NASA กำลังหาวิธีการและแนวคิดใหม่ ๆ ในการพัฒนาโครงสร้างที่อยู่อาศัยระยะยาวสำหรับโครงการสำรวจดวงจันทร์และดาวอังคาร หนึ่งในแนวคิดที่น่าสนใจคือการเพาะเชื้อราขึ้นมาเพื่อนำมาใช้เป็นวัสดุก่อสร้าง ที่แปลกและแหวกแนวจากแนวคิดการสร้างสิ่งปลูกสร้างทั่วไป
เราอาจจะเคยได้ยินเรื่องโครงการวิจัยวัสดุสิ่งปลูกสร้างสำหรับโครงการการอยู่อาศัยระยะยาวบนดวงจันทร์ของ NASA ที่มีการนำดินบนดวงจันทร์มาก่อสร้างเป็นอาคารสำหรับการอยู่อาศัยของนักบินอวกาศ แต่อาคารที่ทึบแสงที่รูปทรงคล้ายกับพื้นผิวของดวงจันทร์ไปทั้งหมดนี้อาจจะดูน่าเบื่อ โครงการวิจัยของ NASA Ames Research Center จึงกำลังทำงานวิจัยการพัฒนาวัสดุก่อสร้างจากการเชื้อราเพื่อนำมาใช้ในการสร้างสิ่งปลูกสร้างในอวกาศ
โครงการนำเชื้อรามาสร้างวัสดุก่อสร้างสำหรับสถานีอวกาศชื่อ Mycotecture เป็นโครงการที่ใช้ประโยชน์จากเชื้อราให้เติบโตและกลายสภาพเป็นวัสดุก่อสร้าง วิธีการนี้จะนำสปอร์ของเชื้อราจากโลกมาเพาะเลี้ยงให้เติบโตบริเวณภายนอกโลกบนสถานที่ก่อสร้าง โดยอาศัยน้ำและอาหารที่สามารถสังเคราะห์ได้จากบนพื้นผิวของดวงจันทร์ เชื้อราจะเติบโตและแผ่ร่างแหเส้นใย หรือ ไมซีเลียม (Mycelium) บนวัสดุจนเกิดเป็นวัสดุก่อสร้างสำหรับการสร้างสถานีอวกาศบนภาคพื้น
คุณสมบัติของวัสดุก่อสร้างที่ทำจากไมซีเลียมนี้มีข้อดีคือ ราคาถูกและสามารถผลิตเพิ่มจำนวนบนพื้นที่สถานที่ก่อสร้างนอกโลกได้ ลดมวลของวัสดุก่อสร้างที่ต้องบรรทุกไปจากโลกเพื่อนำไปก่อสร้างได้มาก อีกทั้งจากการทดลองยังพบว่าไมซีเลียมที่ถูกนำมาเป็นวัสดุก่อสร้างมีคุณสมบัติด้านความทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายในอวกาศ ทั้งเรื่องของสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงและรังสีจากอวกาศ และมันยังสามารถกรองรังสีจากอวกาศไม่ให้ทะลุผ่านเข้าสู่ด้านใน นอกจากนี้ยังสามารถนำมาใช้ในการเป็นวัสดุกรองอากาศและน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภคสำหรับนักบินอวกาศได้อีกด้วย
โครงการการนำไมซีเลียมของเชื้อรามาประยุกต์ใช้กับงานด้านอวกาศทำให้เราได้เห็นถึงความเป็นไปได้ของการนำองค์ความรู้ด้านชีววิทยาและวิศวกรรมเข้ากับโครงการอวกาศ ซึ่งเทคโนโลยีชีวภาพนี้จะช่วยทำให้มนุษย์สามารถเดินทางออกสำรวจอวกาศไกลออกไปได้อย่างปลอดภัยมากขึ้นและสามารถนำมันมาใช้กับวัสดุก่อสร้างบนโลกได้ เพื่อให้วัสดุปลูกสร้างอาคารมีความเป็นมิตรกับธรรมชาติมากยิ่งขึ้น
เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล
พิสูจน์อักษร ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
ที่มาข้อมูล : NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech