ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดเทอมใหม่ “ผู้ปกครอง” หัวใจว้าวุ่น จ่ายเฉลี่ย 26,039 บาท/คน

เศรษฐกิจ
8 พ.ค. 68
16:44
147
Logo Thai PBS
เปิดเทอมใหม่ “ผู้ปกครอง” หัวใจว้าวุ่น จ่ายเฉลี่ย 26,039 บาท/คน

16 พ.ค.นี้เด็กนักเรียนก็จะเปิดเทอมใหม่ มีทั้งที่เปลี่ยนโรงเรียน เลื่อนชั้นใหม่ และสิ่งที่ขาดไม่ได้เลย คือ การซื้ออุปกรณ์การเรียน ไม่ว่าจะเป็นชุดนักเรียน รองเท้า ถุงเท้า กระเป๋าที่ผู้ปกครองจะต้องจัดเตรียมไว้ให้บุตรหลานเพื่อใช้ในสถานศึกษา

แน่นอนว่า เปิดเทอมแต่ละครั้ง ค่าใช้จ่ายในแต่ละครั้ง มีตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักหมื่น ยิ่งในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย ประชาชนต้องรัดเข็มขัดและใช้จ่ายอย่างมัธยัสถ์เท่าที่จำเป็น แต่จะให้ประหยัดมากอาจส่งผลที่ไม่ดีต่อเด็กๆ เช่นกัน

ดังนั้น แนวทางการแก้ปัญหาของผู้ปกครองที่มีเงินไม่เพียงพอ คือ นำทรัพย์สินไป “จำนำ” มากที่สุด รองลงมา คือ “กู้เงินในระบบ”

ม.หอการค้าชี้ เปิดเทอมนี้ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 26,039 บาท/คน

นางอุมากมล สุนทรรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึง ผลสำรวจถึงพฤติกรรมการใช้จ่าย และผลกระทบของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอมปี 2568 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,250 คนทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 1-6 พ.ค.68 พบว่า ในภาพรวมเปิดเทอมปีการศึกษา 2568 ผู้ปกครองมีมูลค่าการใช้จ่ายรวม 62,614 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% จากปีก่อน กว่า 67% ของผู้ปกครอง ระบุว่า มีเงินเพียงพอกับค่าใช้จ่ายของบุตรหลายในช่วงเปิดเทอม ขณะที่อีกประมาณ 33% ระบุว่า มีไม่เพียงพอ

ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายโดยรวมสำหรับช่วงเปิดเทอมปีนี้ เฉลี่ยอยู่ที่คนละ 26,039 บาท 45.6% ผู้ปกครองส่วนใหญ่ มองว่า ค่าใช้จ่ายโดยรวมในช่วงเปิดเทอมปี 68 เท่ากับเปิดเทอมปี 67ที่ผ่านมา รองลงมา 30.2% มองว่า มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และ4.5% มองว่าค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่19.7% ระบุว่าค่าใช้จ่ายปีนี้น้อยลง

นางอุมากมล สุนทรรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

นางอุมากมล สุนทรรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

นางอุมากมล สุนทรรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ส่วนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเรียนของบุตรหลาน มีส่วนทำให้ต้องก่อหนี้เพิ่มหรือไม่นั้น 41% ผู้ปกครองระบุว่าไม่มีส่วนให้ก่อหนี้เพิ่ม รองลงมา 38% ตอบว่ามีการก่อหนี้เพิ่ม แต่ไม่ถึง 10% ของยอดหนี้ทั้งหมด โดยมีเพียง 0.4% เท่านั้น ที่ตอบว่ามีการก่อหนี้เพิ่มมากว่า 60% ของยอดหนี้ทั้งหมด

และเมื่อถามว่า ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายในการศึกษาของบุตรหลานหรือไม่นั้น ผู้ปกครองส่วนใหญ่ 56.6% ตอบว่าส่งผลกระทบมาก มีเพียง 8.8% เท่านั้น ที่ตอบว่าไม่ส่งผลกระทบ

50% ผู้ปกครองชี้เงินกู้ "กยศ." ยังมีความสำคัญ

สำหรับความสำคัญของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ในระดับมัธยมศึกษา และอุดมศึกษานั้น 50.1 % ผู้ปกครองส่วนใหญ่ตอบว่า มีความสำคัญมาก รองลงมา 43.5% มีความสำคัญปานกลาง ขณะที่อีก 6.4% ตอบว่ามีความสำคัญน้อย ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 47.1% มองว่า กยศ. ช่วยลดภาระผู้ปกครองได้ในระดับปานกลาง รองลงมา กลุ่มตัวอย่าง 43.6% ตอบว่าช่วยได้มาก ขณะที่กลุ่มตัวอย่าง 3.5% ตอบว่าช่วยไม่ได้เลย

อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองยังมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลปรับปรุงด้านการศึกษาของไทยในปัจจุบัน เช่นปรับปรุงระบบการประเมินผลนักเรียนที่วัดผลในหลายมิติ ลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ให้แต่ละโรงเรียนมีคุณภาพการเรียนการสอนที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน สนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับผู้ขาดแคลนทุนพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ทัดเทียมระดับสากลปรับการเรียนการสอนให้ดึงดูดความสนใจของนักเรียน และเพิ่มบุคลากรทางการศึกษา

ยอดใช้จ่ายสะพัด 6.2 หมื่นล้าน สูงสุดประวัติการณ์

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า ยอดการใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมปีการศึกษา 2568 จะมีเงินสะพัด 62,000 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่มีการสำรวจในปี 53 หรือประมาณ 16 ปี ที่มีค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงเปิดเทอม ซึ่งเชื่อว่าเศรษฐกิจยังเดินหน้าได้อยู่และช่วยผลักดันให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เช่น โรงเรียน สถาบันการศึกษา ร้านจำหน่ายอุปกรณ์การศึกษา ยังเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง และไม่มีผลกระทบจาก Trade War ที่จะกระทบจากการซึมตัวของเศรษฐกิจอย่างรุนแรงยังไม่เห็นอย่างเป็นรูปธรรมและมั่นใจว่าจะไม่มีผลกระทบ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย

การที่ยอดใช้จ่ายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อาจตีความได้ว่า ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาปรับตัวสูงขึ้น หรือผู้ปกครองให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาของบุตรหลานมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจดังกล่าว ไม่พบว่าผู้ปกครองลดหรือประหยัดการใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตรหลาน ส่วนใหญ่ตอบว่า ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในปีนี้ ยังใกล้เคียงกับปีก่อน และผู้ปกครองไม่ได้ขาดแคลนเงินมากนัก ภาพรวมการใช้จ่ายด้านการศึกษายังไม่ได้หยุดชะงัก

นอกจากนี้ ผู้ปกครองยังมองว่า การศึกษาไทยน่าจะมีการพัฒนาคุณภาพมากขึ้น เพราะคนยังมีความเชื่อมั่นน้อยว่าสถาบันการศึกษาของไทย จะทำให้คุณภาพของนักเรียนโดดเด่นได้เหมือนกับโรงเรียนนานาชาติ

ความกังวลว่าเศรษฐกิจซึมตัวลง หรือการใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมฝืดเคือง ยังไม่เห็นผู้ปกครองระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย ยังไม่เห็นสถานการณ์นั้น ถือว่าเศรษฐกิจไทยยังเดินหน้าได้อยู่

ออมสิน ผุดมาตรการสินเชื่อ "ผู้ปกครอง" รับเปิดเทอม

ขณะที่ธนาคารออมสินได้ ออกมาตรการ สินเชื่อธนาคารประชาชนต้อนรับเปิดเทอมโดยเฉพาะ กลุ่มผู้ปกครองที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตรหลานในช่วงเปิดภาคเรียนใหม่ ทั้งค่าชุดเครื่องแบบนักเรียน หนังสือ อุปกรณ์การเรียน และอื่น ๆ ด้วยการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุนในระบบ เพื่อเสริมสภาพคล่อง ลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบ และส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนไทยได้เข้าถึงการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน สำหรับผู้ปกครองที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินทุนในการเตรียมความพร้อมแก่บุตรหลานในช่วงเปิดภาคเรียนใหม่ ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำคงที่เพียง 0.60% ต่อเดือน วงเงินกู้ตามความจำเป็นสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาทต่อราย ระยะเวลาผ่อนชำระไม่เกิน 1 ปี (12 งวด) ผ่อนชำระประมาณ 894 บาทต่อเดือน (รวมเงินต้นและดอกเบี้ย) สำหรับผู้มีอาชีพ รายได้ และที่อยู่อาศัยแน่นอน สามารถยื่นขอสินเชื่อโดยไม่ต้องมีหลักประกัน ตั้งแต่ 8 พ.ค. – 31 ก.ค.นี้

มหกรรมลดราคาสินค้า "พาณิชย์" ช่วยผู้ปกครอง

ด้านนายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ช่วงเปิดภาคเรียนเพิ้อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ โดยเฉพาะให้ผู้ปกครองมาเลือกซื้อสินค้าและชุดนักเรียน กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายลดราคาสินค้า เช่น เครื่องแบบนักเรียน ซื้อ 3 จ่าย 2 เสื้ออนุบาลเริ่มต้น 69 บาท เสื้อประถม 89 บาท เสื้อมัธยมต้น 129–139 บาท รองเท้าและถุงเท้า ลดสูงสุด 33%

กระเป๋านักเรียน ลดสูงสุด 50% เช่น กระเป๋าไซส์ M จาก 699 บาท เหลือ 349 บาท เครื่องเขียน ลดสูงสุด 50% เช่น ชุดเครื่องเขียนจาก 199 บาท เหลือ 79 บาท ดินสอสีจาก 85 บาท เหลือ 49 บาท

นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน

นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน

นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน

ส่วนอุปกรณ์สำนักงาน ลดสูงสุด 58% เช่น คีย์บอร์ดจาก 499 บาท เหลือ 209 บาท สินค้าอุปโภคบริโภค ลดสูงสุด 50% เช่น น้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม ซื้อ 1 แถม 1, น้ำยาล้างจานจาก 189 บาท เหลือ 99 บาท อาหารสด ลดสูงสุด 40% เช่น ข้าวเสาไห้จาก 165 บาท เหลือ 99 บาท

สำหรับโครงการ เปิดเทอม เติมพลัง ถือเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์ ผู้ผลิต และผู้จำหน่ายกว่า 50 ราย ครอบคลุม 22,924 สาขาทั่วประเทศ โดยจัดลดราคาสินค้าจำเป็นใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค บริการ และสินค้าออนไลน์ ระหว่างวันที่ 30 เม.ย. – 31 พ.ค.ระยะเวลา 32 วัน คาดว่าจะช่วยลดภาระค่าครองชีพได้กว่า 300 ล้านบาท

“ไทยพีบีเอสออนไลน์” สอบถามไปยังผู้ปกครองนักเรียน ในพื้นที่จ.ชุมพร รายหนึ่ง กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายของบุตรหลาน ในช่วงเปิดเทอมปีนี้ที่เลื่อนชั้นไปมัธยมที่หนึ่งและย้ายโรงเรียนใหม่ ต้องซื้อชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนใหม่ทั้งหมด โดยเฉลี่ยค่าใช้จ่ายประมาณ 5,000-6,000 บาท/คน

เช่น ชุดนักเรียน ประมาณ3,000 บาท รองเท้า ถุงเท้า 1,000 บาท/2คู่ ค่าหนังสือ/สมุด 1,000 บาท กระเป๋านักเรียน 300-500 บาท ส่วนชุดลูกเสื้อใช้ของพี่ ทำให้ช่วยประหยัดได้ระดับหนึ่ง

“วิธีประหยัด คือจะซื้อชุดนักเรียนเผื่อไว้ให้ใช้จนถึงม.3 เลยที่เดียว ที่จะต้องซื้อบ่อยที่สุด คือ รองเท้าและถุงเท้านักเรียน ส่วนอุปกรณ์การเรียนอื่นๆซื้อน้อยมาก แต่ยอมรับว่าเศรษฐกิจในตอนนี้ทำให้ต้องรัดเข็มขัดพอสมควร อะไรที่ยังใช้ได้อยู่ก็จะไม่ซื้อใหม่ หรือใช้ของเดิมไปก่อน ”

 อ่านข่าว:

ฤาจะถึงคราเสน่ห์ "เที่ยวไทย" สิ้นมนต์ขลัง ในสายตานักท่องเที่ยวจีน

ลุ้น ครม.เคาะแจกเงินดิจิทัล 10,000 เฟส 3 กลุ่มอายุ 16-20 ปี

“นายก”สั่ง พณ. เร่งแก้สินค้าเกษตร หวั่นล้นตลาด ราคาดิ่ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง