“ร้อนแล้ว ร้อนอยู่ ร้อนต่อ” แนะนำคนทำงานวิธีรับมือ “ความร้อน” เพื่อให้ร่างกายปลอดภัย


Thai PBS Care

1 พ.ค. 66

สันทัด โพธิสา

Logo Thai PBS
“ร้อนแล้ว ร้อนอยู่ ร้อนต่อ” แนะนำคนทำงานวิธีรับมือ “ความร้อน” เพื่อให้ร่างกายปลอดภัย

“ความร้อน” พูดเบา ๆ เหงื่อก็แทบหยด ปีนี้ประเทศไทยมีอุณหภูมิในช่วงหน้าร้อนที่สูงแตะหลัก 40 องศา แน่นอนว่า ความร้อนขนาดนี้ ไม่เป็นผลดี และส่งผลต่อเราทุก ๆ คน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องประกอบอาชีพอยู่กลางแจ้ง ผู้ใช้แรงงาน คนทำงานที่ต้องอยู่ในสถานที่ที่ปิดอับ หรือแม้แต่สถานที่ที่มีอุณหภูมิสูง ทั้งหมดมีความเสี่ยงต่อสุขภาพร่างกาย ส่วนหนึ่งอาจมีผลทำให้เกิดภาวะฮีทสโตรก หรือโรคลมแดด เป็นอันตรายถึงชีวิต รวมไปถึงอาการไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ อีกมากมาย 

ไทยพีบีเอสมีบทความที่ช่วยให้รู้และเข้าใจ รวมถึงข้อแนะนำเพื่อรับมือกับ “ความร้อน” มาให้ทราบกัน...

ทำความเข้าใจ “ความร้อน”

ความร้อนเป็นพลังงานรูปหนึ่งที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์ทั้งในชีวิตประจำวันและในการทำงาน พลังความร้อนที่อยู่ในวัตถุจะอยู่ในรูปของพลังงานจลน์ รวมทั้งยังสามารถเปลี่ยนกลับเป็นพลังงานรูปอื่นได้ นอกจากนี้ความร้อนยังสามารถถ่ายเทระหว่างวัตถุได้ ทั้งในรูปแบบของการแผ่รังสี การนำความร้อน และการพาความร้อน

“ความร้อน” แบบไหนที่ส่งผลต่อร่างกาย

ร่างกายของมนุษย์มีอุณหภูมิปกติอยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส หรือ 98.6 องศาฟาเรนไฮต์ โดยปกติอุณหภูมิในร่างกายมนุษย์จะต้องสูงกว่าอุณหภูมิรอบข้าง เพื่อให้ความร้อนสามารถระบายออกจากร่างกายได้ แต่เมื่อไรที่อุณหภูมิภายนอกสูงกว่าภายในร่างกาย ร่างกายจะเริ่มเข้าสู่ภาวะ “ตัวร้อนเกิน” หรือเรียกว่าภาวะ hyperthermia 

ปัญหานี้มักเกิดขึ้นในคนทำงานที่ต้องทำงานในสถานที่ที่มีอุณหภูมิสูง ซึ่งจะส่งผลให้การระบายความร้อนจากภายในเป็นไปได้ยากกว่า มากไปกว่านั้น ความร้อนจากบรรยากาศภายนอก กลับถูกพาเข้าสู่ร่างกาย 

ยิ่งถ้าความร้อนทะลุไปถึง 40 องศาเซลเซียส ร่างกายจะเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่า Heat Stress ซึ่งเป็นภาวะที่ระบบประสาทและอวัยวะภายในเริ่มรวน และจะนำไปสู่ภาวะ Heat Stroke หรือภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายได้ ผลกระทบที่ตามมาคือ ร่างกายมีลักษณะซีดเผือด หัวใจทำงานเกินขีดจำกัด นำไปสู่ภาวะหัวใจและอวัยวะภายในล้มเหลว จนถึงแก่ชีวิตได้

อาชีพแบบไหนที่เสี่ยงต่อการเผชิญ “ความร้อน” ที่สูงเกินไป

อุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลต่อผู้คนในทุก ๆ อาชีพ แต่สำหรับกลุ่มคนที่มีอาชีพที่ “ต้องอยู่กับความร้อน” เป็นประจำ อาทิ เกษตรกร คนงานก่อสร้าง พ่อครัว-แม่ครัว พ่อค้า-แม่ค้าร้านอาหารริมทาง พนักงานเดินสายไฟ และสายอินเทอร์เนต พนักงานทำความสะอาดถนน มอเตอร์ไซค์รับจ้าง-พนักงานรับส่งอาหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร และกลุ่มพนักงานโรงงาน ทั้งหมดยิ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาทางทางสุขภาพได้มากกว่ากลุ่มอื่นๆ 

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคจากคลื่นความร้อนได้ง่าย ได้แก่ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีและผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง รวมไปถึงคนอ้วน ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ และผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ กลุ่มคนเหล่านี้พึงระวังผลกระทบจากความร้อนสูง เนื่องจากอาจก่อให้เกิดโรคจากความร้อน และเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

กฎหมายควบคุมอาชีพเกี่ยวกับ “ความร้อน”

ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวง ว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับความร้อน แสงสว่าง และเสียง ปี พ.ศ.2559 โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับเรื่องความร้อน ไว้ดังนี้...

  • งานที่ลูกจ้างทำในลักษณะงานเบา ต้องมีมาตรฐานระดับความร้อนไม่เกินค่าเฉลี่ยอุณหภูมิ 34 องศาเซลเซียส
  • งานที่ลูกจ้างทำในลักษณะงานปานกลาง ต้องมีมาตรฐานระดับความร้อนไม่เกินค่าเฉลี่ยอุณหภูมิ 32 องศาเซลเซียส
  • งานที่ลูกจ้างทำในลักษณะงานหนัก ต้องมีมาตรฐานระดับความร้อนไม่เกินค่าเฉลี่ยอุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส 

(หมายเหตุ:  “งานเบา” หมายถึง ลักษณะงานที่ใช้แรงน้อยหรือใช้กําลังงานที่ทําให้เกิดการเผาผลาญอาหารในร่างกายไม่เกิน 200 กิโลแคลอรีต่อชั่วโมง เช่น งานเขียนหนังสือ งานพิมพ์ดีด งานบันทึกข้อมูล 
“งานปานกลาง” หมายถึง ลักษณะงานที่ใช้แรงปานกลางหรือใช้กําลังงานที่ทําให้เกิดการเผาผลาญอาหารในร่างกายเกิน 200 กิโลแคลอรีต่อชั่วโมง ถึง 350 กิโลแคลอรีต่อชั่วโมง เช่น งานยก ลาก ดัน หรือเคลื่อนย้ายสิ่งของด้วยแรงปานกลาง งานตอกตะปู งานตะไบ งานขับรถบรรทุก งานขับรถแทรกเตอร์
“งานหนัก” หมายถึง ลักษณะงานที่ใช้แรงมากหรือใช้กําลังงานที่ทําให้เกิดการเผาผลาญอาหารในร่างกายเกิน 350 กิโลแคลอรีต่อชั่วโมง เช่น งานที่ใช้พลั่วตัก งานขุด งานเลื่อยไม้ งานเจาะไม้เนื้อแข็ง งานทุบโดยใช้ค้อนขนาดใหญ่ งานยก หรือเคลื่อนย้ายของหนักขึ้นที่สูงหรือที่ลาดชัน)

ในกรณีที่สถานประกอบการมีแหล่งความร้อนที่อาจเป็นอันตราย ให้นายจ้างติดป้าย หรือประกาศเตือน เพื่อให้ลูกจ้างมองเห็นได้ชัดเจน และในกรณีที่สถานประกอบการมีระดับความร้อนเกินมาตรฐาน ให้นายจ้างดำเนินการปรับปรุงหรือแก้ไขสภาวะการทำงานด้านวิศวกรรมเพื่อควบคุมระดับความร้อน ให้เป็นไปตามมาตรฐาน 

หรือหากไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามกฎควบคุมได้ ให้นายจ้างจัดให้มีมาตรการควบคุม หรือลดภาระงาน และต้องจัดให้ลูกจ้างสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลตลอดเวลาที่ทำงานด้วย

วิธีลดความเสี่ยงการทำงานในที่อุณหภูมิสูง

เมื่อต้องทำงานอยู่กับความร้อน นอกจากจะต้องพึงรู้ตัวเองอยู่เสมอ และต้องคอยสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย การมีตัวช่วยที่ทำให้ร่างกายได้ “หลบเลี่ยงจากความร้อน” ถือเป็นสิ่งจำเป็น โดยมีข้อแนะนำดังนี้

  • ดื่มน้ำให้มาก ทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่เสียไปทางเหงื่อ
  • ใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ลดการดูดซับความร้อน รวมถึงสวมเสื้อผ้าหลวม ๆ เพื่อให้เหงื่อระเหยง่ายขึ้น
  • สวมหมวกปีกกว้าง ช่วยป้องกันแสงแดด
  • จัดหาสถานที่ที่มีร่มเงา หรือที่มีอากาศเย็นเพื่อหลบเลี่ยงความร้อน
  • จัดให้มีเวลาพักที่ถี่ขึ้น เพื่อคลายความร้อน

ดูวิธีช่วยคลายร้อน 

ปัญหาสภาพอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้เกิด “ความร้อน” สูงขึ้นทุกขณะ นอกจากเราจะต้องหันมาดูแลเอาใจใส่ใจร่างกายให้ปลอดภัยกันแล้ว การหวนกลับมาใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่ทุกคนควรตระหนักและให้ความสำคัญ ก่อนที่ความผันผวนเหล่านี้จะส่งผลต่อชีวิตพวกเรามากขึ้นในอนาคต

แหล่งข้อมูล
-กระทรวงแรงงาน www.mol.go.th 
-สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) www.tosh.or.th
-กรมการแพทย์
-กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

อุณหภูมิสูงคนทำงานหน้าร้อนฤดูร้อนอากาศร้อน
สันทัด โพธิสา
ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน

บทความ NOW แนะนำ