ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“วัณโรค” ความตายสีขาวที่หลายคนมองข้าม


Logo Thai PBS
แชร์

“วัณโรค” ความตายสีขาวที่หลายคนมองข้าม

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1374

“วัณโรค” ความตายสีขาวที่หลายคนมองข้าม
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

“วัณโรค” หนึ่งในเชื้อโรคที่แฝงตัวอยู่กับมนุษยชาติมาอย่างยาวนาน สังคมมนุษย์อยู่กับโรคนี้มาอย่างยาวนานจนหลาย ๆ คนลืมไปแล้วว่าโรคนี้คือโรคที่คร่าชีวิตมนุษย์ในปีหนึ่งหนึ่งมากกว่าหนึ่งล้านคน และเป็นหนึ่งในโรคที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลก อะไรทำให้โรคนี้ยังคงอยู่แฝงตัวอยู่กับมนุษย์ได้อย่างยาวนาน และกลไกอะไรทำให้มันยังสามารถแพร่กระจายและแฝงตัวอยู่ในสังคมมนุษย์ได้โดยที่ไม่มีใครสังเกต บทความนี้จะพาไปสำรวจถึงความอันตรายของโรคและสาเหตุที่ทำให้ผู้คนมองข้ามความอันตรายของโรคนี้

วัณโรค หรือ Tuberculosis (TB) เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis เชื้อวัณโรคเป็นหนึ่งในเชื้อโรคที่แฝงตัวอยู่กับมนุษยชาติมาอย่างยาวนาน เชื้อนี้มีความพิเศษในการแพร่ระบาดช้าและสามารถหลอกภูมิคุ้มกันของร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากโดยที่ไม่แสดงอาการ

ภาพเอกซเรย์ปอดของผู้ป่วยติดเชื้อวัณโรคปิด แสดงให้เห็นจุดสีขาวกระจายตัวทั่วทั้งปอด ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของป่วยวัณโรค

เชื้อ Mycobacterium tuberculosis เป็นเชื้อแบคทีเรียรูปแท่ง (rod-shaped bacterium) ที่ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ แบคทีเรียชนิดนี้มีผนังเซลล์ที่หนาและประกอบด้วยไขมันและกรดไมโคลิก (mycolic acid) จำนวนมาก ซึ่งทำให้มันทนทานต่อสารเคมีและยาปฏิชีวนะหลายชนิดและช่วยให้เชื้อสามารถหลบเลี่ยงการถูกทำลายโดยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย อีกทั้งมีอัตราการเจริญเติบโตที่ช้า ใช้เวลาประมาณ 15-24 ชั่วโมงต่อรอบการแบ่งตัว ต่างจากเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่น ๆ เช่น Escherichia coli (E.coli) ที่มีรอบการแบ่งตัวทุก ๆ 20-30 นาที นั่นหมายความว่าร่างกายจะกำจัดเชื้อวัณโรคได้ค่อนข้างช้า

เชื้อวัณโรคแพร่กระจายผ่านทางอากาศ เมื่อผู้ป่วยที่มีเชื้อในปอดไอ จาม หรือพูด เชื้อจะแพร่กระจายผ่านทางละอองฝอย หลังจากที่เชื้อเข้าสู่ร่างกาย มันจะถูกจับโดยเซลล์แมคโครฟาจ (เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง) ในปอด จากนั้นมันจะแฝงตัวเข้าไปและเปลี่ยนเซลล์แมคโครฟาจให้กลายสภาพเปรียบเทียบได้กับซอมบี้ และค่อย ๆ กัดกินเซลล์จากข้างใน

การหลบซ่อนตัวของเชื้อวัณโรคนั้นนับได้ว่าชาญฉลาดมาก เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่งที่ร่างกายของเราไม่สามารถหาทางกำจัดเชื้อแบคทีเรียและเซลล์ที่ติดเชื้อเหล่านั้นได้ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะสร้างถุงห่อหุ้มเชื้อโรคไว้ เป็นก้อนเนื้อเยื่ออักเสบที่อยู่ภายในปอดที่เรียกว่า Granuloma ซึ่งในช่วงนี้เราจะเรียกว่า ระยะการติดเชื้อวัณโรคแฝง (Latent Tuberculosis Infection หรือ LTBI)

ในระยะที่เรียกว่าวัณโรคแฝงนี้ เชื้อวัณโรคจะไม่สามารถทำลายเซลล์ต่าง ๆ ภายในร่างกายเพิ่มเติมได้ ร่างกายของผู้ป่วยจะอยู่สภาพปกติคือไม่มีอาการที่แสดงออกใด ๆ ไม่มีการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น และต่อให้ตรวจปอดผ่านการเอกซเรย์ก็ยากที่จะระบุความผิดปกติที่เกิดจากการติดเชื้อได้ ในระยะนี้มีโอกาสสูงที่เชื้อจะไม่แสดงอาการตลอดชีวิต อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยหลายประการที่อาจทำให้เชื้อวัณโรคแฝงกลายเป็นวัณโรคที่แสดงอาการได้ ทั้งการที่ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงจากการที่ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ติดเชื้อ HIV ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ยาสเตียรอยด์หรือยาต้านการอักเสบอื่น ๆ ผู้สูงอายุผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไตวายเรื้อรัง หรือแม้แต่ผู้ที่มีภาวะเครียดเรื้อรัง ก็ล้วนเป็นสาเหตุที่จะทำให้สามารถเข้าสู่ระยะวัณโรคที่แสดงอาการได้

เมื่อเข้าสู่ระยะที่แสดงอาการของโรค ผู้ป่วยจะมีอาการที่หลากหลาย ไม่ชัดเจน แต่อาจมีอาการที่บ่งบอกได้ดังนี้ 
- ไอเรื้อรังเกิน 3 สัปดาห์
- ไอเป็นเลือดหรือมีเสมหะปนเลือด
- เหนื่อยง่าย หายใจติดขัด
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- มีไข้สูงในช่วงเย็นหรือกลางคืน เหงื่อออกมากในเวลากลางคืน

การวินิจฉัยวัณโรคสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การตรวจเสมหะ การถ่ายภาพรังสีเอกซ์ และการทดสอบทางผิวหนัง (Tuberculin Skin Test) การถ่ายภาพรังสีเอกซ์สามารถแสดงให้เห็นถึงลักษณะของปอดที่มีจุดสีขาว ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายจากเชื้อวัณโรค และภาพสีขาวในปอดที่ถูกทำลายทำให้เราเรียกโรคชนิดนี้ว่า “ความตายสีขาว”

ภาพวาดชื่อ La Miseria ถูกวาดโดย Cristóbal Rojas ในปี 1886 ซึ่งช่วงที่เขาวาดภาพนี้เป็นช่วงที่เขาป่วยเป็นวัณโรคและกำลังพักรักษาตัวอยู่ ซึ่งภาพแสดงให้เห็นถึงความยากลำบากและแง่มุมทางสังคมของผู้ป่วยวัณโรค

การควบคุมและป้องกันวัณโรคเป็นเรื่องที่ยาก ลักษณะการแพร่กระจายของวัณโรคนั้นสอดคล้องกับวิถีชีวิตของมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันในสังคม อีกทั้งอาการของวัณโรคนั้นมีการแสดงอาการที่ไม่แน่นอน ทำให้เชื้อสามารถแพร่กระจายไปได้นานและไกล แตกต่างจากโรคชนิดอื่น ๆ ที่มีระยะการแพร่กระจายที่รวดเร็วและมีอาการที่รุนแรง เช่น กาฬโรค และโรคโควิด-19 ที่เมื่อแพร่ระบาดเร็ว อาการรุนแรง สังคมก็ย่อมตอบสนองต่อโรคนี้อย่างรวดเร็ว

ในปัจจุบันมีการคาดการณ์ว่ามีผู้ติดเชื้อวัณโรคโดยอยู่ในระยะวัณโรคแฝงที่ประมาณ 2 พันล้านคน และ 1 ใน 10 ของผู้ติดเชื้อในปัจจุบันอยู่ในระยะแสดงอาการ และมีคนตายด้วยโรคนี้ในทุก ๆ วัน เฉลี่ยวันละ 4,000 คน ในปี 2023 ที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อวัณโรคไปมากกว่า 1.8 ล้านคน

การตอบสนองต่อวัณโรคนั้นแตกต่างจากโรคอื่นเพราะว่าโรคนี้มีการแพร่ระบาดที่ช้า และการรักษาก็ช้าด้วยเช่นเดียวกัน การรักษาวัณโรคส่วนใหญ่ใช้ยาปฏิชีวนะที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อ ซึ่งการรักษามักจะใช้เวลาที่ยาวนาน 6-9 เดือน การหยุดยากลางคันหรือไม่ทำตามคำแนะนำของแพทย์อาจทำให้เกิดการดื้อยา อีกทั้งระหว่างทำการรักษาผู้ป่วยต้องหลีกเลี่ยงการเข้าสังคมเพื่อทำการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อ

แต่การรักษาวัณโรคก็กำลังประสบกับความท้าทายอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเชื้อวัณโรคมีการกลายพันธุ์และเกิดการดื้อยาเกิดขึ้น ทำให้ยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษานั้นมีประสิทธิภาพลดลง อีกทั้งยังประสบปัญหาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมที่ผู้ป่วยยากต่อการเข้าถึงการรักษา ผู้ป่วยขาดโอกาสในอาชีพระหว่างการรักษาและควบคุมโรคที่ยาวนาน ยังรวมไปถึงการขาดความตระหนักรู้เกี่ยวกับระบาดวิทยาของโรค

ภาพถ่ายจากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนของเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis ที่มีลักษณะสีขาวทรงกระบอก

ครั้งหนึ่งวัณโรคนั้นแพร่กระจายครอบคลุมทั่วทั้งโลก แต่ด้วยความร่วมมือและให้ความรู้กับภาคประชาชนทำให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโลกในหลาย ๆ ภูมิภาคได้ ทั้งใน ทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปยุโรป ภูมิภาคตะวันออกกลาง และในทวีปออสเตรเลีย แต่ถึงกระนั้นในปัจจุบันเชื้อวัณโรคปอดก็ยังคงมีอยู่และแพร่ระบาดอยู่ในหลายภูมิภาค ทั้งใน ทวีปแอฟริกา ทวีปอเมริกาใต้ และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ถึงแม้ว่าวัณโรคจะเป็นโรคที่อันตรายและใช้ระยะเวลาในการรักษาที่ยาวนาน แต่มันก็เป็นโรคที่รักษาหายขาดได้และเป็นไปได้ว่ามนุษย์จะสามารถกำจัดโรคนี้ให้หายไปจากโลกใบนี้ได้เหมือนที่เราเคยทำกับเชื้อกาฬโรค ผ่านการให้ความรู้และความตระหนักถึงการระบาดของโรคกับภาคประชาชน การลงทุนในระบบสาธารณสุขเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด และส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีน BCG (Bacillus Calmette-Guérin) ซึ่งเป็นวัคซีนที่ใช้กันแพร่หลายในการป้องกันวัณโรค มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคในเด็ก ทำให้เด็กที่เติบโตมามีภูมิคุ้มกันที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันวัณโรค และนั่นจะทำให้ในวันหนึ่งเราสามารถทำให้เชื้อโรคชนิดนี้หายไปจากโลกนี้ได้เหมือนกับที่เราเคยทำกันมา

เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

ที่มาข้อมูล : youtube, en.wikipedia, moph


“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

วัณโรควิทยาศาสตร์Thai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Science
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด