ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ยาน “ยูโรปาคลิปเปอร์” ลองถ่ายภาพดาวอังคาร ระหว่างเดินทางไปดาวพฤหัสฯ


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

15 พ.ค. 68

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

ยาน “ยูโรปาคลิปเปอร์” ลองถ่ายภาพดาวอังคาร ระหว่างเดินทางไปดาวพฤหัสฯ

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2676

ยาน “ยูโรปาคลิปเปอร์” ลองถ่ายภาพดาวอังคาร ระหว่างเดินทางไปดาวพฤหัสฯ
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

แม้ยาน “ยูโรปาคลิปเปอร์” จะมีจุดหมายคือ “ดวงจันทร์ยูโรปา” ของดาวพฤหัสบดี แต่ล่าสุดนี้ ยานถ่ายภาพดาวอังคารมาให้เราชมกัน เป็นส่วนหนึ่งของการทดสอบ “E-THEMIS” เครื่องมือถ่ายภาพความร้อนในช่วงคลื่นอินฟราเรด โดยถ่ายภาพขณะบินโฉบผ่านดาวอังคาร รวมถึงได้ทดสอบเครื่องมือต่าง ๆ ของยาน สำหรับเตรียมความพร้อมก่อนมุ่งหน้าสู่ดาวพฤหัสบดี เพื่อศึกษามหาสมุทรและสภาพแวดล้อมของดวงจันทร์ยูโรปา

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2025 ยานยูโรปาคลิปเปอร์ (Europa Clipper) ทดสอบถ่ายภาพดาวอังคารในช่วงคลื่นอินฟราเรดด้วยเครื่องมือ E-THEMIS เป็นการสแกนความร้อนเพื่อแยกแยะอุณหภูมิในแต่ละพื้นที่ ขณะบินโฉบผ่านดาวอังคารที่ความสูง 884 กิโลเมตรเหนือพื้นผิว โดยยานได้ถ่ายภาพดาวอังคารภาพละ 1 วินาที ซึ่งใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 18 นาที ทำให้ได้ภาพถ่ายความร้อนกว่า 1,000 ภาพ และข้อมูลทั้งหมดถูกส่งกลับมายังโลกเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2025

“ยานยูโรปาคลิปเปอร์” ทดสอบถ่ายภาพดาวอังคาร ระหว่างเดินทางไปยังดวงจันทร์ยูโรปาของดาวพฤหัสบดี ภาพจาก NASA,JPL-Caltech,ASU

ทีมควบคุมรวมข้อมูลภาพถ่ายเข้าด้วยกันเกิดเป็นภาพขาวดำดังภาพประกอบ โดยที่พื้นสว่างแสดงถึงบริเวณที่มีความอบอุ่นกว่า ซึ่งมีอุณหภูมิประมาณ 0 องศาเซลเซียส ส่วนพื้นที่คล้ำทึบ แสดงถึงบริเวณที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า โดยมีอุณหภูมิต่ำสุดอยู่ที่ขั้วเหนือของดาว ที่มีอุณหภูมิประมาณ -125 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ ทีมควบคุมได้ปรับแต่งภาพสี ซึ่งพื้นที่สีแดงจะแสดงถึงบริเวณอบอุ่น และพื้นที่สีน้ำเงินจะแสดงถึงบริเวณที่มีอุณหภูมิต่ำ

การถ่ายภาพครั้งนี้เป็นการทดสอบระบบของยานยูโรปาคลิปเปอร์ โดยเฉพาะการถ่ายภาพความร้อนด้วยเครื่องมือ E-THEMIS เพื่อนำข้อมูลมาประมวลจริง และเปรียบเทียบกับข้อมูลที่ยาน Odyssey ได้สำรวจไว้ก่อนหน้า ซึ่งยานมีเครื่องมือ THEMIS สำรวจดาวอังคารจากวงโคจรมากว่า 10 ปี

การวิเคราะห์และเปรียบเทียบข้อมูลจากยานทั้งสอง จะช่วยให้ได้ข้อมูลที่มีความละเอียดมากยิ่งขึ้น และสามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลได้ง่าย ก่อนที่ระบบ E-THEMIS จะถูกนำไปใช้กับการทำแผนที่และศึกษาปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นบนพื้นผิวของดวงจันทร์ยูโรปา

ภาพยานยูโรปาคลิปเปอร์ ภาพจาก NASA,JPL-Caltech

ทีมควบคุมยังใช้โอกาสนี้สำหรับการทดสอบอุปกรณ์เรดาร์ความละเอียดสูงที่ไม่สามารถทดสอบได้ในห้อง clean room จากบนโลก หมายความว่านี่เป็นการทดสอบการใช้งานอุปกรณ์ในสภาพแวดล้อมจริงเป็นครั้งแรก จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า อุปกรณ์เรดาร์สามารถทำงานได้ดี และข้อมูลเรดาร์ทั้งหมดจะถูกส่งกลับมายังโลกในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า รวมทั้งทีมควบคุมได้ทำการทดสอบระบบสื่อสารของยานผ่านแรงสนามโน้มถ่วงของดาวอังคาร พบว่าระบบสื่อสารเป็นไปได้ด้วยดี และคาดว่าจะสามารถสื่อสารได้ราบรื่นเช่นเดียวกันในขณะที่ยานเข้าสู่สนามโน้มถ่วงของดวงจันทร์ยูโรปา

ยานยูโรปาคลิปเปอร์ กำลังมุ่งหน้าสู่ดวงจันทร์ยูโรปา โดยขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการ “Gravity assist” คือการใช้แรงโน้มถ่วงของดาวอังคารในการปรับทิศทางและวิถีการโคจร และยานจะเดินทางกลับมายังโลกเพื่อใช้แรงโน้มถ่วงของโลกในการปรับทิศทางและวิถีการโคจรครั้งสุดท้ายในปี 2026 จากนั้นจะเดินทางถึงดาวพฤหัสบดีในปี 2030 โดยยานจะเริ่มบินโฉบผ่านดวงจันทร์ยูโรปา จำนวน 49 ครั้ง เพื่อศึกษาสภาพแวดล้อมที่อาจเอื้อต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตบนดาวดวงอื่น


อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : NASA, กฤษดา รุจิรานุกูล เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ยานยูโรปาคลิปเปอร์ยูโรปาคลิปเปอร์Europa Clipperดวงจันทร์ยูโรปา ดาวพฤหัสดาวพฤหัสบดีสำรวจอวกาศดาวอังคารยานอวกาศอวกาศThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - Astronomy
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เซบา บาสตี้ : เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover (ติดต่อ jiraphobT@thaipbs.or.th หรือ 0854129703)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด