ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เผยเหตุทำไมต้อง “ลอบสังหาร” ?


Insight

16 ก.ค. 67

อธิเจต มงคลโสฬศ

Logo Thai PBS
แชร์

เผยเหตุทำไมต้อง “ลอบสังหาร” ?

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1395

เผยเหตุทำไมต้อง “ลอบสังหาร” ?
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

จากเหตุลอบสังหารโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) อดีตประธานาธิบดี และผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ฯ ถือเป็นอีกเหตุลอบสังหารผู้นำ หรือบุคคลทรงอิทธิพลของโลก

การก่อเหตุย่อมมีที่มาที่อยู่เบื้องหลัง Thai PBS เปิดงานวิจัย ผลจากการศึกษาที่ชื่อ Assassination in the United States: An Operational Study of Recent Assassins, Attackers, and Near-Lethal Approachers หรือ การลอบสังหารในสหรัฐฯ : การศึกษาวิธีการของนักสังหาร. มือลอบทำร้าย และผู้ที่มีแนวโน้มใช้ความรุนแรง ในปี 1999 ที่อ้างอิงงานวิชาการที่เกี่ยวกับการทำความเข้าใจพฤติกรรมการลอบสังหาร โดยมีการแบ่งแรงจูงใจ (Motive) ที่อยู่เบื้องหลังไว้ และต่อไปนี้คือแรงจูงใจกับเหตุลอบสังหารคนดังในหน้าประวัติศาสตร์ที่มีการเปิดเผยออกมา

1. อยากมีชื่อเสียง ต้องการเป็นที่จดจำ 

ความอยากมีชื่อเสียง อยากเป็นที่จดจำ เป็นแรงจูงใจหนึ่งในการก่อเหตุลอบสังหารบุคคลมีชื่อเสียง กรณีหนึ่งที่โด่งดังคือ การสังหารจอห์น เลนนอน (John Lennon) ศิลปินดนตรีชื่อดัง ที่ในช่วงเวลานั้น ย้อนกลับไปในปี 1980 จอห์น เลนนอน ถือเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ต่อยอดความสำเร็จมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่เป็นสมาชิกวงเดอะ บีทเบิลส์ (The Beatles)

ทว่าปีนั้นเองที่เกิดเหตุลอบสังหารขึ้น ภายหลังจากมือสังหารติดคุกยาวนานหลายปี เขาได้มีโอกาสให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวแห่งหนึ่ง และได้เผยแรงจูงใจของตนเองว่า “ผมรู้ว่าผมกำลังจะทำอะไร ผมรู้ว่ามันชั่วร้าย รู้ว่ามันผิด แต่ผมอยากจะมีชื่อเสียง อยากมีตัวตน มากพอที่ผมจะทิ้งทุกอย่างและเอาชีวิตใครสักคน”

และด้วยเหตุผลของการอยากเป็นที่จดจำนี้เอง หลายเหตุรุนแรง ไม่ใช่เพียงลอบสังหาร แต่รวมถึงเหตุกราดยิงที่ส่งผลต่อชีวิตคนมากมายด้วย ทำให้ในปี 2019 หลังเหตุกราดยิงที่มัสยิด 2 แห่ง ที่นครไครสต์เชิร์ช นิวซีแลนด์ จาซินดา อาเดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ก็ได้เรียกร้องให้ทุกคนเลิกเอ่ยชื่อคนร้าย เพื่อไม่ให้คนร้ายเป็นที่จดจำ

John Lennon

2. เพื่อระบายความแค้น

แรงจูงใจของการแก้แค้น ระบายความแค้นต่อผู้ที่ตัวเองมองว่ามีส่วนผิด (to avenge a perceived wrong) เกิดในกรณีการลอบสังหารอดีตผู้นำญี่ปุ่น ชินโสะ อาเบะ (Shinzo Abe)

ที่คนร้ายเผยในเภายหลังว่า ต้องการแก้แค้นองค์กรทางศาสนาที่ชื่อว่า โบสถ์แห่งความสามัคคี (Unification Church) เนื่องจากแม่ของคนร้ายได้บริจาคเงินให้กับองค์กรดังกล่าวไปมากกว่า 100 ล้านเยน (ประมาณ 26 ล้านบาท) จนถึงขั้นล้มละลาย และคิดว่าชินโสะ อาเบะมีความเกี่ยวข้องกับองค์กรศาสนาดังกล่าว

ในเวลาต่อมาจึงมีการตรวจสอบความสัมพันธ์ของนักการเมืองและองค์กรศาสนามากขึ้น ซึ่งชินโสะ อาเบะไม่ได้เป็นสมาชิกองค์กร แต่เคยขึ้นพูดในงานเกี่ยวกับสันติภาพที่องค์กรนี้จัดขึ้นเท่านั้น จากเหตุการณ์นี้ทำให้ชาวญี่ปุ่นสนับสนุนนักการเมืองเปิดเผยความสัมพันธ์กับองค์กรทางศาสนามากถึง 80.6 %

Shinzo Abe

3. เพื่ออุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมืองเป็นอีกแรงจูงใจสำคัญ การลอบสังหารทางการเมืองครั้งสำคัญหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ คงหนีไม่พ้นการลอบสังหารอับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) ประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐฯ โดยผู้ก่อเหตุคือ “จอห์น วิลค์ส บูธ” (John Wilkes Booth) นักแสดงละครเวที ได้ก่อเหตุระหว่างที่ลินคอร์นกำลังชมละครเวทีเรื่อง Our American Cousin ที่โรงละครฟอร์ด ในวอชิงตัน ดีซี

โดยแรงจูงใจของเขา มีอยู่ 2 ทฤษฎีหลัก ๆ หนึ่งคือเพื่อล้างแค้นใหกับฝ่ายใต้ จากผลของสงครามกลางเมือง (Civil war) แต่อีกมูลเหตุคือ เหตุผลทางการเมืองที่ต้องการให้สหรัฐฯ ยังคงมีทาสเป็นคนผิวสีไว้

ซึ่งการลงมือลอบสังหารครั้งนี้มีการทำเป็นกระบวนการ มีผู้ช่วยหลบหนี มีผู้สมรู้ร่วมคิด โดยผู้ก่อเหตุมีสถานะเป็นสมาชิกพรรค Know-Noting Party พรรคการเมืองหัวรุนแรงที่ภายหลังกลายเป็นกลุ่ม Ku Klux Klan หรือ KKK ลัทธิเหยียดผิวนั่นเอง นอกจากนี้ เขายังเคยเข้าร่วมกองกำลังอาสาสมัครเวอร์จิเนีย ซึ่งเป็นกองกำลังปราบปรามกบฏจอห์น บราวด์ ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อการเลิกทาสโดยใช้ความรุนแรงในสหรัฐฯ

แรงจูงใจหนึ่งของเขาจึงเป็นอุดมการณ์ทางการเมือง การที่ลินคอล์นเป็นผู้ประกาศเลิกทาสจึงเป็นเป้าหมายของอุดมการณ์ทางการเมืองที่จะให้ยังคงมีทาสผิวสีเอาไว้ ทว่าถึงตอนนี้การลอบสังหารของเขาก็ไม่สามารถหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นได้

Abraham Lincoln

4. ความเชื่อส่วนบุคคล

การลอบสังหารบุคคลสำคัญมักเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลทางการเมือง แรงจูงใจจากความเชื่อส่วนบุคคลที่ต้องการจะช่วยประเทศชาติให้ดีขึ้น หรือช่วยโลกตามความเข้าใจของตัวเองจึงเป็นอีกสิ่งที่เกิดขึ้น แรงจูงใจลักษณะนี้มักมาจากความเชื่อ เช่น เชื่อว่าบุคคลสำคัญที่เป็นเป้าหมายนั้นคือซาตาน และพระเจ้าส่งคนผู้นั้นมาเพื่อช่วยโลกไว้

กรณีที่ทำให้คนทั่วโลกตะลึงกับแรงจูงใจในลักษณะนี้คือ การลอบสังหารมหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi) นักต่อสู้ผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งสันติวิธีชาวอินเดีย หลังการต่อสู้ด้วยสันติวิธีมาอย่างยาวนานจนทำให้อินเดียได้เอกราชมาเพียง 6 เดือน การสังหารก็เกิดขึ้น โดยผู้ลงมือก่อเหตุคือ นถุราม โคดเส (Nathuram Godse) 

นถุราม โคดเส ได้กล่าวถึงเหตุผลในชั้นสืบสวนว่า เขาทำเพื่อประเทศชาติโดยบอกว่า นโยบายของอินเดียหากไม่มีคานธีแล้วจะสามารถบังคับใช้กฎหมายได้มากขึ้น และสามารถใช้อาวุธเพื่อหยุดยั้งความวุ่นวายที่อาจเกิดในอนาคตได้ และประเทศชาติจะรอดพ้นจากการรุกรานของปากีสถานได้

การลอบสังหารดังกล่าวสะท้อนถึงความขัดแย้งของศาสนาภายในประเทศอินเดียอย่างชัดเจน โดยคานธีมีความพยายามที่จะทำให้เกิดการอยู่ร่วมกันของมุสลิมและฮินดู จนถึงปัจจุบันความขัดแย้งด้านศาสนาก็ยังคงอยู่ แต่แนวทางการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิแบบสันติวิธี หรือ สัตยาเคราะห์ ถูกส่งต่อไปสู่ผู้คนทั่วโลก

Mahatma Gandhi

นอกจากแรงจูงใจหลัก ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว หลายครั้งเหตุลอบสังหารเบื้องหลังยังคงดำมืด ดังกรณีล่าสุดของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มือสังหารเสียชีวิตไปแล้ว ความจริงเบื้องหลังจึงยังคงเป็นทฤษฎีที่หาคำตอบชัดเจนได้ยาก 

นอกจากนี้ กรณีหนึ่งที่ยังคงเป็นปริศนา หลายฝ่ายต่างไม่เชื่อในสิ่งที่เกิดขึ้น และยังคงไม่รู้ว่าเบื้องหลังแท้จริงแล้วคืออะไร นั่นคือการลอบสังหารจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ (John F. Kennedy)

ผู้ที่ถูกจับกุมคือ ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ (Lee Harvey Oswald) อดีตนาวิกโยธินสหรัฐฯ โดยเขาปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาพร้อมยืนยันว่าตนคือแพะรับบาป และในอีกเพียง 2 วันถัดมา เขาก็ถูกลอบสังหารระหว่างการย้ายตัวไปคุมขัง แจ็ค รูบี (Jack Ruby) ผู้ลงมือสารภาพเพียงว่าต้องการล้างแค้นให้กับประธานาธิบดีผู้จากไป แต่ภายหลังกลับมีกระแสข่าวความสัมพันธ์ของแจ็คกับกลุ่มมาเฟีย และยังพบข้อมูลการเป็นอดีตนาวิกโยธิน เขาเสียชีวิตในอีกไม่กี่ปีต่อมาเท่านั้น และได้ทิ้งปริศนาชิ้นใหญ่ไว้เบื้องหลัง

มีการตั้งคณะกรรมสืบสวนที่ท้ายที่สุดปิดฉากลงด้วยคำตอบเดิมคือลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์คือคนร้าย ทิ้งเป็นทฤษฎีสมคบคิดมากมายที่มองว่า จอห์น เอฟ. เคนเนดี เป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ที่น่าจับตา มากความสามารถ และอาจทำให้หลายฝ่ายเสียผลประโยชน์ไป

John F. Kennedy

เหตุการณ์ลอบสังหารบุคคลผู้มีอิทธิพลทั้งชื่อเสียง และอำนาจทางการเมือง มีเหตุผลแรงจูงใจในแต่ละกรณี เชื่อมโยงกับเป้าหมายที่แตกต่างกันไป ความรุนแรงที่เกิดขึ้นหลายครั้งนำมาซึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่มนุษย์เราต่างเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นบทเรียนเพื่อป้องกันเหตุร้ายที่อาจเกิด หรือเรียนรู้เรื่องราวเบื้องหลังการจากไปที่ได้ทิ้งแนวคิดสำคัญบางอย่างเอาไว้

อ้างอิง
John Wilkes Booth
Assassination in the United States: An Operational Study of Recent Assassins, Attackers, and Near-Lethal Approachers
Celebrity Stalking, Homicide, and Suicide: A Psychological Autopsy
Nathuram Godse: Know Why He Killed Mahatma Gandhi
จอห์น เอฟ. เคนเนดี กับทฤษฎีกระสุนนัดเดียว และหลายข้อสงสัยในคดีลอบสังหารแห่งประวัติศาสตร์

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ลอบสังหารจอห์น เอฟ. เคนเนดี้มหาตมะ คานธีอับราฮัม ลินคอล์นชินโสะ อาเบะจอห์น เลนนอนโดนัล ทรัมป์ผู้นำระดับโลก
อธิเจต มงคลโสฬศ
ผู้เขียน: อธิเจต มงคลโสฬศ

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส สนใจเนื้อหาด้านสุขภาพจิต สาธารณสุข และความยั่งยืน รวมถึงประเด็นทันกระแสที่มีแง่มุมน่าสนใจซ่อนอยู่

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด