ภายหลังจากการที่มีข่าวการค้นพบ “สารฟอสฟีน” ในชั้นบรรยากาศของ “ดาวศุกร์” เผยแพร่ออกมา ความสนใจในการศึกษาดาวศุกร์ก็กลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง MIT ร่วมกับบริษัทเอกชนอย่าง Rocket Lab ได้เปิดตัวโครงการกลับไปสำรวจชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์เพื่อตามหาสาร “ฟอสฟีน” ที่จะเป็นกุญแจสำคัญของการระบุถึงชีวิตบนดาวเคราะห์ที่ใกล้โลกที่สุดดวงนี้
แน่นอนว่าหลังจากที่มีการประกาศถึงการค้นพบสารฟอสฟีนบนชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ในปี 2020 จะกระตุ้นให้สังคมกลับมาสนใจการศึกษาดาวศุกร์มากยิ่งขึ้น แต่ภายหลังจากการค้นพบนั้นดูเหมือนว่าทั้งยานอวกาศในวงโคจรของดาวศุกร์อย่างยาน Akasuki และกล้องโทรทรรศน์ต่าง ๆ จับจ้องไปที่ชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ก็ต่างไม่พบกับเส้นสเปกตรัมของสารฟอสฟีน ทำให้ความสำคัญของการกลับไปสำรวจชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์มีความสำคัญมากขึ้น
แรงกระตุ้นนี้สะเทือนมาถึง Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT ให้ริเริ่มโครงการที่ชื่อว่า Morning Star (ดาวประกายพรึก สื่อถึงดาวศุกร์ที่มองเห็นได้ในช่วงรุ่งสาง) เพื่อกลับไปสำรวจดาวศุกร์และทาง MIT ก็ได้ร่วมกับบริษัทเอกชนต่าง ๆ เพื่อผลิตยานอวกาศและส่งไปยังดาวศุกร์ ซึ่งในโครงการนี้ได้เปิดเผยออกมาทั้งหมด 3 ระยะด้วยกัน ระยะแรกคือการส่งยานอวกาศขนาดเล็กฝ่าลงไปในชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์เพื่อตรวจจับสารฟอสฟีนในชั้นบรรยากาศ ซึ่งในจุดนี้ทางบริษัทเอกชน Rocket Lab ได้เข้ามาร่วมในการสำรวจครั้งนี้ และนี่คือที่มาของยานอวกาศ Venus Lifefinder ยานอวกาศเอกชนลำแรกที่จะออกเดินทางไปสำรวจดาวเคราะห์ดวงอื่น
ยาน Venus Lifefinder เป็นยานที่ร่วมกันพัฒนาระหว่างบริษัท Rocket Lab และทีมวิจัยของ MIT ทางบริษัท Rocket Lab จะเป็นผู้ผลิตยานอวกาศและส่งไปยังดาวศุกร์ ส่วนทีมวิจัยของฝั่ง MIT เป็นผู้พัฒนาระบบอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์เพื่อใช้ในการตามหาสารฟอสฟีนและสารสำคัญที่บ่งบอกถึงการมีอยู่ของชีวิตในชั้นบรรยากาศ ตัวยานอวกาศนี้จะเป็นการพัฒนาต่อยอดจากโครงจรวดท่อนที่ 3 ของจรวด Electron ที่เป็นท่อนขนาดเล็กคล้ายยานอวกาศ ซึ่งจะถูกนำมาดัดแปลงเป็นยานอวกาศที่ติดตั้งระบบนำทาง ระบบระบุตำแหน่งดวงดาว และระบบบรรทุกยานอวกาศขนาดเล็กเพื่อทำหน้าที่ฝ่าลงไปศึกษาภายในชั้นบรรยากาศ คล้ายกับยาน EscaPADE ของ NASA ที่เดินทางไปสำรวจดาวอังคาร
ส่วนในฝั่งของอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ภายในยานอวกาศมีเพียงชิ้นเดียวคือ AutoFluorescence Nephelometer คืออุปกรณ์ตรวจจับสารอินทรีย์โดยอาศัยการใช้แสง UV และตรวจสอบการเรืองแสง หากมีการเรืองแสงเกิดขึ้น นั่นหมายถึงการตรวจพบสารอินทรีย์ภายในชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ ซึ่งอาจบ่งบอกถึงชีวิตที่อาศัยอยู่ในชั้นบรรยากาศ
ส่วนยานอวกาศที่ฝ่าลงไปในชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์จะไม่มีร่มชะลอความเร็ว การออกแบบมีรูปร่างคล้ายกับยาน Deep Space 2 ที่มีภารกิจไปลงจอดบนดาวอังคารโดยไม่ใช้ร่มในการชะลอความเร็ว ยานจะถูกตั้งโปรแกรมไว้ให้เปิดอุปกรณ์วิทยาศาสตร์วิเคราะห์ในช่วงความสูง 60 กิโลเมตรเหนือพื้นผิวของดาวศุกร์ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีอุณหภูมิและความกดอากาศคล้ายกับบนโลกมากที่สุด การที่ไม่มีระบบชะลอความเร็วนั้นหมายถึงตัวยานอวกาศจะมีช่วงเวลาในการปฏิบัติภารกิจในช่วงสั้น ๆ เท่านั้น และยานจะต้องส่งสัญญาณข้อมูลกับทางยานอวกาศที่อยู่บนวงโคจรทันทีทุกการศึกษาเพื่อให้ไม่พลาดข้อมูลสำคัญจากตัวยาน
ในตอนแรกตัวภารกิจ Venus Lifefinder จะถูกส่งในช่วงกลางปี 2023 แต่ถูกเลื่อนมาเรื่อย ๆ จนในตอนนี้แผนคือการส่งในช่วงมกราคมปี 2025 โดยคาดว่าจะไปถึงดาวศุกร์ในช่วงกลางปีเดียวกัน ซึ่งทางเซอร์ ปีเตอร์ เบ็ก (Sir Peter Beck) CEO ของบริษัท Rocket Lab เคยออกมากล่าวว่า ภารกิจ Venus Lifefinder เป็นเหมือนงานส่วนตัวนอกเวลาของพวกเขา ซึ่งอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง เป็นงานที่จะยังคงทำต่อแม้ว่าจะมีช่วงที่ถูกคั่นจังหวะจากงานหลักหรือไม่ได้ทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนั้นคือหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ตัวภารกิจนี้ถูกเลื่อนเรื่อย ๆ แต่ไม่ได้หมายถึงการยุติภารกิจไป
ยาน Venus Lifefinder จะเป็นยานอวกาศสำรวจอวกาศลึกและดาวเคราะห์ดวงอื่นลำแรกที่ดำเนินการโดยบริษัทเอกชนอย่างเต็มรูปแบบ ไม่ได้ขึ้นกับทางองค์กรอวกาศอย่าง NASA ซึ่งจะเป็นศักราชใหม่ในการสำรวจอวกาศที่มีบริษัทเอกชนเป็นผู้เข้าร่วมการสำรวจด้วย อีกทั้งจะเป็นการพิสูจน์ความจริงของการค้นพบสารอินทรีย์ในชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์
เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล
พิสูจน์อักษร ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
ที่มาข้อมูล : venuscloudlife, en.wikipedia
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech