้สนับสนุนอิสระในเทศกาลหนังเมืองคานส์

คนทำหนังจากทั่วโลกต่างมุ่งหวังที่จะได้นำผลงานของตัวเองเข้าฉายและแข่งขันในเทศกาลหนังเมืองคานส์ และในช่วงทศวรรษที่ 2000-2010 ชื่อของผู้กำกับอิสระชาวไทย เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ก็ได้ประดับบนรางวัลต่าง ๆ จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ และสร้างชื่อเสียงให้วงการหนังไทยในระดับสากล หนังของอภิชาติพงศ์มักจะดำเนินเรื่องในเขตชนบท เกี่ยวข้องกับชีวิตของคนชายขอบผู้เผชิญกับเหตุการณ์เหนือจริงบางอย่าง พร้อมทั้งสำรวจเรื่องเพศ ศาสนา ความเหลื่อมล้ำ กับความทรงจำส่วนตัวและของชาติไปในตัว

รางวัลแรกที่อภิชาติพงศ์ได้รับคือ รางวัล Un Certain Regard จากหนังเรื่อง ‘สุดเสน่หา (Blissfully Yours)’ ในเทศกาลหนังเมืองคานส์ปี ค.ศ. 2002 ถัดมาอีก 2 ปี เขาก็คว้ารางวัล Prix de Jury ของเทศกาลหนังเมืองคานส์มาสำเร็จจาก ‘สัตว์ประหลาด (Tropical Malady)’ และในปี ค.ศ. 2010 อภิชาติพงศ์ก็คว้า Palme d’Or หรือรางวัลสูงสุดของเทศกาลหนังเมืองคานส์จาก ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives)’ ต่อมา หนังทั้ง 3 เรื่องก็ได้ขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกภาพยนตร์แห่งชาติ นอกจากนี้ หนังเรื่อง ‘รักที่ขอนแก่น (Cemetery of Splendour)’ ในฐานะ “หนังไทยขนาดยาวเรื่องสุดท้าย” ของเขา ก็ได้เข้าฉายในการประกวดสาย Un Certain Regard ในเทศกาลหนังเมืองคานส์ปี ค.ศ. 2015 อีกด้วย

หลังจาก ‘รักที่ขอนแก่น’ ก็ไม่มีหนังไทยเรื่องไหนไปประกวดในเทศกาลหนังเมืองคานส์เลย จนในปี ค.ศ. 2025 นี้ ‘ผีใช้ได้ค่ะ (A Useful Ghost)’ ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของอุ้ย-รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค ที่ว่าด้วยเรื่องตลกร้ายของหญิงสาวผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศ จนมาสิงอยู่ในเครื่องดูดฝุ่นเพื่ออยู่กับคนรักต่อไป พร้อมกับต้องพิสูจน์ให้คนเป็นว่า “ผีก็มีประโยชน์เหมือนกันนะ” ถือเป็นหนังไทยในรอบ 10 ปีที่ได้ไปคานส์ โดยจะเข้าประกวดในรางวัล Grand Prix ของงาน Semaine de la critique เพราะเข้าเกณฑ์ผลงานจากคนทำหนังหน้าใหม่นั่นเอง

ส่วนคนไทยที่ได้ร่วมเดินพรมแดงเทศกาลหนังเมืองคานส์ในฐานะ “นักแสดง” คือ หญิง-รฐา โพธิ์งาม และปู-วิทยา ปานศรีงาม ในปี ค.ศ. 2013 นั้น ทั้งรฐาและวิทยาได้ปรากฏตัวในฐานะนักแสดงร่วมของหนังอาชญากรรม-แอ็กชัน ‘Only God Forgives’ (กำกับโดย Nicolas Winding Ref) 4 ปีให้หลัง วิทยาก็ได้เยือนเทศกาลหนังเมืองคานส์อีกครั้งในฐานะนักแสดงจาก ‘A Prayer Before Dawn’ (กำกับโดย Jean-Stéphane Sauvaire) หนังดรามาที่ดัดแปลงจากเรื่องจริงของนักมวยชาวอังกฤษที่เคยถูกจำคุกในไทย

ชมพู่-ริต้า-ฟรีน-เบ็คกี้ ซูเปอร์สตาร์ไทยบนพรมแดงเทศกาลหนังเมืองคานส์
นอกจากคนในวงการหนังไทยแล้ว นักแสดงและซูเปอร์สตาร์ชาวไทยหลายคนก็เคยได้รับเชิญเข้าร่วมเทศกาลหนังเมืองคานส์ในวาระและหน้าที่ที่แตกต่างกัน คนไทยบนพรมแดงคานส์ที่หลายคนอาจนึกถึงเป็นคนแรก ๆ คือ ชมพู่-อารยา เอ ฮาร์เก็ต ที่ได้เข้าร่วมเทศกาลหนังเมืองคานส์มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2013 ในฐานะแบรนด์แอมบาสเดอร์ประจำประเทศไทยของ L'Oréal Paris ผู้สนับสนุนหลักเจ้าหนึ่งของเทศกาลหนังเมืองคานส์

ปี ค.ศ. 2019 ถือเป็นปีที่มีซูเปอร์สตาร์ไทยไปเยือนเทศกาลหนังเมืองคานส์คับคั่ง เช่น ชมพู่-อารยา, ริต้า-ศรีริต้า เจนเซ่น (ณรงค์เดช) ในฐานะแขกของ Dior Cosmetics, ซาร่า เล็กจ์ และโยเกิร์ต-ณัฐฐชาช์ บุญประชม ในฐานะตัวแทนของแบรนด์แชมเปญแบรนด์หนึ่ง และปู-ไปรยา ลุนด์เบิร์ก ที่เดินทางไปร่วมงานเป็นการส่วนตัว
ไม่กี่ปีให้หลังมานี้ นักแสดงดาวรุ่งจากไทยก็มีโอกาสไปร่วมงานแฟชั่นโชว์หรือเทศกาลระดับโลกกันมากขึ้น และเทศกาลหนังเมืองคานส์ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น เมื่อปีที่แล้ว (ค.ศ. 2024) คู่จิ้น ‘FreenBeck’ หรือ เบ็คกี้-รีเบคก้า แพทรีเซีย อาร์มสตรอง และฟรีน-สโรชา จันทร์กิมฮะ ได้ไปร่วมเทศกาลหนังเมืองคานส์ตามคำเชิญจากผู้จัดเทศกาล Red Sea International Film Festival (RSIFF) โดยสโรชาได้ร่วมวงสนทนา ‘Women in Cinema (สตรีในโลกภาพยนตร์)’ ของ RSIFF ที่คานส์ ส่วนรีเบคก้านั้นก็ร่วมงานกับผู้บริหารของ RSIFF ก่อนที่ทั้ง 2 จะปรากฏตัวบนพรมแดงคานส์ร่วมกันในการฉายหนังเรื่อง ‘Emilia Pérez’

เทศกาลหนังเมืองคานส์ครั้งที่ 78 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 13-24 พฤษภาคม ค.ศ. 2025 นี้ ก็จะมีนักแสดงและซูเปอร์สตาร์ไทยไปร่วมงานเช่นเคย และคาดว่าในปีถัด ๆ ไป จะมีคนไทยไปเฉิดฉายบนพรมแดงคานส์กันมากขึ้นอันเนื่องมาจากความโด่งดังของสื่อบันเทิงไทยในระดับโลก ทั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่น่าจับตาเป็นพิเศษในเทศกาลหนังเมืองคานส์ครั้งที่ 78 นี้คือ หนังไทยจะสร้างประวัติศาสตร์และคว้ารางวัลกลับมาเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษได้หรือไม่
อ่านบทความอื่น ๆ เกี่ยวกับ ‘อุตสาหกรรมบันเทิงไทย’ ผ่านมุมมองหลากหลายกับ Thai PBS NOW
- 'วงการหนังไทย' กับอนาคตอันสดใส (เป็นพัก ๆ ?)
- 'ซีรีส์วายไทย' ไปทางไหนต่อ ? - What's Next for Thai BL Series?
- คนไทยใครบ้าง ? ที่เคยได้รับเชิญใน 'Met Gala' งานออสการ์แห่งวงการแฟชั่น
อ้างอิง
- Backstage, Everything Filmmakers + Cinephiles Need to Know About the Cannes Film Festival
- Festival de Cannes, The History of the Festival in the Service of Cinematographic Art
ติดตามบทความและเรื่องราวทันทุกกระแสที่ Thai PBS NOW: www.thaipbs.or.th/now