ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รู้จักความหมาย “คดีขาดอายุความ” และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง


Insight

10 มิ.ย. 67

สันทัด โพธิสา

Logo Thai PBS
แชร์

รู้จักความหมาย “คดีขาดอายุความ” และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1267

รู้จักความหมาย “คดีขาดอายุความ” และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

เพิ่งมีข่าว “นักการเมืองคนดัง” ปรากฏตัว หลังจากที่คดีความที่ติดตัวมายาวนาน หมดอายุความลง ไม่มากก็น้อย มีหลายคนสงสัย “การขาดอายุความ” คืออะไร ? ทำไมคดีที่ขาดอายุความ จึงทำให้ผู้ต้องหาพ้นความผิด ? ตลอดจนรูปแบบการหมดอายุความทางคดีต่าง ๆ มีกฎเกณฑ์อย่างไร ? Thai PBS มีเรื่องราวเหล่านี้มาบอกกัน

“คดีขาดอายุความ” คืออะไร ?

คดีขาดอายุความ หรือ Prescription คือ ระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้ใช้สิทธิเรียกร้อง สิทธิฟ้อง หรือสิทธิร้องทุกข์ โดยหากปล่อยไปจนล่วงเลยกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิที่ว่านั้น จะเป็นอันยกขึ้นอ้างอีกไม่ได้ หรือเรียกว่า “การขาดอายุความ”

ทำไม “คดีความ” ถึงต้องมีอายุความ ?

  1. เพื่อให้การพิสูจน์ความจริง เป็นไปให้เร็วที่สุด ในขณะที่พยานและหลักฐานยังสดใหม่ โอกาสที่ศาลจะตัดสินผิดพลาดคลาดเคลื่อน มีน้อย
  2. ถือเป็นสภาพบังคับให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งรัดกับคดีความ เนื่องจากหากละเลย ไม่เร่งรัด เพื่อให้ได้ตัวผู้กระทำผิดมาเข้าสู่กระบวนการภายในอายุความ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องมีความรับผิดด้วยเช่นกัน
  3. การมีอายุความทางคดี ถือเป็นการห้ามไม่ให้มีการนำเรื่องราวที่เกิดขึ้นนานแล้ว มาเรียกร้องต่อกัน เนื่องจากพยานหลักฐานอาจสูญหาย เสื่อมสภาพ บกพร่อง หรือคลาดเคลื่อนไปตามกาลเวลา ส่งผลให้การวินิจฉัยข้อพิพาทนั้น ๆ ไม่อาจเป็นธรรมได้

หลักเกณฑ์การพิจารณาอายุคดีความ เป็นอย่างไร ?

การนับอายุความ ตามประมวลกฎหมายอาญา ไม่ได้บัญญัติวิธีการนับระยะเวลาอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงอยู่ในบังคับของหลักทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193 / 3 วรรคสอง ซึ่งมิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน แต่ต้องเริ่มนับอายุความในวันรุ่งขึ้น 

ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 กำหนดจำนวนของการขาดอายุความ ไว้ดังนี้…

  • อายุความ 20 ปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุก ตลอดชีวิต หรือจำคุก 20 ปี
  • อายุความ 15 ปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่า 7 ปี แต่ยังไม่ถึง 20 ปี
  • อายุความ 10 ปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่า 1-7 ปี 
  • อายุความ 5 ปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่า 1 เดือน ถึง 1 ปี 
  • อายุความ 1 ปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 เดือนลงมา หรือต้องระวางโทษอย่างอื่น

ส่วนอายุความในคดีทางแพ่ง พิจารณาเป็นรายคดีและเป็นกรณี ๆ ไป

  • อายุความ 2 ปี เช่น คดีเรียกค่าธรรมเนียมการศึกษา คดีเรียกค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ คดีเรียกค่าการงานที่ทำให้หรือสินจ้าง
  • อายุความ 5 ปี เช่น คดีเรียกดอกเบี้ยค้างชำระ ค่าเช่าทรัพย์สินค้างชำระ เรียกเงินผ่อนคืนเป็นงวด ๆ เรียกเงินค้างจ่าย เช่น เงินเดือน ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร เป็นต้น
  • อายุความ 10 ปี ส่วนมากเป็นคดีที่ประมวลกฎหมาย หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ เช่น อายุความคดีแพ่งผิดสัญญาซื้อขาย เป็นต้น

คดีอาญา และคดีแพ่ง หากหมดอายุความ ฟ้องร้องอีกได้หรือไม่ ?

กรณีคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 98 เมื่อได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด หากผู้นั้นยังมิได้รับโทษ หรือได้รับโทษแต่ยังไม่ครบถ้วนโดยหลบหนี หรือแม้แต่ยังมิได้ตัวผู้นั้นมาเพื่อรับโทษ โดยเมื่อเวลาล่วงเลยเกินจากที่กำหนดตามกฎหมายระบุไว้ จะลงโทษผู้นั้นมิได้

กรณีคดีแพ่ง แม้คดีจะขาดอายุความแล้ว เจ้าหนี้อาจฟ้องร้องบังคับคดีได้ และลูกหนี้ที่ถูกฟ้องคดีแพ่ง มีสิทธิยกเหตุที่หนี้ขาดอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ เพื่อปฏิเสธการชำระหนี้ตามฟ้อง ซึ่งหากศาลเห็นว่าหนี้ขาดอายุความจริง ศาลต้องยกฟ้อง แต่ถ้าลูกหนี้ไม่ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจะยกฟ้องโดยอ้างว่าหนี้ขาดอายุความไม่ได้

จุดแข็งและจุดอ่อน ของการหมดอายุความ

ปัจจุบันมีประเทศ ที่กำหนดอายุความ และไม่กำหนดอายุความ ซึ่งมีจุดดี จุดด้อยแตกต่างกันไป กรณีประเทศที่มีกฎหมายกำหนดอายุความ เช่น ประเทศไทย หรือประเทศฝรั่งเศส ข้อดีคือ ผู้ที่กระทำความผิด จะถูกติดตามจับกุมมาลงโทษภายในเวลาไม่นาน แต่มีข้อเสียคือ ถ้าตามจับไม่ได้ คนร้ายสามารถอ้างอายุความ เพื่อหนีกระบวนการยุติธรรมได้

ส่วนในประเทศอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่มีอายุความ แต่เฉพาะกรณีความผิดเล็กน้อย แต่หากเป็นความผิดร้ายแรง เช่น ฆาตกรรม ทุจริตคอรัปชัน หรือข่มขืน จะไม่มีการหมดอายุความ ดังนั้นผู้ที่กระทำความผิด จะอ้างเวลาที่ผ่านไป เพื่อให้รอดพ้นจากการรับโทษไม่ได้ 

ลักษณะนี้มีข้อดีคือ ไม่มีเงื่อนไขเวลาเป็นที่ตั้ง อย่างไรคนผิดต้องถูกลงโทษ เหมาะกับประเทศที่มีระบบสืบสวนสอบสวนที่จริงจัง แต่มีข้อเสียคือ เมื่อเวลาผ่านไป พยานหลักฐานอาจสูญหายไปตามกาลเวลา ในมุมหนึ่ง อาจเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ที่ประพฤติมิชอบ ชะลอการสืบสวนสอบสวน เพื่อให้คดีดำเนินไปจนศาลต้องยกฟ้อง เนื่องจากขาดพยานหลักฐานที่ชัดเจน

ลักษณะของคดีที่มักจะ “ขาดอายุความ” 

  1. เป็นคดีที่เกิดขึ้นกับผู้มีฐานะทางการเงิน หรือผู้มีอำนาจ ที่ตกเป็นจำเลย
  2. เป็นคดีที่มีหลักฐานเป็นเอกสารทางราชการ ซึ่งเป็นหลักฐานที่ “ล้มคดี” ได้ยาก
  3. เป็นคดีประเภท “กระทำความผิดต่อรัฐ” และมีองค์กร หรือหน่วยงานเป็นโจทก์ฟ้องร้อง

ประเทศไทยมีกรณีผู้กระทำผิด แต่คดี “ขาดอายุความ” เกิดขึ้นบ่อยครั้ง จึงเป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องต้องใส่ใจ และจริงจังต่อการติดตามคดี เพื่อให้ระบบยุติธรรมของประเทศ มีความน่าเชื่อถือ และเป็นกรอบกติการ่วมกันในสังคมต่อไป...

อ้างอิง
-อายุความมีไว้ทำไม 
-การนับอายุความคดีอาญาขาดอายุความหรือไม่ ต้องนับอย่างไร 
-อายุความ 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-"วัฒนา อัศวเหม" กลับไทยหลังคดีคลองด่านหมดอายุความ 
-เส้นทางกลับไทย "วัฒนา" เจ้าพ่อเมืองปากน้ำ ยัง (ไม่) ไกลเกินหวัง  

แท็กที่เกี่ยวข้อง

อายุความคดีขาดอายุความกฎหมาย
สันทัด โพธิสา
ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด