กล้องโทรทรรศน์อวกาศไกอา (Gaia) หนึ่งในกล้องโทรทรรศน์สำรวจเอกภพ ได้ใช้ความสามารถของมันมาสำรวจดาวเคราะห์น้อยในระบบสุริยะทำให้เห็นการเคลื่อนที่ที่ละเอียดอ่อนและพบดาวเคราะห์น้อยที่เป็นระบบคู่มากกว่าที่เราคาดคิดเอาไว้ถึงสองเท่า
ระบบดาวเคราะห์น้อยคู่ Didymos และ Dimorphos คือระบบดาวเคราะห์น้อยคู่ที่โดดเด่นและเป็นที่รู้จักมากที่สุด แต่เชื่อหรือไม่ว่าเพียงแค่ในระบบสุริยะของเราไม่ได้มีดาวเคราะห์น้อยที่โคจรรอบกันและกันแบบนี้เพียงแค่ระบบเดียว แต่ยังมีอีกเป็นจำนวนมากที่รอการค้นพบอยู่

ภาพวาดศิลปินกล้องโทรทรรศน์อวกาศไกอาที่ทำหน้าที่ในการสำรวจและวัดระยะทางทำแผนที่ดวงดาวในกาแลกซี่ทางช้างเผือกและกาแลกซี่ข้างเคียง
กล้องโทรทรรศน์อวกาศไกอา (Gaia) คือหนึ่งในกล้องโทรทรรศน์อวกาศคุณภาพสูงที่มีหน้าที่ในการสำรวจเอกภพและวัดระยะห่างของดาวฤกษ์และวัตถุในเอกภพด้วยหลักการพารัลแลกซ์ (Parallax) มันทำงานมาแล้วตั้งแต่ปี 2013 และยังคงทำหน้าที่ได้ดีจนถึงปัจจุบัน ตัวกล้องโทรทรรศน์ประกอบด้วยเซนเซอร์ถ่ายภาพความละเอียดสูง 937.8 เมกาพิกเซล ความแม่นยำของมันสูงกว่ากล้องโทรทรรศน์อวกาศรุ่นพี่อย่างฮิปปาร์คอส (Hipparcos) เคยทำได้ โดยที่มีค่าความคลาดเคลื่อนอยู่ที่ 26.6 ไมโครพิลิปดา สำหรับดาวฤกษ์ที่มีความสว่างที่แมกนิจูด 15 ซึ่งมากกว่ากล้อง ฮิปปาร์คอสที่มีค่าความคลาดเคลื่อนที่มากกว่า 100 ไมโครพิลิปดา
อันที่จริง ภารกิจหลักของกล้องโทรทรรศน์อวกาศไกอาได้เสร็จสิ้นลงแล้ว แต่ทีมนักวิทยาศาสตร์จะยังคงใช้งานมันต่อเพราะศักยภาพของมันนำไปประยุกต์สู่การศึกษาดาราศาสตร์ด้านอื่น ๆ ได้ หนึ่งในนั้นคือการถ่ายภาพและสำรวจดาวเคราะห์น้อยในระบบสุริยะของเรา
ดาวเคราะห์น้อยที่เป็นระบบคู่อย่าง Didymos และ Dimorphos ที่มีดวงหนึ่งเป็นดวงหลักและมีอีกดวงเป็นเหมือนดวงจันทร์โคจรไปรอบ ๆ เป็นระบบดาวเคราะห์น้อยที่หาได้ค่อนข้างยากเนื่องมาจากขีดจำกัดด้านความรู้และเทคโนโลยีในการตามหาดาวเคราะห์น้อยกลุ่มนี้มีจำกัด จนถึงตอนนี้เราเพิ่งค้นพบดาวเคราะห์น้อยที่เป็นระบบคู่ในลักษณะนี้เพียง 500 คู่จากทั้งหมดหลักล้านดวงเท่านั้น

ภาพข้อมูลวงโคจรดาวเคราะห์น้อยที่ระยะห่างต่าง ๆ จากดวงอาทิตย์ทั้ง 150,000 ดวงที่ถูกเผยแพร่จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศไกอา ซึ่งมี 352 ดวงที่คาดว่าเป็นระบบดาวเคราะห์น้อยคู่
ก่อนหน้านี้กล้องโทรทรรศน์อวกาศไกอาได้ค้นพบดาวเคราะห์น้อยดวงใหม่ ๆ จากการที่ดาวเคราะห์เคลื่อนที่โคจรผ่านหน้ากล้องในขณะที่มันส่องกราดท้องฟ้า ซึ่งตั้งแต่ปี 2013 มันก็พบดาวเคราะห์น้อยดวงใหม่ ๆ หลายดวง ทาง ESA จึงได้เห็นโอกาสนี้และเก็บข้อมูลการส่องกราดของกล้องไกอามาเผยแพร่เส้นทางการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์น้อย ซึ่งในปี 2024 นี้เป็นครั้งที่ 3 ที่ทาง ESA ออกมาเปิดเผย เส้นทางการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์น้อยมากกว่า 150,000 ดวงที่แม่นยำในระดับที่นักดาราศาสตร์สามารถวิเคราะห์เจาะลึกลงไปถึงระดับการส่ายของดาวเคราะห์น้อยเหล่านั้นซึ่งจะแสดงให้เห็นว่ามีดวงจันทร์ที่โคจรรอบดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้หรือไม่ จากข้อมูลนี้ทำให้ค้นพบดาวเคราะห์น้อยระบบคู่ใหม่เพิ่มมาอีก 352 ดวง
ถึงแม้ว่าดาวเคราะห์น้อยทั้ง 352 ดวงนี้จะยังเป็นแค่ข้อมูลจากการคาดการณ์ที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบความถูกต้อง แต่ก็นับว่ากล้องโทรทรรศน์อวกาศไกอานี้สามารถค้นหาดาวเคราะห์น้อยในระบบสุริยะได้อย่างรวดเร็วด้วยความละเอียดของข้อมูลที่สูง อีกทั้งยังให้ข้อมูลของสเปกตรัมดาวเคราะห์น้อยกลับมาอีกด้วย ทำให้รู้ถึงองค์ประกอบที่สำคัญของดาวเคราะห์น้อย

ภาพวาดศิลปินจากข้อมูลดาวเคราะห์น้อยที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศไกอาทำการเก็บรวบรวมข้อมูลมาได้ ที่ส่วนมากจะมีวงโคจรอยู่แถบดาวเคราะห์น้อยหลักระหว่างดาวพฤหัสบดีกับดาวอังคาร
ข้อมูล 150,000 วงโคจรที่ถูกเผยแพร่ออกมาจากทาง ESA ในคราวนี้ได้รับการเทียบค่าความคลาดเคลื่อนที่มีความละเอียดที่สูงกว่าเดิม 20 เท่าจากการเผยแพร่ในครั้งก่อนหน้า และคาดว่าในการเผยแพร่ครั้งถัดไปที่จะถึงนี้จะมีความละเอียดที่สูงกว่าในครั้งนี้อย่างแน่นอน โดยที่ตั้งเป้าว่าจะทำการเผยแพร่ภายในปี 2026
ดาวเคราะห์น้อยเปรียบเสมือนเศษซากที่หลงเหลือจากการก่อกำเนิดของระบบสุริยะของเรา ซึ่งการศึกษาดาวเคราะห์น้อยนั้นจะช่วยทำให้เข้าใจกระบวนการก่อกำเนิดและวิวัฒนาการของระบบสุริยะของเรามากยิ่งขึ้น รวมไปถึงยังช่วยทำให้เข้าใจการเกิดขึ้นของชีวิตบนโลกของเราอีกด้วย
กล้องโทรทรรศน์อวกาศไกอาได้พิสูจน์ศักยภาพของตัวมันแล้วว่านอกจากจะเป็นผู้สำรวจเอกภพและวัดดวงดาวด้วยความละเอียดสูงได้แล้วมันยังสามารถทำหน้าที่เป็นนักสำรวจดาวเคราะห์น้อยที่แม่นยำอีกด้วย มันจะยังทำหน้าที่ในการสำรวจและสอดส่องทั้งในและนอกระบบสุริยะเพื่อเปิดเผยความลับของเอกภพต่อไป
เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล
พิสูจน์อักษร ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
ที่มาข้อมูล : ESA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech