นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายจากรัฐแคลิฟอร์เนีย ออกแบบหุ่นยนต์ปลูกต้นไม้ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากตัวนิ่ม หรือตัวลิ่น ได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันหุ่นยนต์เกี่ยวกับธรรมชาติประจำปี ซึ่งจัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ ในสหราชอาณาจักร
หุ่นยนต์ปลูกต้นไม้ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากตัวนิ่ม หรือตัวลิ่น (pangolin) ได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า โดยนำลักษณะการเคลื่อนไหวและการม้วนตัวของตัวนิ่มมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ ทำให้หุ่นยนต์นี้สามารถเคลื่อนที่ในสภาพแวดล้อมที่ท้าทายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยปลูกต้นไม้ได้อย่างแม่นยำและรวดเร็วในพื้นที่กว้าง ลดการใช้แรงงานมนุษย์และเพิ่มความปลอดภัยในการทำงาน สามารถควบคุมการทำงานได้จากระยะไกล จึงช่วยให้การฟื้นฟูป่าเป็นไปอย่างรวดเร็วและยั่งยืน
การแข่งขันหุ่นยนต์ธรรมชาติประจำปี ที่จัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ (Surrey University) ในสหราชอาณาจักร และได้รับทุนสนับสนุนจาก British Ecological Society เป็นการแข่งขันที่เชิญชวนผู้คนจากทั่วโลกให้ส่งไอเดียเกี่ยวกับหุ่นยนต์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ โดยแนวคิดที่ชนะเลิศจะถูกสร้างขึ้นจริงเพื่อเป็นต้นแบบในการใช้งานจริงโดยสถาบันวิจัยที่เป็นพันธมิตรอย่างน้อยหนึ่งแห่ง
หุ่นยนต์ปลูกต้นไม้เคลื่อนที่ด้วยล้อ 2 ข้าง มีหางยาวที่ใช้ถ่วงน้ำหนักเพื่อให้เกิดความสมดุล การขุดดินเพื่อปลูกต้นไม้จะใช้ขาหน้าทั้ง 2 ข้างที่ทำงานด้วยมอเตอร์เปรียบเสมือนมือและกรงเล็บในการขุดดิน สามารถล็อกอยู่กับที่ และงอเข้าออกได้โดยอัตโนมัติเพื่อทำการขุดดิน
เมื่อขุดดินจนเกิดหลุมเรียบร้อยแล้ว หุ่นยนต์จะเดินหน้าเพื่อทำการปล่อยเมล็ดพันธุ์ลงไปในหลุม โดยเมล็ดพันธุ์พืชจะถูกป้อนเข้าไปในเครื่องจ่ายผ่านรูด้านบนของหุ่นยนต์ และลำเลียงต่อด้วยสายพานภายในตัวหุ่นยนต์ไปยังบริเวณก้นเพื่อกระจายเมล็ดพันธุ์ลงสู่หลุมดินที่ขุดเอาไว้
ผู้ออกแบบมีแนวคิดเรื่องการปลูกป่าที่ยั่งยืน โดยการฟื้นฟูป่าด้วยวิธีการปลูกต้นไม้ให้เพิ่มขึ้นถือเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาโลกให้ยั่งยืนยิ่งขึ้น ซึ่งตัวนิ่มจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการขุดดิน จึงนำแรงบันดาลใจที่ได้จากพฤติกรรมธรรมชาติของสัตว์ชนิดนี้มาใช้ในการออกแบบหุ่นยนต์ปลูกต้นไม้
เรียบเรียงโดย ขนิษฐา จันทร์ทร
ที่มาข้อมูล: surrey, newatlas, dpaonthenet
ที่มาภาพ: surrey
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech