ร้อยเรียงไทม์ไลน์ เรียบเรียงเหตุการณ์สมรภูมิสู้รบ “ซูดาน”


รอบโลก

26 เม.ย. 66

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
ร้อยเรียงไทม์ไลน์ เรียบเรียงเหตุการณ์สมรภูมิสู้รบ “ซูดาน”

     จากสถานการณ์สู้รบอย่างดุเดือดในประเทศ #ซูดาน ซึ่งยืดเยื้อมาเกือบ 2 สัปดาห์แล้ว ระหว่างกองทัพกับกองกำลังสนับสนุนเคลื่อนที่เร็ว (Rapid Support Forces : RSF) ซึ่งเป็นกองกำลังรบกึ่งทหารที่ไม่ได้สังกัดกองทัพซูดาน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทั้งภูมิภาค ด้วยเหตุนี้ #ThaiPBS จึงขอร้อยเรียงไทม์ไลน์ เรียบเรียงเหตุการณ์สมรภูมิสู้รบ “ซูดาน” มาให้ได้ทราบและเข้าใจเหตุการณ์โดยละเอียด

อำนาจ “ซูดาน” แบ่งเป็น 2 ขั้ว
     จุดเริ่มต้นสงครามครั้งนี้ ก่อชนวนมาจากการที่กองทัพก่อรัฐประหารเมื่อเดือน ตุลาคม 2021 หลังจากนั้นซูดานก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของสภาที่นำโดยเหล่าแม่ทัพนายพล โดยมีนายพล 2 คน พลเอก อับเดล ฟัตตาห์ อัล-บูร์ฮาน ผู้บัญชาการกองทัพซูดาน และดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนปัจจุบัน และพลเอก โมฮัมเหม็ด ฮัมดัน ดากาโล หรือที่รู้จักกันในนาม "เฮเมดตี" ซึ่งเป็นรองประธานาธิบดี และผู้บัญชาการกองกำลัง RSF เป็น 2 ขั้วอำนาจหลัก 

     โดยการต่อสู้ครั้งนี้เกิดขึ้นระหว่างกองทัพซูดานกับกองกำลังกึ่งทหารในกรุงคาร์ทูมและพื้นที่อีกหลายจุดทั่วประเทศ เกิดขึ้นหลังจากผู้นำทั้ง 2 คน ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงผนวกรวมกองกำลังดังกล่าวเข้ากับระบบกองทัพตามปกติได้ ทั้งที่เป็นเงื่อนไขสำคัญของการคืนอำนาจให้กับพลเรือนและยุติวิกฤตที่ปะทุขึ้นจากการก่อรัฐประหารเมื่อปี 2021

15 เม.ย. 2566
มีการเปิดฉากยิงปะทุการสู้รบ

     ต่อมา มีการเปิดฉากยิงโดยที่ยังไม่ระบุผู้เริ่มต้นได้ เมื่อวันที่ 15 เม.ย. ที่ผ่านมา และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการปะทะที่กินเวลาจนถึงวันนี้ (26 เม.ย. 66) และดูทีท่าว่าจะยังหาทางยุติลงไม่ได้ แม้บรรดานักการทูตนานาชาติต่างเรียกร้องให้ทั้ง 2 ฝ่ายหยุดยิง เพราะยิ่งทำให้ซูดานไร้เสถียรภาพเพิ่มขึ้น

     ซึ่งการรบครั้งนี้ “ผู้ชนะ” มีการคาดการณ์ว่าจะได้เป็น “ประธานาธิบดีซูดาน” คนใหม่ ส่วนผู้แพ้ครั้งนี้อาจถูกเนรเทศ ถูกจับกุม เสียชีวิต หรืออาจถึงขั้นถูกประหาร จึงทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายต่างสู้รบไม่มีใครยอมใคร

     อ่านฉบับเต็ม : กองทัพซูดานปะทะเดือดกองกำลังกึ่งทหาร ตายมากกว่า 50 คน 
     อ่านฉบับเต็ม : สู้รบใน "ซูดาน" ยังดุเดือด ตายพุ่ง 185 เจ็บอีกนับพันคน 

"ซูดาน" กับวังวนแห่งสงครามกลางเมือง
     "ซูดาน" มีเมืองหลวง ชื่อ "คาร์ทูม" แต่มีเมืองท่าที่เป็นศูนย์กระจายสินค้าที่สำคัญของภูมิภาค ชื่อ "พอร์ตซูดาน" ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทำรายได้ให้กับซูดานเป็นอย่างมาก เนื่องจากการขนส่งสินค้าทางเรือจากทั่วโลกไปยังประเทศอียิปต์ที่อยู่ทางเหนือของซูดาน จำเป็นต้องผ่าน "คลองสุเอซ" ที่อยู่ด้านบนของเมืองพอร์ตซูดาน

     *คลองสุเอซของอียิปต์ เป็นทางลัดในการลำเลียงสินค้าทางเรือระหว่างเอเชียกับยุโรป ซึ่งครอบคลุมการขนส่งกว่า 1 ใน 3 ของทั้งโลกในแต่ละปี

     การค้าขายของซูดานเน้นการส่งออกทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่ผ่านการแปรรูป และสินค้าที่ไม่ถูกเพิ่มมูลค่า เช่นน้ำมันดิบ ทองคำ สินค้าเกษตร ขณะที่สินค้านำเข้าคือสินค้าอุปโภค ยา เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งมูลค่าสินค้าที่ส่งออกราคาถูกกว่าสินค้านำเข้า ก็ย่อมทำให้เกิดการขาดดุลการค้าอย่างมหาศาล จนทำให้ "ซูดาน" เป็นประเทศที่ยากจนอันดับ 4 ของโลกอ้างอิงจากเว็บไซต์ Atlas&Boote ข้อมูลวันที่ 30 พ.ย. 2565
 
RSF ปมใหญ่ซูดาน 2566
     ข้อมูลจาก BBC ระบุว่า RSF ก่อตั้งขึ้นในปี 2556 กำเนิดจากกลุ่มติดอาวุธ จันจาวีด (Janjaweed) เป็นกองกำลังที่มีชื่อเสียงด้านความโหดเหี้ยม เคยถูกกล่าวหาเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงการสังหารหมู่ผู้ประท้วงมากกว่า 120 คนในเดือน มิ.ย. 2561 และผู้กุมกองกำลังทั้งหมดคือ พล.อ.ดากาโล

     ซึ่ง พล.อ.อัล-บูร์ฮัน มองว่ากองกำลังนอกกองทัพของ พล.อ.ดากาโล นี้เอง ที่ทรงอิทธิพล และ เป็นต้นตอของความไร้เสถียรภาพในซูดาน

การไร้เจรจา-ไร้อนาคต
     นักการทูตหลายคนพยายามผลักดันให้ซูดานกลับสู่การปกครองของพลเรือน และพยายามหาหนทางให้นายพลทั้ง 2 หันหน้าเข้าเจรจากัน เพื่อยุติความสูญเสียต่อประชาชนซูดานที่ขณะนี้ยอดผู้เสียชีวิตเกือบครึ่งพันแล้ว

     แต่กว่าจะถึงตอนนั้น ฝ่ายที่ต้องทนทุกข์กับปัญหาความไม่สงบที่ยืดเยื้อในประเทศคือ "ซูดาน" ทั้งประเทศและประชาชน

     พล.อ.ดากาโล ประกาศว่ากองกำลัง "RSF ของเขาจะเดินหน้าสู้ต่อไป" จนกว่าจะยึดฐานทัพทหารได้ทั้งหมด ขณะที่กองทัพซูดานของ พล.อ.อัล-บูร์ฮัน ประกาศไม่เข้าร่วมการเจรจาใด ๆ "จนกว่า RSF จะสลายตัว"


     นานาประเทศพยายามเป็นตัวกลางเข้าร่วมเจรจา เพื่อให้ปัญหาระหว่าง 2 นายพลยุติลง ขณะที่ กระทรวงการต่างประเทศของไทยกำลังพิจารณาจุดที่เป็นไปได้ที่เหมาะสมในการรับคนไทย เมื่ออพยพออกจากซูดาน เช่น อียิปต์, ซาอุดีอาระเบีย รวมถึงเจรจากับมิตรประเทศในการร่วมกันอพยพคนชาติของตน

     อ่านฉบับเต็ม : อำนาจ 2 นายพล บนความเสี่ยงนับล้านของชาวซูดาน 

ผลประโยชน์ของชาติมหาอำนาจใน “ซูดาน”
     "รัสเซียและจีน" ถือเป็น 2 ชาติมหาอำนาจน้องใหม่ที่พยายามเข้าไปฉกชิงพื้นที่อิทธิพลในแอฟริกา แทนที่สหรัฐฯ และยุโรปหลายชาติ ที่ตอนนี้เริ่มลดบทบาทลงในบางประเทศ ซึ่งการสู้รบที่ปะทุขึ้นในหลายเมืองทั่วซูดานตั้งแต่เมื่อวันเสาร์ กลายเป็นโอกาสครั้งใหม่ของมหาอำนาจประเทศต่าง ๆ ในการเปลี่ยนดุลความสัมพันธ์ในภูมิภาคนี้

     ภาพของทหารซูดานลาดตระเวนไปตามท้องถนนในเมือง Port Sudan เมืองท่าติดทะเลแดงทางตะวันออกของประเทศ ท่ามกลางเสียงปืนที่ดังขึ้นไม่ขาดสาย โดยเมืองท่าติดทะเลแดงแห่งนี้ถือเป็นหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ที่ไม่ได้สำคัญแค่กับคู่ขัดแย้งในการสู้รบครั้งนี้เท่านั้น

     แต่ยังเป็นจุดที่สหรัฐฯ และรัสเซียต่างจับจ้องตาเป็นมันมาตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลังจากกองทัพซูดานใช้ Port Sudan เป็นเหยื่อล่อมหาอำนาจโลก ด้วยการเปิดทางให้รัสเซียสามารถเข้ามาสร้างฐานทัพในเมืองนี้ได้ ซึ่งนักวิเคราะห์บางคน ตั้งข้อสังเกตว่า จุดนี้อาจเป็นสาเหตุให้รัฐบาลอเมริกันยอมซื้อใจซูดาน ด้วยการถอดชื่อของซูดาน ออกจากบัญชีรัฐที่สนับสนุนการก่อการร้าย

     ความได้เปรียบหนึ่งที่ทำให้ซูดานตกเป็นเป้าความสนใจของมหาอำนาจ หนีไม่พ้นเรื่องของตำแหน่งที่ตั้ง เพราะอยู่ติดกับทะเลแดง ซึ่งเป็นทางผ่านไปยังคลองสุเอซของอียิปต์ โดยเส้นทางนี้ถือเป็นทางลัดในการลำเลียงสินค้าทางเรือระหว่างเอเชียกับยุโรป ซึ่งครอบคลุมการขนส่งกว่า 1 ใน 3 ของทั้งโลกในแต่ละปี

     ส่วนพรมแดนบนแผ่นดินซูดานอยู่ติดกับ 7 ประเทศ โดยต้องจับตามองที่ ลิเบีย สาธารณรัฐแอฟริกากลาง และ เอธิโอเปีย เพราะกำลังเผชิญกับวิกฤตความขัดแย้ง ซึ่งนักการทูตจำนวนหนึ่งออกมาแสดงความกังวลว่า สถานการณ์การสู้รบในซูดานอาจส่งแรงกระเพื่อมทางลบไปยังประเทศเหล่านี้ และบั่นทอนเสถียรภาพทั้งภูมิภาค

     อ่านฉบับเต็ม : จับตาชาติมหาอำนาจชิงผลประโยชน์ในซูดาน 

18 เม.ย. 2566 
"ซูดาน" ตกลงหยุดยิง 24 ชม. ไร้ผล 2 ฝ่ายยังปะทะ
     กองทัพซูดานและกองกำลังกึ่งทหารได้ตกลงหยุดยิงเป็นเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อเปิดทางให้ประชาชนอพยพออกจากพื้นที่สู้รบ แต่เมื่อถึงกำหนดเวลาที่ทั้ง 2 ฝ่ายต้องหยุดยิง กลับสู้รบหนักหน่วงเหมือนเดิม

     เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2566 สถานีโทรทัศน์อัล อาราบิยา ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่นครดูไบ ตั้งกล้องถ่ายทอดสดสถานการณ์ในกรุงคาร์ทูม เมืองหลวงของซูดาน ก่อนถึงเวลาที่กำหนดให้มีการหยุดยิง ปรากฏว่าระหว่างนั้นเกิดเสียงดังสนั่น ซึ่งคาดว่าอาจเกิดจากการยิงจรวดจากเครื่องบินถล่มพื้นที่เป้าหมาย

     ขณะที่บล็อกเกอร์ชาวอินเดียวัย 22 ปีคนหนึ่ง ไลฟ์เหตุการณ์ในซูดานมาต่อเนื่องนับตั้งแต่วันแรกที่เกิดการโจมตี เมื่อวันที่ 15 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยได้ถ่ายทอดบรรยากาศในกรุงคาร์ทูม หลังผ่านพ้นช่วงเวลาของการหยุดยิง แต่ปรากฏว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เสียงปืนและเสียงระเบิดยังดังขึ้นอย่างต่อเนื่อง

     การทำข้อตกลงหยุดยิงเกิดขึ้นจากแรงกดดันของสหรัฐฯ โดยกองทัพซูดานและกองกำลังกึ่งทหาร ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้ง ระบุว่า ทั้ง 2 ฝ่ายจะหยุดยิงเป็นเวลา 24 ชั่วโมง โดยเริ่มตั้งแต่เวลา 18.00 น.ของวันที่ 18 เม.ย. ซึ่งตรงกับ 23.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย

     อ่านฉบับเต็ม : "ซูดาน" ตกลงหยุดยิง 24 ชม.ไร้ผล 2 ฝ่ายยังปะทะ 

20 เม.ย. 2566
กระทรวงการต่างประเทศไทย เตรียมแผนอพยพคนไทยใน “ซูดาน”
     กต. ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร ได้ประสานติดต่อกับหัวหน้าชุมชนไทยและนายกสมาคมนักเรียนไทยในซูดาน แต่สถานการณ์ความปลอดภัยยังไม่น่าไว้วางใจ การสู้รบยังมีต่อเนื่อง โดยขอให้คนไทยไม่ออกนอกเคหะสถาน และสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ประสานงานกับกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ กรุงคาร์ทูม เตรียมการช่วยเหลือ โดยเฉพาะด้านอาหารและน้ำดื่ม
 

     โดยได้มีการหารือเตรียมพร้อมเรื่องการอพยพคนไทย หากสถานการณ์ไปถึงขั้นที่จำเป็น โดยได้จัดเตรียมแผนอพยพไว้ทั้งทางอากาศและทางบก ซึ่งขณะนี้น่านฟ้าซูดานยังปิดอยู่และเส้นทางการเดินทางทางบกยังไม่ปลอดภัย

     อ่านฉบับเต็ม : คนไทยในซูดานกว่า 250 คนยังปลอดภัย กต.เตรียมแผนอพยพ 

23 เม.ย. 2566
รัฐบาลเตรียมอพยพ "นศ.ในซูดาน" กลับประเทศ-หาที่เรียนต่อในไทย
     น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศซูดานอย่างใกล้ชิด พร้อมดูแลคนไทยและนักศึกษาไทยมุสลิมที่ศึกษาในประเทศซูดาน โดยวันที่ 22 เม.ย. 2566 พล.อ. สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือถึงมาตรการการให้ความช่วยเหลือ รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อให้ความช่วยเหลือคนไทยในประเทศซูดานอย่างเต็มที่

     กระทรวงต่างประเทศได้รายงานว่า สถานการณ์ที่ประเทศซูดาน ขณะนี้ยังไม่มีความแน่นอน เนื่องจากการปะทะกันยังกระจัดกระจายและยังมีความเสี่ยงทั้งการอยู่ภายในที่พักอาศัยและการออกมาภายนอก

     อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศ ได้เสนอเส้นทางการอพยพสู่พื้นที่ปลอดภัย ณ สนามบินประเทศเพื่อนบ้านซูดาน เช่น ไคโร ซาอุ และฐานทัพสหรัฐฯ ที่ Djibouti โดยทางกระทรวงการต่างประเทศ จะหารือเรื่องการอำนวยความสะดวกต่าง ๆ กับประเทศที่เกี่ยวข้อง ร่วมทั้งพันธมิตรประเทศที่มีความพร้อมในการอพยพด้วย

     อ่านฉบับเต็ม : รัฐบาลเตรียมอพยพ "นศ.ในซูดาน" กลับประเทศ-หาที่เรียนต่อในไทย 
     อ่านฉบับเต็ม : นานาชาติอพยพพลเรือนพ้น "ซูดาน" สู้รบยืดเยื้อ-ตายกว่า 400 คน  
 
24 เม.ย. 2566
ศอ.บต.เปิดแผนรับนศ.ไทยจากซูดานกลับบ้าน 27 เม.ย. นี้
     นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) แถลงแนวทางการให้ความช่วยเหลือและดูแลนักเรียนนักศึกษาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เดินทางกลับจากซูดาน สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มอบหมายให้ ศอ.บต. เตรียมแผนรองรับนักศึกษาเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยประสานส่วนราชการทั้งส่วนกลาง และในพื้นที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด

     โดยเบื้องต้นการจัดตั้งศูนย์ประสานงานนักเรียนนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ศึกษาต่อในต่างประเทศ (ศป.นศ.จชต.) บริเวณชั้น 2 อาคารอำนวยการ ศอ.บต.ยะลา เพื่อให้นักศึกษาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ศึกษาที่ซูดาน และผู้ปกครองติดต่อ และให้การช่วยเหลือเป็นไปได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น พร้อมเปิดช่องทางติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมได้อีก 4 ช่องทาง

     อ่านฉบับเต็ม : ศอ.บต. เปิดแผนรับ นศ.ไทย จากซูดานกลับบ้าน 27 เม.ย. นี้ 
     อ่านฉบับเต็ม : เลือกตั้ง 2566 : กกต.ชี้ 94 คนไทยในซูดานส่อวืดเลือกตั้งล่วงหน้า 
     อ่านฉบับเต็ม : เลือกตั้ง 2566 : รัฐบาลอพยพชาวไทย 212 คน กลับจากซูดาน 
     อ่านฉบับเต็ม : อดีต นศ.ไทยในซูดาน เปิดแผนอพยพนำคนไทยกลับบ้าน 

26 เม.ย. 2566
ทอ.ส่งเครื่องบิน 3 ลำ รับคนไทยจากซูดาน เที่ยวแรกถึงไทย 27 เม.ย.
     กองทัพอากาศส่งเครื่องบิน 3 ลำ รับคนไทยที่ได้รับกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในซูดานกลับประเทศ เที่ยวบินแรกกลับถึงไทยวันที่ 27 เม.ย. นี้

     วันนี้ (26 เม.ย. 2566) กองทัพอากาศจัดเครื่องบิน Airbus A340-500 จำนวน 1 ลำ และเครื่องบิน C-130 จำนวน 2 ลำ ออกเดินทางจากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง ไปยังท่าอากาศยานนานาชาติ คิง อับดุลาซิซ เมืองเจดดาห์ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นจุดนัดหมาย ที่กระทรวงการต่างประเทศได้อพยพคนไทยจากสาธารณรัฐซูดานทั้งทางบกและทางเรือ มารวมตัวกันเพื่อรอเครื่องบินของกองทัพอากาศไปรับกลับประเทศไทย

     อ่านฉบับเต็ม : ทอ. ส่งเครื่องบิน 3 ลำ รับคนไทยจากซูดาน เที่ยวแรกถึงไทย 27 เม.ย. 

หากมีการสู้รบต่อไป ความมั่นคงในซูดานจะเกิดสุญญากาศ เอื้อต่อกลุ่มก่อการร้าย
     คนที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของเรื่องนี้ คือ โอซามา บิน ลาเดน ผู้นำกลุ่มอัลกออีดะห์ ที่เคยมากบดานอยู่ในซูดาน ระหว่างปี 1991 จนถึงปี 1996 ตามคำเชิญของ "อัล-ทูราบี" เพื่อช่วยซูดานทำสงครามต่อต้านกลุ่มแบ่งแยกดินแดนคริสเตียนทางตอนใต้ของประเทศ แลกกับการที่ บิน ลาเดน จะสามารถใช้ซูดานเป็นฐานเพื่อเตรียมการก่อการร้าย

     จุดนี้เองที่ทำให้ซูดานและอัลกออีดะห์เชื่อมโยงจนแทบจะกลายเป็นเนื้อเดียวกัน ส่งผลให้ในปี 1993 สหรัฐฯ ตัดสินใจขึ้นบัญชีซูดานเป็นรัฐที่สนับสนุนการก่อการร้าย ก่อนที่ในปี 1998 ซูดานจะเข้าไปมีเอี่ยวในเหตุโจมตีสถานทูตสหรัฐฯ ในเคนยาและแทนซาเนีย

     จุดเปลี่ยนของความสัมพันธ์ระหว่างซูดานกับเครือข่ายก่อการร้าย คือ เหตุโจมตี 11 กันยายน ซึ่งทำให้สหรัฐฯ เปิดฉากทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายเต็มรูปแบบ โดย "อัล-บาชีร์" ใช้โอกาสนี้โค่นอำนาจพันธมิตรของตัวเองและหันไปจับมือกับสหรัฐฯ เพื่อกระชับอำนาจเบ็ดเสร็จในประเทศและปูทางซูดานบนเวทีโลก

     แม้ระบอบของ "อัล-บาชีร์" จะสร้างบาดแผลให้กับซูดานไม่น้อย โดยเฉพาะสงครามในดาร์ฟูร์ตั้งแต่ปี 2003 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายแสนคน แต่สหรัฐฯ ก็ยอมประนีประนอมในนามของผลประโยชน์ปราบปรามการก่อการร้าย โดยจุดยืนนี้ของรัฐบาลอเมริกันชัดเจนอีกครั้ง หลังจากถอดซูดานออกจากบัญชีรัฐที่สนับสนุนก่อการร้าย เพื่อซื้อใจรัฐบาลชุดใหม่หลังการรัฐประหาร

     ขณะที่การสู้รบในซูดานที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ กำลังกลายเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ครั้งใหม่ของสหรัฐฯ และประชาคมโลก ในการสกัดการแผ่ขยายอิทธิพลของเครือข่ายก่อการร้ายในแอฟริกา ท่ามกลางความกังวลว่า ซูดานจะกลายเป็นแหล่งเพาะภัยก่อการร้ายอีกครั้ง หากเผชิญสภาวะสุญญากาศทางความมั่นคงจากสงครามที่กำลังเกิดขึ้น

     อ่านฉบับเต็ม : สุญญากาศความมั่นคงในซูดาน เอื้อกลุ่มก่อการร้าย 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ซูดานซูดานสู้รบ
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover : (FB : เซบา บาสตี้)

บทความ NOW แนะนำ