ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

Bangkok Pride Festival 2024 เสียงเรียกร้องความเท่าเทียมที่มีสีสัน


Lifestyle

14 มิ.ย. 67

สันทัด โพธิสา

Logo Thai PBS
แชร์

Bangkok Pride Festival 2024 เสียงเรียกร้องความเท่าเทียมที่มีสีสัน

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1283

 Bangkok Pride Festival 2024 เสียงเรียกร้องความเท่าเทียมที่มีสีสัน
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

เสาร์ที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ใจกลางกรุงเทพมหานคร มีสีสันขึ้นกว่าเดิม ด้วยขบวนพาเหรดของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่รวมตัวกันออกมาเดินขบวนพาเหรด ในชื่องาน Bangkok Pride Festival 2024 

นอกจากการถ่ายทอดสดผ่านช่องทางออนไลน์ของ Thai PBS ตลอด 5 ชั่วโมงเศษแล้ว ทีมงาน Thai PBS ยังตามไปสำรวจสีสันและความคึกคักภายในตัวงาน มากไปกว่านั้น คือการเข้าไปสัมผัสกับเสียงเรียกร้อง ทั้งเรื่องราวความเท่าเทียม และการได้รับยอมรับทางสังคมอีกด้วย

การรวมตัวของผู้คนอันหลากหลายนับหมื่นชีวิต

ก่อนขบวนพาเหรดจะเริ่มต้นขึ้น ผู้คนมากมายมารวมตัวกัน หลายกลุ่ม หลายองค์กร แต่มีความตั้งใจอันเป็นหนึ่งเดียว นั่นคือ การส่งเสียงถึงการมีตัวตนในสังคม พวกเขาและเธอรวมตัวกัน ณ สนามเทพหัสดิน สนามหญ้าสีเขียวจึงอบอวลไปด้วยสีสันและรอมยิ้มจากผู้คนหลากหลาย 

ขบวนพาเหรดของงานนี้ ประกอบไปด้วย 5 ขบวนหลัก มีผู้ร่วมขบวนหลักนับพันคน กับเส้นทางการเดินกว่า 2.5 กิโลเมตร จากหน้าสนามกีฬาแห่งชาติ ไปสิ้นสุดบริเวณลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ 

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ร่วมเปิดงาน

ราว 15.00 น. ขบวนพาเหรด ที่นำโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เริ่มต้นนำขบวนออกไป พร้อมกับวงโยธวาทิตที่ช่วยสร้างบรรยากาศให้งานคึกคัก ขบวนพาเหรดค่อย ๆ ทยอยเดินออกไป โดยใช้เวลาหลายชั่วโมง กว่าที่ขบวนหลักชุดที่สุดท้าย จะเคลื่อนออกจากสนามเทพหัสดินไป

บนเส้นทางสีรุ้งสวยงาม และเต็มไปด้วยความคึกคัก

ตลอดเส้นทางกว่า 2.5 กิโลเมตร ที่ขบวนพาเหรดเคลื่อนตัวไป ผู้คนสองข้างทางพากันหยุดยืนดู บ้างโบกมือทักทาย บ้างยกมือถือขึ้นมาบันทึกภาพกันเต็มพื้นที่ วันนี้มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมากเป็นพิเศษ หลาย ๆ คนส่งเสียงเชียร์ขบวนพาเหรดกันอย่างสนุกสนาน 

อีกหนึ่งไฮไลต์ที่สร้างความสนใจ นั่นคือ ขบวนรถแห่วงดนตรีหมอลำลูกทุ่งรุ่นใหม่ ที่นำสมาชิกในวงนับสิบชีวิต ขึ้นมาโชว์กันสด ๆ บนที่รถเคลื่อนไปตามทาง ทำเอาผู้คนข้างทางต้องขยับตัวโยกตามด้วยความสนุกสนาน ไม่เว้นแม้แต่ชาวต่างชาติที่ถึงจะไม่เข้าใจภาษา แต่จังหวะดนตรีสนุก ๆ งานนี้จึงทำให้ก้าวข้ามพรมแดนทางภาษากันไปเลย

สีสันความสนุกจากวงดนตรี

ผ้าสีรุ้งผืนใหญ่ในขบวนพาเหรด

อีกหนึ่งความอลังการ คือการนำผ้าหลากสีสันผืนใหญ่ เคลื่อนย้ายไปบนถนนพร้อมกับขบวนพาเหรด เป็นหนึ่งในอัตลักษณ์สำคัญ ที่สะท้อนความเป็นงานครั้งนี้ รวมถึงเจตนารมณ์ของผู้มาร่วมงาน

-ชมภาพงาน Bangkok Pride Festival 2024 อีกครั้ง

ในสีสัน ยังมีความหวังอีกมากมายซ่อนตัวอยู่

เพราะเป็นการรวมเอา “ความหลากหลาย” จึงทำให้เต็มไปด้วยความหวัง ความต้องการ หนึ่งในนั้น คือกลุ่มผู้มีเพศอันหลากหลายชาวเมียนมา พวกเธอมาพร้อมเสียงเรียกร้อง และป้ายข้อความที่อยากบอกกับทุก ๆ คน

“มันไม่ใช่แค่การเรียกร้องความหลากหลายทางเพศเท่านั้น แต่พวกเราอยากส่งเสียงเรื่องประชาธิปไตยที่อยากให้เกิดขึ้นในเมียนมาอีกด้วย” หนึ่งในสมาชิกชาวเมียนมากล่าว

กลุ่ม LGBT ชาวเมียนมา

ในสีสันและการได้แสดงออกซึ่งตัวตน พวกเธอบอกเพิ่มเติมด้วยว่า อยากให้ผู้มีเพศทางเลือกในเมียนมา ได้มีที่หยัดยืน และได้รับการยอมรับมากขึ้น

“สิ่งที่อยากได้จากงานนี้ เอาจริง ๆ เลย เราแค่อยากมีความสุข อยากมีความสนุกแบบนี้ และอยากมีรอมยิ้มให้เทียบเท่ากับกลุ่ม LGBT ของไทย”

ความเท่าเทียมที่ไม่ใช่แค่เพศสภาพ แต่ยังหมายรวมถึงทุกอาชีพ

ใน 5 ขบวนหลักของพาเหรด มีตัวแทนกลุ่มต่าง ๆ กว่า 100 กลุ่ม มีกลุ่ม Sex worker ที่รวมตัวกันมาเพื่องานครั้งนี้ด้วย

“พวกเราเป็นตัวแทนกลุ่ม Sex worker ที่พัทยา เรารวมตัวกันเป็นเครือข่าย เพื่อดูแลผู้มีอาชีพขายบริการด้วยกัน ซึ่งไม่ใช่แค่กลุ่ม LGBT แต่ยังรวมถึงผู้หญิง ผู้ชาย ที่มีอาชีพนี้ด้วย” หนึ่งในตัวแทนของกลุ่มเล่าให้ฟัง 

กลุ่ม Sex worker

การรวมตัวกันเดินพาเหรดครั้งนี้ ตัวแทนกลุ่ม Sex worker บอกว่า ไม่ได้ต้องการส่งเสริม แต่อยากให้รู้ว่าพวกเขาและเธอยังมีตัวตนอยู่ในสังคมเช่นกัน 

“สิ่งที่คาดหวังจากภาครัฐคือ กฎหมายแรงงานที่ครอบคลุมถึงอาชีพขายบริการ เราอยากให้รัฐช่วยดูแลสิทธิเรื่องสุขภาพ และที่สำคัญคือ การศึกษา อยากให้มีการส่งเสริมด้านการศึกษากับกลุ่มคนอาชีพนี้ เพราะเมื่อยามที่แก่ชราไป อย่างน้อยการศึกษาจะทำให้มีทางเลือกในการประกอบวิชาชีพอื่น ๆ ไม่เป็นภาระแก่สังคม”

นอกจากกลุ่ม Sex worker ยังมีตัวแทนจากกลุ่มชาติพันธุ์ ที่รวมตัวกันมาส่งเสียงเรียกร้องเรื่องความคืบหน้ากฎหมายแรงงาน เนื่องจากที่ผ่านมา กลุ่มผู้ใช้แรงงานที่เป็นคนชาติพันธุ์ ยังคงต้องการสิทธิการดูแล ทั้งเรื่องค่าแรง และสวัสดิการต่าง ๆ ซึ่งทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

“ความหลากหลายของงานวันนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องเพศสภาพ แต่ยังรวมถึงกลุ่มคนในสังคม ที่ยังมีอีกมากมายหลายกลุ่มที่ต้องการการช่วยเหลือ และความเท่าเทียม”

ถอยออกมาจากสีสัน ยังมีกลุ่มคนเบื้องหลังที่ทำให้งานราบรื่น

ในความรื่นเริง สนุกสนาน และไม่ปรากฏความรุนแรง หรือเหตุการณ์ไม่ปกติใด ๆ หากเหลียวมองไปรอบตัวงาน จะพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่วางกำลังดูแลความเรียบร้อย

“งานนี้เราใช้เจ้าหน้าที่จาก 4 บก. บก.ละ 170 นาย รวมแล้วราว 680 นาย กระจายตัวอยู่โดยรอบ ตั้งแต่สนามกีฬาแห่งชาติ ไปจนถึงลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์”

หน่วยพยาบาลที่ประจำอยู่ตามจุดต่างๆ

เจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่ง เล่าเพิ่มเติมว่า พวกเขาดูแลความสงบเรียบร้อย ตั้งแต่เวลา 14.00 น. ไปจนถึง 22.00 น. ซึ่งภาพรวมตั้งแต่เริ่มเปิดงานไปจนจบงาน มีความเรียบร้อยดี ซึ่งเรื่องนี้เรายังได้ไปสอบถามกับหน่วยแพทย์พยาบาล ถึงภาพรวมความปลอดภัยที่เกิดขึ้น

“เรามีจุดบริการด้านสุขภาพให้กับคนในงาน และผู้ป่วยฉุกเฉิน รวมกันทั้งหมด 5 จุด คือที่สนามกีฬาแห่งชาติ หน้าหอศิลป์ฯ กทม. ห้างฯ พารากอน หน้าวัดปทุมวนาราม และเซ็นทรัลเวิล์ด โดยภาพรวมไม่พบผู้ป่วยรุนแรง ส่วนใหญ่จะเข้ามาขอยาดม และอุปกณณ์อื่น ๆ ทั่วไป”

งานพาเหรดครั้งนี้ ยังมีเหล่าอาสาสมัครคอยอำนวยความสะดวก และช่วยเหลือ กรณีมีเหตุฉุกเฉิน กระจายตัวทั่วทั้งงานนับร้อยชีวิตอีกด้วย ซึ่งพวกเขาเล่าว่า ทั้งหมดมาร่วมงานด้วยใจ และอยากมีส่วนร่วมในการสร้างพลังดี ๆ กับสังคม

กลุุ่มอาสาสมัครของงาน

Bangkok Pride Festival ผ่านไปด้วยความเรียบร้อย ผู้คนนับหมื่นชีวิต ทั้งที่ก้าวเดินไปบนถนน และยืนดูตลอดสองข้างทาง พวกเขาต่างส่งสัญญาณถึงความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นความเสมอภาค การมีตัวตน หรือการปลดล็อคทางกฎหมายใด ๆ 

แต่เหนือสิ่งอื่นใด ในสีสันที่เห็นเหล่านี้ คือการเปิดกว้าง และรับรู้ในเรื่องราวความหลากหลาย ที่จะทำให้ผู้คนในสังคมแห่งนี้ อยู่ร่วมกันด้วยความเคารพ ตลอดจนช่วยเหลือซึ่งกันและกันต่อไป...

ภาพถ่าย โดย สุภณัฐ รัตนธนาประสาน 

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง 
-LGBT+ โลกนี้มีความหลากหลายมากกว่าชาย-หญิง 
-สิทธิควรรู้ "สมรสเท่าเทียม" ช่วยคู่รัก LGBTQIA+ อะไรบ้าง ? 
-เปิดโผ 30 ประเทศทั่วโลก รองรับเพศเดียวกันแต่งงานถูกกฎหมาย 
-ผู้นำประเทศที่เปิดตัวเป็น LGBT และการส่งเสริมความเท่าเทียม 
 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Bangkok Pride Festival 2024งานไพร์ดพาเหรดPride Month LGBTQIAN+ความหลากหลายทางเพศความเท่าเทียม
สันทัด โพธิสา
ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด