รู้จัก "มินต์" ให้มากขึ้น จากกระแส "มินต์ช็อก" เมนูที่รสชาติเหมือนยาสีฟัน ?


บทความพิเศษ

30 พ.ค. 66

Thai PBS Digital Media

Logo Thai PBS
รู้จัก "มินต์" ให้มากขึ้น จากกระแส "มินต์ช็อก" เมนูที่รสชาติเหมือนยาสีฟัน ?

กระแสเมนูเครื่องดื่ม "มินต์ช็อก" กำลังมาแรงในช่วงนี้ หลังคนแห่ซื้อตาม "อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร" แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย แต่กลับทำให้ "เศรษฐา ทวีสิน" ให้คะแนนเพียงแค่ 4 เต็ม 10 เพราะรสชาติเหมือนยาสีฟัน เสียอย่างนั้น ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคนด้วย

เมนูเครื่องดื่ม “มินต์ช็อกโกแลต” หรือ “ช็อกโกแลตมินต์” ภาษาอังกฤษเรียกว่า Mint Chocolate แต่คนมักจะชอบเรียกกันสั้น ๆ ว่า "มินต์ช็อก" หรือ "ช็อกมินต์" ซึ่งเมนูเครื่องดื่มนี้มีที่มาจาก "ไอศกรีม" ที่มีรสชาติหวาน กลิ่นหอม เย็นสดชื่นของมินต์ และมีรสขมของช็อกโกแลต

จากการวิเคราะห์ผ่านเครื่องมือ Zocial Eye เห็นได้ว่า ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา (5 เม.ย. - 28 พ.ค. 66) มีการพูดถึง "มินต์ช็อก" มากกว่า 7,821 ข้อความ ยอดการมีส่วนร่วมสูงถึง 1,186,070 Engagements ซึ่งเมื่อเช็กจุดเริ่มต้นของกระแสที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ก็ต้องยอมรับว่า เกิดจากการพูดถึง "มินต์ช็อก" ของ "อุ๊งอิงค์ แพทองธาร" ในรายการออนไลน์บน YouTube ของ FAROSE จนกลายเป็นไวรัลบนแพลตฟอร์ม Twitter สัดส่วนการพูดถึงเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มอื่น ๆ คิดเป็น 87.80% เกิดเป็นแฮชแท็ก #หัวหน้ามิ้นต์ช็อก ตามมา ส่งผลให้ร้านค้าและแบรนด์ต่าง ๆ หยิบจับมาทำคอนเทนต์และแนะนำเมนูยอดฮิตนี้ทันที ซึ่งเมื่อเจาะดูจาก 7,821 ข้อความ จะเห็นว่า "คำ" ที่ถูกพูดถึงมากที่สุด คือ คำว่า "กิน" คิดเป็นสัดส่วน 27.76% และตามมาด้วยคำว่า "อร่อย" และ "ชอบ" 10.86% ส่วนคำที่เป็น TOPIC วาระการถกเถียงแห่งชาติ อย่าง "ยาสีฟัน" ก็ไม่น้อยหน้า เป็นคำที่ถูกพูดถึงมากเป็นอันดับ 4 คิดเป็น 6.53%

เจาะกระแสโลกออนไลน์_มินต์ช็อก_ฟีเวอร์-01.jpg

เราลองมารู้จัก “มินต์” ให้มากขึ้น โดย ดร.วนะพร ทองโฉม นักกำหนดอาหารวิชาชีพ สังกัดงานสร้างเสริมสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ให้ข้อมูลกับ “สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส” ถึงเรื่องนี้

รู้จัก “มินต์” 8 ชนิดที่นิยมนำมาทำอาหาร เครื่องดื่ม และอุตสาหกรรม

พืชสกุลมินต์ หรือสกุล Mentha มีทั้งหมด 24 สปีชีส์หรือชนิด แต่ที่นิยมนำมาทำอาหาร เครื่องดื่ม หรือตกแต่งกลิ่น รวมทั้งใช้ในภาคอุตสาหกรรม มี 8 ชนิด ดังนี้

1) เปปเปอร์มินต์ (Peppermint) เป็นพันธุ์ผสมระหว่างชนิด Mentha aquatica หรือวอเตอร์มินต์ และ Mentha spicata หรือสเปียร์มินต์ เปปเปอร์มินต์ มีกลิ่นหอมเย็นซ่าชัดเจน เหมาะสำหรับนำมาทำเป็นน้ำมันหอมระเหยเมนทอล จึงนิยมนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งเป็นส่วนผสมของลูกอมและยาดม ช่วยสร้างความสดชื่นให้ร่างกาย

2) สเปียร์มินต์ (Spearmint) ใบของมินต์ชนิดนี้จะคล้ายกับปลายหอกตามชื่อ (Spear) มีขอบหยักชัดเจน แต่มีกลิ่นอ่อนกว่าเปปเปอร์มินต์ เป็นมินต์ที่เราค่อนข้างคุ้นชื่อ เพราะมีการสกัดน้ำมันหอมระเหยมาใช้ รวมถึงนำไปทำหมากฝรั่ง ชา แต่งกลิ่นขนม เครื่องดื่ม และยาสีฟันด้วย

3) ไวท์มินต์ (White Mint) มีอีกชื่อว่า มินต์ญี่ปุ่น (Japan Mint) มีสีเขียวอ่อนค่อนข้างกลมกว่ามินต์อื่น ๆ นิยมนำใบมาทำชาหรือเครื่องดื่ม ให้กลิ่นหอมเย็นนุ่มนวล
  
4) แบล็กมินต์ (Black Mint) มีใบเล็กกว่าไวท์มินต์ ก้านมีสีเข้มรูปทรงทอดเลื้อย แต่กลิ่นจะแรงและเย็นซ่ากว่าไวท์มินต์ นิยมนำมาทำชาเช่นกัน

5) วอเตอร์มินต์ (Water Mint) นำมาใช้ทำเครื่องดื่ม เพราะมีกลิ่นหอมที่ไม่ฉุนจนเกินไป

6) ไพน์แอปเปิลมินต์ (Pineapple Mint) บางทีก็เรียกว่า แอปเปิลมินต์ (Apple Mint) นิยมใช้ปลูกประดับ เลี้ยงง่าย แต่ก็ยังเอาใบไปทำอาหารได้ตามปกติ คนนิยมนำไปทำชา และอาหารหลายประเภท

7) ยูเอสมินต์ (U.S. Mint) หรือ มินต์อเมริกา มีจุดเด่นตรงก้านสีแดง ต่างจากพันธุ์อื่น ๆ แต่มีกลิ่นหอมเย็น นำไปใช้ทำอาหารและเครื่องดื่มได้

8) ช็อกโกแลตมินต์ (Chocolate Mint) ช็อกโกแลตมินต์ เกิดจาการผสมของมินต์ 2 สายพันธุ์ คือ M. Citrata (Orange mint) กับ M. piperita สิ่งที่ได้ก็คือมินต์ที่มีกลิ่นแบบช็อกโกแลต แต่ยังคงรสส้มจาง ๆ เหมือน Orange Mint ส่วนใบมีสีเขียวเข้มกว่ามินต์ชนิดอื่น ๆ และมีดอกสีม่วงอ่อน เนื่องจากมีกลิ่นหอมเย็น นิยมนำไปทำลูกอม หมากฝรั่ง ขนม และชา

“มินต์” กับ “สะระแหน่” เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ในการจัดจำแนกหมวดหมู่พืช (Plant Classification) ตามลำดับขั้นทางอนุกรมวิธาน มีหลักการจัดจำแนกหมู่พืช 7 ระดับ ได้แก่ Kingdom (อนาจักร), Division (หมวด), Class (ชั้น), Order (อันดับ), Family (วงศ์), Genus (สกุล) และ Species (ชนิด)

สำหรับ “มินต์” และ “สะระแหน่” อยู่จัดอยู่ในวงศ์ (Family) ที่มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Lamiaceae” หรือภาษาไทยเรียกว่าเป็น “วงศ์กะเพรา” หรือ “วงศ์มินต์” แต่อยู่คนละสกุล (Genus) โดย “มินต์” เป็นพืชในสกุล “Mentha”

ส่วน “สะระแหน่” ที่หลายคนเรียกว่ามินต์ เป็นพืชในวงศ์ (Family) ที่มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Lamiaceae” หรือภาษาไทยเรียกว่าเป็น “วงศ์กะเพรา” เช่นเดียวกับมินต์และกะเพรา แต่อยู่ในสกุล “Melissa” มีกลิ่นและรสที่เย็นซ่าแรงกว่ามินต์จึงเหมาะสำหรับทำอาหารเพื่อดับกลิ่นคาว

คุณประโยชน์น่ารู้เกี่ยวกับ “มินต์”

ประโยชน์ของมินต์ในแง่ของสารอาหาร พบว่า “ใบมินต์” นั้น มีสารอาหารที่มีประโยชน์มากมาย ทั้งวิตามินและแร่ธาตุ เช่น วิตามินซี วิตามินเอ วิตามินบี แร่ธาตุโพแทสเซียม แคลเซียม ธาตุเหล็ก แต่เนื่องจากมินต์นำมาทำเป็นอาหารและเครื่องดื่มปริมาณที่ใช้ไม่ได้มาก ดังนั้นในแง่ของประโยชน์ของสารอาหารก็จะได้รับน้อยไปตามปริมาณที่ใช้

แต่ความน่าสนใจของมินต์ คือ องค์ประกอบของน้ำมันหอมระเหย เช่น เมนทอล (Menthol) คาร์โวน (Carvone) ลิโมนีน (Limonene) และสารพฤกษเคมี เช่น Rosmarinic Acid, Eriocitrin, Luteolin และ Hesperidin

จากการศึกษาในหลอดทดลองพบว่า มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย ต้านไวรัส ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการแพ้ ต้านเซลล์มะเร็ง สำหรับการศึกษาในสัตว์ทดลอง พบว่าช่วยทำให้สบายท้อง บรรเทาอาการปวด เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และป้องกันโรคมะเร็ง

สำหรับการศึกษาในคนจะเป็นการศึกษาในส่วนของน้ำมันหอมระเหยดีต่อระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินหายใจและบรรเทาอาการปวด แต่การศึกษาประโยชน์ในส่วนของใบมินต์ทั้งใบยังมีอยู่อย่างจำกัด

แต่จากหลักฐานเท่าที่มีอยู่ ณ ปัจจุบันในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง รวมทั้งคุณสมบัติของน้ำมันหอมระเหยและสารพฤกษเคมีที่อยู่ในใบมินต์ มีความเป็นไปได้ที่มินต์จะช่วยบรรเทาอาการหวัด การอักเสบของปากและลำคอ การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ขับลม บรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ แก้ปวดท้อง ช่วยย่อยอาหาร บรรเทาความเหนื่อยล้า วิงเวียนปวดศีรษะและคลื่นไส้ ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย และดับกลิ่นปาก

แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากใบมินต์มีน้ำมันหอมระเหยที่มีความหอมและเย็นในปาก จึงถูกนำไปใส่เป็นส่วนประกอบของหมากฝรั่ง ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก เพราะช่วยทำให้เกิดความรู้สึกว่าลมหายใจสดชื่น นอกจากนี้ กลิ่นรสของมินต์ยังใส่ในอาหารและเครื่องดื่ม เช่น ไอศกรีม ทาร์ต น้ำมะนาว เครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์หรือค็อกเทล (COCKTAIL) อาหารประเภทเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อแกะ

เตือน ! บริโภคมินต์มาก กระตุ้นกรดไหลย้อน

สำหรับผู้ที่มีปัญหาเป็นกรดไหลย้อน การกินมินต์ในปริมาณมาก อาจจะทำให้ไปส่งเสริมให้เกิดอาการกรดไหลย้อนได้

ดังนั้น ผู้ที่มีอาการกรดไหลย้อน ควรสังเกตอาการตนเองเมื่อกินอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีมินต์เป็นส่วนประกอบ หากพบว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้กระตุ้นให้เกิดอาการกรดไหลย้อน ควรที่จะหลีกเลี่ยง

เปิดเมนูจาก “มินต์” เอาไปประกอบอาหารอะไรได้บ้าง ?

ดร.วนะพร ยกตัวอย่างเมนูมินต์ 3 ประเภท ที่นำ “มินต์” ไปเป็นส่วนประกอบได้ ดังนี้

1) เมนูเครื่องดื่มจากมินต์ เช่น ช็อกโกแลตมินต์, นมสดมินต์, โซดามินต์, ชามินต์, และน้ำมะนาวมินต์ เป็นต้น

2) เมนูของหวานจากมินต์ เช่น เค้กช็อกโกแลตมินต์, มินต์ช็อกโกแลตฟัดจ์, มาการองช็อกโกแลตมินต์, ไอศกรีมมินต์, ลูกอมมินต์ และหมากฝรั่งรสมินต์ เป็นต้น

3) เมนูอาหารจากมินต์ เช่น ไก่ย่างกับซอสมินต์, กุ้งผัดซอสเปปเปอร์มินต์, และเสต็กหมู ไก่ เนื้อแกะ เป็นต้น

“มินต์ช็อก” หรือ “ช็อกมินต์” 1 แก้ว เท่ากับกินข้าว 3 ทัพพี

ดร.วนะพร กางส่วนประกอบ “มินต์ช็อก” หรือ “ช็อกมินต์” พบว่า ส่วนประกอบหลักของเครื่องดื่ม ได้แก่ ไซรัปมินต์ นมข้นหวาน ผงโกโก้ นมสด นมข้นจืด ซึ่งสิ่งที่ควรระวังเนื่องจากมีน้ำตาลสูงถึง 12 ช้อนชา และมีไขมันอิ่มตัวจากนมสด และนมข้นจืด พลังงานต่อแก้วจะเทียบเท่ากับการกินข้าว 3 ทัพพี หรือ 240 กิโลแคลอรี

หากกินบ่อย ๆ ส่งผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้ทั้งจากเครื่องดื่ม และคาร์โบไฮเดรตที่ดูดซึมได้ง่ายจะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงเร็วก่อนถึงมื้อหลัก เนื่องจากอินซูลินจะหลั่งออกมามากเพื่อจัดการน้ำตาลที่เพิ่มสูงเร็ว ทำให้กินจุบจิบก่อนมื้ออาหารหลัก

สำหรับผู้ที่เป็น “โรคเบาหวาน” หากดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงจะส่งผลให้ระดับน้ำตาลเพิ่มสูงอย่างรวดเร็ว การกินน้ำตาลที่มากเกินไปเสี่ยงต่อการเกิดไขมันพอกตับ ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง และไขมันอิ่มตัวที่อยู่ในนมสดและนมข้นจืดอาจส่งผลให้ระดับไขมัน LDL เพิ่มสูงขึ้นได้ ซึ่งไขมันในเลือดที่สูงนี้ส่งผลให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

ทำไม “มินต์ช็อก” รสชาติคล้าย “ยาสีฟัน”

สรุปแล้ว “มินต์” ที่นำมาทำ "ยาสีฟัน" กับมินต์ที่นำมาใช้กับอาหารหรือเครื่องดื่ม แตกต่างกันหรือไม่ อ.วนะพร คลายข้อสงสัยในประเด็นดังกล่าวว่า มินต์ที่นิยมนำมาทำยาสีฟัน คือ

“สเปียร์มินต์” (Spearmint) มีส่วนผสมของคาร์โวน (Carvone) ร้อยละ 60 ลิโมนีน (Limonene) ร้อยละ10 และเมนทอลร้อยละ 0.5 ซึ่งทำให้สเปียร์มินต์มีกลิ่นหอมละมุนมาก และรวมทั้งคาร์โวน ลิโมนีน และเมนทอล ที่พบในสเปียร์มินต์ มีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรียได้

“เปปเปอร์มินต์” (peppermint) มีส่วนประกอบของเมนทอลสูงถึงร้อยละ 40 มีกลิ่นหอมเย็นของเมนทอลช่วยสร้างความสดชื่น และมีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรีย

อย่างไรก็ดี ทั้ง “สเปียร์มินต์” และ “เปปเปอร์มินต์” สามารถนำมาทำเครื่องดื่มได้เช่นเดียวกัน เพราะคุณสมบัติหอมเย็นจากน้ำมันหอมระเหยจากมินต์ จึงสามารถนำมาทำได้ทั้งยาสีฟันและเครื่องดื่ม

สุดท้ายแล้วใครจะชอบ “มินต์” ในรูปแบบของหวาน ของคาว หรือเครื่องดื่ม ก็สุดแท้แล้วแต่รสนิยมส่วนบุคคล
 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

สเปียร์มินต์มินต์เปปเปอร์มินต์มินต์ช็อกมินต์ช็อกโกแลตช็อกมินต์ช็อกโกแลตมินต์ช็อกโกแลตเครื่องดื่มยาสีฟัน
ผู้เขียน: Thai PBS Digital Media

บทความ NOW แนะนำ