กลางเดือนพฤษภาคม เข้าสู่วาระแห่งการเปิดภาคเรียน หนึ่งในเรื่องราวของเหล่านักเรียน ต้องมีเรื่องการเดินทางด้วย “รถโรงเรียน” ซึ่งจำเป็นต้องคำนึงถึง “ความปลอดภัย” เป็นลำดับแรก
Thai PBS หยิบเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับ “รถโรงเรียน” โดยเฉพาะหลักการดูแลความปลอดภัย จำเป็นต้องมีอะไรบ้าง ?
เข้าใจลักษณะของ “รถโรงเรียน”
รถโรงเรียน คือ รถที่ใช้รับ-ส่งนักเรียน ซึ่งอาจเรียกว่า รถรับส่งนักเรียน หรือรถรับจ้างรับส่งนักเรียนก็ได้ ทั้งนี้ รถโรงเรียนในประเทศไทย มีนิยามความหมาย ตามเงื่อนไขของ 3 หน่วยงาน คือ
- ประเภทที่กำหนดไว้ตามระเบียบของกระทรวงศึกษา หมายถึง รถของโรงเรียน หรือรถของบุคคล ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ว่าด้วยการขนส่งทางบก หรือกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ให้นำมาใช้รับ-ส่งนักเรียน
- ประเภทรถที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก หมายถึง รถตู้ รถสองแถว รถหกล้อ หรือรถบัส ซึ่งจดทะเบียนเป็นรถโดยสารแบบประจำทาง และโดยสารไม่ประจำทาง
- ประเภทที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ หมายถึง รถยนต์ส่วนบุคคลที่มีที่นั่งไม่เกิน 12 ที่นั่ง เช่น รถสองแถว หรือรถตู้ ที่จดทะเบียนเป็นรถส่วนบุคคล มีป้ายทะเบียนพื้นสีขาว ตัวอักษรและตัวเลขสีฟ้า
ทั้งนี้ รถโรงเรียนในประเทศไทยในปัจจุบัน มีอยู่ด้วยกัน 4 รูปแบบ ได้แก่ รถโดยสารขนาดใหญ่ หรือรถบัส, รถตู้, รถสองแถวเล็ก และรถสองแถวใหญ่
ปัญหาใหญ่ “รถโรงเรียน”
ที่ผ่านมา ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยสาเหตุของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถโรงเรียน 3 ประการ คือ
1.สภาพรถไม่ได้มาตรฐาน โดยใช้รถผิดประเภท ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์การใช้งาน รวมทั้งรถมีสภาพที่ไม่แข็งแรง นอกจากนี้ยังมีการดัดแปลงสภาพรถเพื่อให้รับเด็กนักเรียนได้มากขึ้น รวมไปถึง การขาดอุปกรณ์ป้องกันภัยที่ควรมีภายในรถ เช่น ค้อนทุบกระจกในรถตู้ หรือถังดับเพลิง กรณีหากเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดประกายไฟ
2.ปัญหาจากผู้ขับรถ มีความประมาทเลินเล่อ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น ขับรถไม่มีใบอนุญาต ขับรถเร็ว เสี่ยงอันตราย ขาดความรู้ความเข้าใจในบทบาทการขับรถรับส่งนักเรียน รวมไปถึงมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ดื่มสุรา เป็นต้น
3.ขาดระบบบริหารการจัดการรถโรงเรียนที่ดี โรงเรียนขาดบุคลากรและแผนการจัดการรถรับส่งนักเรียนที่ต่อเนื่อง โรงเรียนขาดการกำกับควบคุมผู้ขับรถรับส่งนักเรียน รวมทั้งขาดการกำหนดจุดจอดรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัย
กฎระเบียบที่ควรรู้ “รถโรงเรียน”
ปัจจุบัน กฎระเบียบและการบริหารจัดการรถโรงเรียน อยู่ในการดูแลของ 3 หน่วยงาน คือ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงคมนาคม และกระทรวงมหาดไทย โดยหลักการที่จำเป็นสำหรับการจัดการ “รถโรงเรียน” ที่พึงรู้ คือ…
1.ข้อควรปฏิบัติสำหรับโรงเรียน
ควรควบคุมดูแลเรื่องความปลอดภัย จัดให้มีผู้ควบคุมดูแลนักเรียนและพนักงานขับรถ ที่มีความรู้ความข้าใจเกี่ยวกับการรับส่งนักเรียน นอกจากนี้ควรจัดให้มีการขึ้นทะเบียนรถโรงเรียน การขึ้นทะเบียนประวัติของพนักงานขับรถ และควรออกหนังสือรับรองการรับส่งนักเรียนของโรงเรียนหรือสถานศึกษา เพื่อนำไปใช้ยื่นเป็นรถรับส่งนักเรียนต่อกรมการขนส่งทางบกต่อไป
2.ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินกิจการรถโรงเรียน
สิ่งที่ผู้ดำเนินกิจการรถโรงเรียนควรให้ความใส่ใจเป็นสำคัญ นั่นคือ เรื่องความปลอดภัย ควรจัดให้มีผู้ควบคุมดูแลนักเรียนประจำรถทุกคัน รวมทั้งต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรับส่งนักเรียน ควรมีแจ้งผลการตรวจรถประจำปีให้โรงเรียนรับทราบเสมอ และต้องมีประกันคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ตลอดระยะเวลาที่มีการใช้รถรับส่งนักเรียน
3.ข้อควรปฏิบัติสำหรับพนักงานขับรถโรงเรียน
ไม่ว่าจะเป็นรถประเภทไหน หากได้รับการนำมาใช้ในสถานภาพความเป็น “รถโรงเรียน” ผู้ทำหน้าที่ขับรถ พึงรู้เรื่องเหล่านี้
- พนักงานขับรถโรงเรียนต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 25 ปี
- พนักงานขับรถโรงเรียน ต้องมีใบอนุญาตขับรถยนต์มาไม่น้อยกว่า 3 ปี
- พนักงานขับรถโรงเรียนมีความสุขุม รอบคอบ และมีความรู้ในการตรวจสอบอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้และสัญญาณต่าง ๆ ภายในรถโรงเรียนให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย
เรื่องน่ารู้ มาตรฐานความปลอดภัยของรถโรงเรียนตามหลักเกณฑ์ของกรมขนส่งทางบก
- รถที่จดทะเบียนเป็นรถโรงเรียน อนุญาตให้เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน แต่ไม่เกิน 12 คน ทั้งรถสองแถวและรถตู้ รวมทั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ควรมีมาตรฐานตามที่กรมการขนส่งกำหนด เช่น ห้ามติดฟิล์มกรองแสงที่กระจกรอบคัน
- ห้ามดัดแปลงสภาพรถ ห้ามเพิ่มเบาะที่นั่ง หรือต่อเติมกระบะท้าย เพื่อให้รับนักเรียนได้มากเกินจำนวนการบรรทุกที่ปลอดภัย
- รถต้องผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานขนส่งจังหวัด ที่โรงเรียนหรือสถานศึกษานั้นตั้งอยู่
- รถโรงเรียนทุกคัน ต้องติดแผ่นป้ายพื้นสีส้ม มีข้อความตัวอักษรสีดำว่า “รถโรงเรียน” ติดอยู่ด้านหน้า และด้านท้าย มีไฟสัญญาณสีเหลืองอำพันหรือสีแดง เปิด-ปิดเป็นประยะ ติดไว้ที่ด้านหน้าและด้านท้ายของรถ
- ต้องมีเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในกรณีฉุกเฉิน เช่น เครื่องดับเพลิง ค้อนทุบกระจก นอกจากนี้ วัสดุในส่วนของผู้โดยสาร ต้องไม่มีส่วนแหลมคม รวมทั้งบริเวณช่องประตูทางขึ้น-ลง ต้องเปิดปิดได้อย่างสะดวกและปลอดภัย
- พนักงานขับรถต้องได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ และไม่เคยมีประวัติเสียหายอันเกิดจากการขับรถยนต์มาก่อน รวมทั้งต้องมีผู้ควบคุมดูแลนักเรียน ประจำอยู่ในรถตลอดเวลาที่ใช้รับส่งนักเรียน
ความปลอดภัย เป็นเรื่องสำคัญสำหรับ “รถโรงเรียน” มากกว่าความปลอดภัย คือการใส่ใจดูแลในทุกขั้นตอน ควบคุมดูแลอย่าง “ใส่ใจ” เพื่อลดโอกาสเกิดเหตุการณ์ร้าย ๆ ที่ตามมา
แหล่งข้อมูล
- การควบคุมการใช้รถโรงเรียน ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน พ.ศ.2562
- คู่มือการจัดระบบรถโรงเรียนให้ปลอดภัยและเป็นธรรม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค