ส่งท้าย Pride Month 2025 ด้วยการอัปเดตสถานการณ์ LGBTQ ไต้หวัน เมื่อสมรสเท่าเทียมยังเป็นก้าวแรกของความเท่าเทียม แล้วตอนนี้ล่ะ สิทธิของ LGBTQ ในไต้หวันเป็นอย่างไรบ้าง ?
6 ปีที่แล้ว ไต้หวันได้สร้างประวัติศาสตร์ในฐานะดินแดนแห่งแรกในเอเชียที่ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม ภาพของคู่รักหลากหลายเพศที่ยิ้มแย้มจดทะเบียนสมรสกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวังของชุมชน LGBTQ ทั่วเอเชีย
ปัจจุบัน ไต้หวันมีคู่รักเพศเดียวกันที่สมรสแล้วกว่า 23,808 คน ตามสถิติล่าสุดของกระทรวงมหาดไทยไต้หวัน ทว่าเบื้องหลังภาพลักษณ์ที่สดใสนี้กฎหมายสมรสเท่าเทียม เป็นชัยชนะที่เห็น อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นการเดินทางของสิทธิ LGBTQ ที่ยังอีกยาวไกล
กว่าจะเป็นสมรสเท่าเทียม
ฌอน ซื่อเฉิง ตู้ (Sean Sih-Cheng Du) เลขาธิการ Taiwan Tongzhi (LGBTQ+) Hotline Association ซึ่งเป็นองค์กรด้าน LGBTQ ที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของไต้หวัน เล่าว่ากว่าจะมาเป็น กฎหมายสมรสเท่าเทียม นั้นต้องย้อนไปดูถึงเรื่องราวสุดเศร้าในปี 2016 ของฌาคส์ ปิกู (Jacques Picoux) อาจารย์สัญชาติฝรั่งเศสผู้ปลิดชีพตัวเองหลังจากชายคู่รักของเขาที่ร่วมชีวิตกันมากว่า 35 ปีเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง ทว่าเขากลับไม่มีสิทธิในเรื่องต่าง ๆ ของชีวิตอีกฝ่าย แม้กระทั่งการตัดสินใจการรักษา ช่วงวาระสุดท้ายในชีวิตของคู่เขา หรือการรับมรดก พูดง่าย ๆ ในทางกฎหมาย ทั้งคู่เพียงแค่คนแปลกหน้า แม้จะใช้ชีวิตร่วมกันมาครึ่งค่อนชีวิตก็ตาม
การตายของเขาได้ส่งแรงกระเพื่อมไปยังสังคมไต้หวัน และจุดประกายเสียงสะท้อนจากประชาชนจำนวนมากที่เริ่มตั้งคำถามถึงความไม่เท่าเทียมทางกฎหมาย และผลักดันให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาที่เคยถูกมองข้ามมานาน

หลังจากนั้นไม่นาน กระแสเรียกร้องก็ยิ่งทวีความเข้มข้น แต่การเรียกร้องจากภาคประชาชนนั้นต้องเคลื่อนไหวผ่าน 3 สมรภูมิ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญไต้หวันมีคำวินิจฉัยในปี ค.ศ. 2017 ว่า กฎหมายที่จำกัดสิทธิการสมรสไว้เพียงชายหญิงขัดต่อรัฐธรรมนูญ และเปิดทางให้รัฐบาลต้องแก้ไขกฎหมายภายในสองปี นับเป็นหมุดหมายสำคัญของขบวนการ LGBTQ ในไต้หวัน
อย่างไรก็ตาม การต่อต้านยังรุนแรงจนทำให้ต้องมีประชามติขึ้นในปี 2018 ฝ่ายสนับสนุนเป็นผู้พ่ายแพ้ในการทำประชามติครั้งนี้ แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังคงเป็นที่สุด สุดท้าย รัฐบาลเลือกประนีประนอม ด้วยการออก “กฎหมายพิเศษที่ 748” สำหรับคู่รักเพศเดียวกันแทนการแก้ไขกฎหมายแพ่งโดยตรง แต่นั่นก็ทำให้ไต้หวันมอบสิทธิแก่คู่รักเพศเดียวกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นที่แรกในภูมิภาค
การแยกกฎหมายเฉพาะสำหรับคู่รักเพศเดียวกัน ทำให้ยังมีบางสิทธิที่ไม่ได้รับเท่าเทียมกับคู่รักชายหญิงแม้สิทธิและความรับผิดชอบส่วนใหญ่จะเหมือนกับการสมรสของคู่รักต่างเพศ แต่สิทธิบางอย่างกลับขาดหายไป

ในช่วงแรกคู่รักไต้หวันไม่สามารถสมรสกับชาวต่างชาติจากประเทศที่ยังไม่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้ ซึ่งในขณะนั้นมีราว 30 ประเทศในโลกที่มีกฎหมายนี้ และ ณ วันนั้น อย่างที่รู้กันว่า ไต้หวันเป็นที่แรกในเอเชีย ต่อมาในปี 2021 รัฐสภาได้ผ่านกฎหมายที่ทำให้แต่งงานกับชาวต่างชาติที่ไม่ได้มาจากประเทศที่มีสมรสเท่าเทียมได้ อย่างไรก็ตามตอนนี้ไม่ครอบคลุมชาวไต้หวันที่มีคู่สมรสเป็นชาวจีน เนื่องจากมีความขัดกันกับตัวกฎหมายของจีนแผ่นดินใหญ่
ปัญหาการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน (co-adoption) ที่คู่รัก LGBTQ จะไม่สามารถรับอุปการะบุตรเพื่อสร้างครอบครัวได้ และสถานะของ "ครอบครัวเขย-สะใภ้" (family-in-law) ที่ไม่ได้รับการรับรองในกฎหมายพิเศษ ทำให้เกิดปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายอื่น ๆ เช่น กฎหมายความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งทั้งสองเพิ่งได้รับการแก้ไขในปี 2023
ล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2025 Taiwan Equality Campaign เปิดเผยผลสำรวจว่า 62.9% สนับสนุนสิทธิการสมรสของคู่รักเพศเดียวกันโดยไม่จำกัดสัญชาติ เพิ่มขึ้นจาก 48.7% ในปี 2020 สะท้อนทัศนคติที่ก้าวหน้าและเปิดกว้างมากขึ้นของคนไต้หวัน
บรรยากาศของการยอมรับเห็นได้ชัดตามพื้นที่สาธารณะในเมืองใหญ่ เช่น ไทเป ที่คู่รักเพศเดียวกันสามารถใช้ชีวิตคู่โดยไม่ต้องหลบซ่อน หรือแม้แต่การเดินขบวน Pride ที่ภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมอย่างแข็งขัน
ความรักอาจถูกกฎหมาย แต่ยังผิดในสายตาพ่อแม่

กฤตภาส เพ่งหลิบ หรือนาตาชา หนึ่งใน LGBTQ ไทยในไต้หวันที่อยู่มากว่า 6 ปี เล่าว่า สาเหตุหนึ่งที่เลือกมาทำงานที่นี่ เพราะว่าเห็นว่าเป็นเมืองที่เปิดกว้างกับเรื่องสิทธินี้ และเมื่อได้มาทำงานที่นี่ มองว่ายังเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับชาว LGBTQ
“อยู่ที่นี่คือไม่ได้โดนบูลลี่เรื่องการเป็น LGBTQ นะ รู้สึกว่าคนที่นี่เขาโอเคกับการที่เราเป็น LGBTQ เขาต้องถามเลยว่า ‘เนี่ย pronoun ของเราคืออะไร he หรือ she’ โดยเฉพาะคนในระดับรุ่นเราเนี่ยมีความเข้าใจเกี่ยวกับ LGBTQ อย่างมาก” แต่สำหรับคนอีกรุ่นเรื่องราวเหล่านี้ยังยากที่จะรับได้หากเกิดขึ้นใกล้ตัว “ในบริษัทที่เพื่อนร่วมงานกว่า 90% เป็นเก้ง แต่เชื่อไหมว่า คนที่กล้าแสดงออกกับพ่อแม่จริง ๆ มีไม่ถึงครึ่ง”
เขาเล่าว่า อุปสรรคสำคัญคือ “ระบบครอบครัวแบบจีน” ที่ยังคงมีอิทธิพลอย่างสูง ความคาดหวังให้ลูกชายเป็นผู้สืบทอดวงศ์ตระกูล การที่ลูกชายเป็น LGBTQ จึงเป็นเรื่องที่ใจสลายและรับไม่ได้สำหรับพ่อแม่จำนวนมาก โดยเฉพาะผู้เป็นพ่อ
ครอบครัวที่ยังเขาเรียกว่ารับไม่ได้ กับการที่มีลูกเป็น LGBTQ อยู่ คือเขาไม่มีปัญหานะกับการที่เขาเห็นคนอื่น ในท้องถนนหรือว่าคนทั่วไปเป็น LGBTQ แต่พอเป็นลูกตัวเองเนี่ยมันเป็นสิ่งที่เขาเรียกว่า ต้องใช้เวลาในการเข้าอกเข้าใจและการยอมรับลูกตัวเอง
เพื่อนชาวไต้หวันหลายคนบอกกับตนว่า เขากลัวที่จะทำให้ครอบครัวผิดหวัง กลัวที่จะต้องเสียความสัมพันธ์อันดีในบ้านไป นั่นคือปัจจัยหลักเลย พวกเขาจึงเลือกที่จะเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่กับเพื่อน แต่กลับต้องสวมบทบาทอื่นเมื่ออยู่ต่อหน้าครอบครัว
ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในบ้าน แต่ยังสะท้อนออกมาในรูปแบบของการใช้ชีวิตในสังคม “เวลาแต่งตัวจัดเต็ม เดินในไทเปจะเจอสายตาที่แตกต่างจากที่ไทยมาก คนไต้หวันเขาจ้องแบบให้รู้เลยว่าจ้องอยู่ ไม่ได้แอบมอง มีครั้งหนึ่งเคยเดินลงบันไดแล้วมีคนวิ่งมาแล้วพยายามจ้อง ซึ่งตอนแรกก็รู้สึกไม่สบายใจ แต่หลัง ๆ ก็คิดว่าเราสวย แต่มันสะท้อนว่าเราดู ‘แตกต่าง’ จากบรรทัดฐานของเขาอย่างชัดเจน”
นาตาชามองว่า “คนไทยมีความกล้าได้กล้าเสียมากกว่า กล้าลองอะไรใหม่ๆ กล้าฉีกขนบธรรมเนียม ในขณะที่คนไต้หวันจะมีความกลัวการแตกต่าง กลัวการถูกมองว่าเป็นตัวประหลาด พวกเขามีความ conformist (สอดคล้องตามบรรทัดฐาน) สูงกว่ามาก สังคมแฟชั่นหรือสื่อบันเทิงบ้านเราไปไกลกว่าเยอะ ผู้ชายจะแต่งตัวแบบไหนก็ได้ สังคมส่วนใหญ่ไม่ได้ตัดสินอย่างจริงจัง แต่ที่นี่ การทำตัวโดดเด่นยังเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความกล้าหาญ”
ข้อสังเกตนี้สอดคล้องกับฌอน ซื่อเฉิง ตู้ ที่ชี้ว่า ชุมชน LGBTQ ในไต้หวันยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างเต็มที่ ไม่เพียงแค่ในครอบครัว แต่รวมถึงในโรงเรียนและที่ทำงานด้วย ถึงแม้ว่าจะมีการเรียนการสอนในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในโรงเรียนก็ตาม จากการสำรวจในปี 2023 พบว่า LGBTQ เพียง 46% เท่านั้นที่แสดงตัวตนกับเพื่อนร่วมงาน และน้อยลงไปอีกเหลือไม่ถึง 30% ที่เปิดเผยกับเจ้านาย
ฌอนยังได้ชวนตั้งคำถามต่อว่า “ถ้าชาว LGBTQ ไม่สามารถแสดงตัวตนเรื่องเพศได้ แล้วพวกเขาจะใช้สิทธิสมรสเท่าเทียมได้อย่างไร ถ้าจะใช้สิทธิ เช่น ลาไปแต่งงาน อย่างไรต้องเปิดเผยตัวตนในที่สุด” ถึงแม้ว่าเรื่องนี้ยังดูมีปัญหาแต่เขายังมองว่าสถานการณ์นั้นดีขึ้นมาก เมื่อเทียบกับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แต่ก็ยังไม่ดีพอ
เมื่อความเท่าเทียมคืออาวุธต้านมังกร

แล้วอะไรคือพลังขับเคลื่อนที่ทำให้กฎหมายที่ดูเหมือนจะสวนทางกับค่านิยมดั้งเดิมนี้ ผ่านไปได้ในที่สุด ? ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้มุมมองเชิงวิเคราะห์ที่ทำให้เห็นภาพใหญ่ขึ้นว่า “กลุ่มที่ต่อต้านสิทธิ LGBTQ ในไต้หวันมากที่สุด ไม่ใช่กลุ่มการเมือง แต่เป็นกลุ่มศาสนา หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้กฎหมายสมรสเท่าเทียมประสบความสำเร็จ คือ การเมืองระหว่างประเทศ”
“การให้สิทธิความหลากหลายทางเพศ เป็นจุดยืนทางการเมืองที่ตรงข้ามกับจีนแผ่นดินใหญ่อย่างสิ้นเชิง” ดร.วาสนา อธิบาย “ในขณะที่จีนปิดกั้นและไม่ยอมรับสิทธิเหล่านี้ การที่ไต้หวันเปิดกว้างจึงเป็นการสร้างความแตกต่างและตอกย้ำภาพลักษณ์ของ ‘เสรีภาพ’ ซึ่งเป็นสิ่งที่ใช้ต่อสู้กับอิทธิพลของจีนคอมมิวนิสต์ มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของ การนำเสนอที่ว่าไต้หวันมีเสรีภาพและเคารพสิทธิมนุษยชนมากกว่าจีน”
สิทธิ LGBTQ ในบริบทของไต้หวัน จึงไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของสิทธิมนุษยชน แต่ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในเชิง soft power เพื่อสร้างอัตลักษณ์ของชาติที่แตกต่างและโดดเด่นจากจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งทำให้กลุ่มที่สนับสนุนเอกราชและประชาธิปไตยในไต้หวัน มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนสิทธิเหล่านี้อย่างแข็งขัน เพื่อสร้างระยะห่างจากจีนให้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม ดร.วาสนา ได้ทิ้งท้ายด้วยประเด็นที่น่ากังวลและเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่กว่านั้น “ประเด็นเร่งด่วนที่สุดของไต้หวันตอนนี้ อาจไม่ใช่การพัฒนาสิทธิ LGBTQ ให้ก้าวหน้าต่อไป แต่คือทำอย่างไรจะไม่ถูกรวมกับจีน เพราะถ้าวันนั้นมาถึง สิทธิเสรีภาพทุกอย่างที่เคยมีอยู่จะหายไปทั้งหมด”
เส้นทางที่ยังรอให้สานต่อ
เส้นทางของสิทธิ LGBTQ ในไต้หวันยังไม่จบลงแค่นี้ ฌอน ซื่อเฉิง ตู้ ในฐานะเลขาธิการ Taiwan Tongzhi (LGBTQ+) Hotline Association ยังมองอีกว่าในเรื่องสิทธิยังมีหลายเรื่องที่ไต้หวันนั้นยังขาดและยังต้องพัฒนาต่อไป เช่น
- กฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติอย่างครอบคลุม (Comprehensive Anti-discrimination Law) ไต้หวันยังไม่มีกฎหมายที่ป้องกันการเลือกปฏิบัติกับ LGBTQ อย่างชัดเจน เช่น เจ้าของบ้านไม่ให้เช่าเพราะคุณเป็น LGBTQ แบบนี้กฎหมายยังจัดการไม่ได้ และการจัดการกับ Hate Speech ที่พุ่งเป้าไปที่ชุมชน LGBTQ โดยรวม
- สิทธิของคนข้ามเพศ (Transgender) ซื่อเฉิง ตู้ กล่าวว่า “ปัจจุบัน หากคนข้ามเพศในไต้หวันต้องการเปลี่ยนคำนำหน้านาม พวกเขาต้องผ่านการวินิจฉัยจากจิตแพทย์ 2 คน และต้องเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงและไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนต้องการ การผลักดันให้มีกฎหมายที่อนุญาตให้เปลี่ยนคำนำหน้านามได้โดยไม่ต้องผ่าตัด จึงเป็นเป้าหมายสำคัญของเรา”
- สิทธิในการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (ART) เช่น การทําเด็กหลอดแก้ว (IVF) สำหรับผู้หญิงโสดและคู่รักเลสเบี้ยน ซึ่งยังเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในไต้หวัน
มันเป็นกฎหมายพิเศษ ไม่ใช่การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งให้เท่าเทียมกันอย่างสมบูรณ์ นั่นหมายความว่ายังมีสิทธิบางอย่างที่ขาดหายไป... เราต้องต่อสู้เพื่อแก้ไขมันทีละประเด็น ซึ่งต้องใช้ความพยายามอย่างมหาศาล - ซื่อเฉิง ตู้

ท้ายที่สุดแล้ว เรื่องราวจากไต้หวันสะท้อนให้เห็นว่า การมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นเพียง “จุดเริ่มต้น” ที่สำคัญ แต่ยังการขับเคลื่อนในแง่กฎหมายกับทัศนคติในสังคมยังต้องดำเนินต่อไปควบคู่กัน และยังเป็นบทเรียนให้แก่ประเทศไทยที่เพิ่งประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมได้ 5 เดือนเศษนับตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค. 2025 ในประเด็นที่ยังต้องเรียกร้องต่อเช่นเดียวกัน อย่างสิทธิอีกหลายประการที่ประเทศไทยยังไม่รับรองเช่นเดียวกับประเทศส่วนใหญ่ในโลกอีกกว่า 100 ประเทศ อาทิ
- ไม่สั่งห้ามการบำบัดเพื่อเปลี่ยนรสนิยมทางเพศ (conversion therapy)
- ไม่รับรองสิทธิในการเปลี่ยนเพศตามกฎหมาย
- ไม่รับรองทางกฎหมายของกลุ่มนอนไบนารี (nonbinary)
- ไม่สั่งห้ามผ่าตัดทารกที่มีภาวะเพศกำกวม (อินเตอร์เซ็กซ์ หรือ intersex) หรือการห้ามบังคับเข้าสู่กระบวนการผ่าตัดเพื่อแทรกแซงคุณลักษณะทางเพศของบุคคลอินเตอร์เซ็กซ์ จนกว่าบุคคลนั้นจะให้ความยินยอมได้
ทั้งหมดนี้เป็นการบ้านที่ต้องใช้ทั้งเวลา และความเข้าใจในการขับเคลื่อนต่อไป เพื่อให้ธงสีรุ้งที่โบกสะบัดในวันนี้ จะไม่กลายเป็นเพียงภาพจำในหน้าประวัติศาสตร์ที่ถูกลบเลือน
อ้างอิง
- Dept. of Household Registration, Ministry of the Interior: Population Data Quarterly publication