ทำความรู้จัก “รายได้พื้นฐานแบบไร้เงื่อนไข” ผ่านสารคดี “Free Lunch Society ”


บทความพิเศษ

12 พ.ค. 66

พิชชา พึ่งพิบูลย์

Logo Thai PBS
ทำความรู้จัก “รายได้พื้นฐานแบบไร้เงื่อนไข” ผ่านสารคดี “Free Lunch Society ”

เข้าสู่สัปดาห์ โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง หลายคนอาจจะได้เห็นนโยบายของพรรคต่าง ๆ เกี่ยวกับสวัสดิการที่ตั้งใจจะมอบให้ประชาชนในหลากหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นเด็กและเยาวชนในเรื่องของการศึกษา ผู้ใหญ่วัยทำงานในเรื่องของค่าแรงหรือฐานเงินเดือน รวมไปถึงผู้สูงอายุในแง่ของเบี้ยยังชีพหรือค่ารักษาพยาบาล และทั้งหมดนี้คือตัวอย่างคำนิยามของคำว่า “รัฐสวัสดิการ”

บางคนอาจคุ้นหู คุ้นตา หรือรู้จักกับคำนี้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว ไทยพีบีเอสขอใช้โอกาสนี้ หยิบยกสารคดีเรื่อง Free Lunch Society ที่พูดถึงความตั้งใจที่จะทำให้  “ทฤษฎีการกระจายรายได้ให้แก่ประชาชน” นั้นเกิดขึ้นจริง มาเล่าสู่กันฟังให้ทุกท่านเห็นภาพมากขึ้น

Free Lunch Society Poster

"มันไม่เคยเป็นเรื่องของการครอบครอง มันเป็นเรื่องของอำนาจ" ฉากจากภาพยนตร์เรื่อง STAR TREK ปี 1988 ถูกนำมาใช้เป็นประโยคเปิดเรื่องเพื่อเชื่อมโยงต่อไปภายหลังว่า ในอนาคตเงินตราจะไม่มีอยู่ต่อไป ทุกคนเป็นเจ้าของทรัพยากรร่วมกัน ทรัพยากรที่หมายถึง ผืนแผ่นดิน น้ำ อากาศ และธรรมชาติอื่น ๆ โดยประเด็นหลักของเรื่อง คือการนำเสนอวิธีการและทฤษฎีต่าง ๆ เกี่ยวกับแนวคิด “รายได้พื้นฐานแบบไร้เงื่อนไข”

รายได้พื้นฐานแบบไร้เงื่อนไข คืออะไร ?

รายได้พื้นฐานแบบไร้เงื่อนไข หรือชื่อเรียกอื่น ๆ เช่น หลักประกันรายได้ต่อปี, ภาษีเงินติดลบ หรือรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า คือการนำรายได้ หรือผลประโยชน์ของรัฐ มาเป็นกองกลางเพื่อกระจาย แจกจ่ายกลับสู่ประชาชนในประเทศี่เป็นเจ้าของทรัพยากรที่มั่งคั่งในประเทศร่วมกัน ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมขุดเจาะน้ำมัน จ่ายเงิน  900 ล้านดอลลาร์ ให้รัฐอะแลสกา สหรัฐอเมริกา เพราะบริษัทได้ค้นพบอ่าวน้ำมัน ทางรัฐจึงมีการสร้างบัญชีออมทรัพย์ และนำเงินรายได้ครึ่งหนึ่งไปลงทุนในกองทุน และอีกครึ่งหนึ่งได้ถูกแจกจ่ายเป็นเงินปันผลของชาวอะแลสกาทุกคน

อ่านมาถึงตอนนี้ หลาย ๆ คนคงเกิดคำถามในใจขึ้นแล้วว่า ถ้าแจกเงินให้ประชาชนทุกคน ใครจะยังทำงาน ? สังคมจะไม่แย่กันหมดเหรอ ? 

สารคดี Free Lunch Society พาไปดูความคิดของผู้คนที่ได้รับเงินปันผลจริง ๆ ว่าพวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร ได้ข้อสรุปว่า ชีวิตพวกเขาไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิม แต่ที่มีเพิ่มขึ้น คือความรู้สึกปลอดภัยและมั่นคงในการใช้ชีวิต และพวกเขายังดำเนินชีวิตด้วยอาชีพเดิมต่อไป ตัวอย่างเช่น ชาวออสเตรียที่ถูกลอตเตอรี่ เล่าว่า การมีเงินเพิ่มขึ้น 3,000 เหรียญยูโรต่อเดือน ช่วยให้เขาไม่ต้องตื่นเช้ามาทำงานด้วยความรู้สึกกดดัน หรือเครียดเหมือนที่เคยเป็น หรือข้อสนับสนุนจากการวิจัยที่พบว่า คนที่ได้รางวัลลอตเตอรี่เดือนละ 5000 ดอลลาร์ตลอดชีวิตนั้น ไม่ได้มีความขยันทำงานลดลง ตรงกันข้าม ความมั่นคงจากการมีหลักประกันรายได้ ทำให้ผู้ถูกรางวัลส่วนใหญ่สามารถไล่ตามความฝันลึก ๆ ของพวกเขา และกลายเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ 

Free Lunch Society

หรือคำกล่าวของ “จอร์จ ไวลีย์” นักกิจกรรมด้านสิทธิพลเมือง ที่อธิบายไว้ว่า “คนที่มีรายได้น้อยและคนที่ได้รับสวัสดิการมักถูกโจมตี ราวกับว่าพวกเขาไม่อยากทำงาน ทั้ง ๆ ที่ปัญหาจริง ๆ คือพวกเขาหางานทำไม่ได้ พวกเขาหางานที่จ่ายค่าแรงมากพอให้เลี้ยงดูครอบครัวไม่ได้” การได้รับเงินรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าอาจไม่ได้ช่วยให้พวกเขากลายเป็นคนรวย แต่สามารถมีชีวิตที่ดี มีคุณภาพได้ และอีกหลากหลายข้อสนับสนุนด้านระบบเศรษฐกิจต่าง ๆ ในสารคดีที่แสดงให้เห็นว่าแนวความคิดนี้สามารถเป็นไปได้

 “รายได้พื้นฐาน คือ การกระจายอำนาจ ไม่ใช่เรื่องของการกระจายเงิน” สิ่งนี้จะทำให้ปัจเจกบุคคลมีพลังมากขึ้น มันคือความก้าวหน้าของประชาธิปไตยไปอีกระดับ

เราจึงอยากเชิญชวนทุกท่าน รับชมความเท่าเทียมและเสรีภาพทางการเงิน เพื่อเพิ่มความเข้าใจในเรื่องของรัฐสวัสดิการและทฤษฎีรายได้พื้นฐานแบบไร้เงื่อนไข ผ่านสารคดีคุณภาพอย่าง Free Lunch Society สามารถรับชมได้ทาง : https://watch.vipa.me/WETW5ode1xb

 

 

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

สารคดี Free Lunch Society
พิชชา พึ่งพิบูลย์
ผู้เขียน: พิชชา พึ่งพิบูลย์

มีความชอบและรสนิยมที่ไม่ขึ้นกับยุคสมัย ตั้งใจใช้ชีวิตเพื่อรอคอยผลงานจากศิลปินคนโปรด และเชื่ออย่างสุดใจว่าการค้นพบสิ่งสนใจใหม่ ๆ คือขุมทรัพย์