ประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วส่งผลให้จีนเผชิญความท้าทายเร่งด่วนด้านสาธารณสุขครั้งใหม่ ซึ่งก็คือ “มะเร็ง” ในผู้สูงอายุ โดยข้อมูลล่าสุดเผยว่าจำนวนผู้สูงวัยที่มีอายุกว่า 60 ปี คิดเป็นร้อยละ 60.7 ของผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ในจีน
สมาคมต่อต้านมะเร็งของจีนรายงานว่ามะเร็งปอดและมะเร็งทางเดินอาหารพบได้บ่อยที่สุดในผู้สูงอายุ โดยคิดเป็นราวร้อยละ 65 ของเนื้องอกร้ายในกลุ่มอายุนี้ ขณะที่มะเร็งชนิดอื่น ๆ ที่พบบ่อย ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งเม็ดเลือดต่าง ๆ
เซวียตง ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งในผู้สูงอายุประจำโรงพยาบาลมะเร็งแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เผยว่ามะเร็งในผู้สูงอายุเชื่อมโยงใกล้ชิดกับการกลายพันธุ์ทางพันธุกรรมที่ก่อตัวมาเป็นเวลานาน โดยเซลล์ที่แก่ชรา ระบบภูมิคุ้มกันที่เสื่อมลง และการสัมผัสกับสารก่อมะเร็งเป็นเวลานานนั้นเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งอย่างมาก ซึ่งการตรวจพบในระยะเริ่มต้นยังคงเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการต่อสู้กับมะเร็ง
คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีนจึงเรียกร้องการปรับปรุงบริการสาธารณสุข อาทิ การตรวจสุขภาพทั่วจีนสำหรับผู้ใหญ่อายุ 65 ปีขึ้นไป และการตรวจคัดกรองบ่อยขึ้นสำหรับกลุ่มเสี่ยงสูง ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเรียกร้องให้มีการตรวจโรคตั้งแต่ระยะแรก รักษาตามหลักฐานรองรับ และให้ความรู้แก่สาธารณชนเพื่อต่อต้านความเชื่อแบบผิด ๆ ที่มักทำให้ผู้สูงอายุชะลอหรือหลีกเลี่ยงการรักษา
สำหรับในระดับท้องถิ่นนั้นมีมาตรการริเริ่มเช่นกัน โดยประชาชนอายุ 60-69 ปีในเมืองเหยียนเฉิง มณฑลเจียงซู สามารถเข้ารับการตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งทั่วไป 12 ชนิดได้ฟรี ขณะที่ทางการในเมืองต้าชิ่ง มณฑลเฮยหลงเจียง เสนอบริการตรวจมะเร็ง 5 ชนิด ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ มะเร็งทางเดินอาหารส่วนบน และมะเร็งลำไส้ใหญ่ฟรีแก่ประชาชนอายุ 45-74 ปี
แพทย์ยังส่งเสริมให้ประชาชนใช้ชีวิตประจำวันในแบบที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้นด้วย โดยจางถง ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งที่โรงพยาบาลซีย่วนของสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์จีนแห่งประเทศจีน สนับสนุนให้ผู้สูงอายุรับประทานอาหารให้สมดุลและออกกำลังกายแบบจีนดั้งเดิม อาทิ ไท่จี๋เฉวียนหรือรำมวยไทเก๊ก และปาต้วนจิ่น ซึ่งช่วยเพิ่มพลังงานและการทำงานของภูมิคุ้มกัน
การบำบัดแบบแพทย์แผนจีน อาทิ การฝังเข็มและแผ่นแปะจุดฝังเข็ม จะช่วยบรรเทาผลข้างเคียงระหว่างการให้เคมีบำบัด อาทิ คลื่นไส้ เบื่ออาหาร และท้องผูก ส่วนอาการจากการฉายรังสี อาทิ ผิวหนังเสียหายและแผลในปาก การอาบน้ำสมุนไพรและการบำบัดด้วยไอน้ำจะช่วยบรรเทาอาการได้เช่นกัน
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าอาจยังมีความเชื่อแบบผิด ๆ ที่ฝังรากลึกอยู่ โดยผู้ป่วยสูงอายุจำนวนมากเชื่อในการรักษาแบบปาฏิหาริย์หรือวิธีรักษาพื้นบ้าน ขณะที่ผู้ป่วยบางรายกลัวว่าการรักษาแบบทั่วไปอย่างการผ่าตัดหรือเคมีบำบัดจะทำให้อาการทรุดเร็วกว่าเดิม
เซวียเผยว่าการรักษาผู้ป่วยมะเร็งสูงวัยต้องอาศัยความสมดุล โดยพิจารณาจากทั้งความต้องการทางการแพทย์และความพร้อมทางร่างกายและอารมณ์ของผู้ป่วย เมื่อเรามีทั้งวิทยาศาสตร์และความเห็นอกเห็นใจเป็นเสมือนใบสั่งยา เราจะสามารถช่วยให้ผู้สูงอายุที่ป่วยโรคมะเร็งมีชีวิตบั้นปลายที่สง่างามได้
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แฟ้มภาพซินหัว : หุ่นยนต์รมยาบำบัดให้กับผู้สูงอายุที่บ้านพักคนชราในเมืองเซินเจิ้น มณฑลกว่างตงทางตอนใต้ของจีน วันที่ 3 มี.ค. 68
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : Xinhua, straitstimes
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech