“ถอนฟัน” แบบไหน เสี่ยงเสียชีวิต มองรอบด้าน “ได้” มากกว่า “เสีย”


Lifestyle

1 มิ.ย. 66

ชาลี นวธราดล

Logo Thai PBS
“ถอนฟัน” แบบไหน เสี่ยงเสียชีวิต มองรอบด้าน “ได้” มากกว่า “เสีย”

“ถอนฟัน” อาจเป็นภาพจำสยดสยองของใครหลายคน เพราะมีทั้งความเจ็บปวด เลือดออก ตอกย้ำด้วยกรณีชายวัย 64 ปี เสียชีวิตเมื่อเร็ว ๆ นี้ ด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งญาติปักใจเชื่อว่าสาเหตุน่าจะมาจากการถอนฟัน 12 ซี่ 

เปิดข้อมูลดูยังมีอีกหลายเหตุการณ์ทั้งในและต่างประเทศ ที่เสียชีวิตจากการถอนฟัน อาจทำให้หลายคนยิ่งกังวลและหันหลังให้กับการถอนฟัน

จริง ๆ หากมองรอบด้าน การถอนฟันอาจได้มากกว่าเสีย ถอนฟันแบบไหนไม่เสี่ยงตาย ไทยพีบีเอส รวบรวมข้อมูลการถอนฟัน เรื่องสำคัญต้องรู้ ดังนี้ 

11 อาการต้อง “ถอนฟัน”
การถอนฟัน คือการรักษาโดยนำเอาฟันออกจากกระดูกเบ้าฟัน จากสาเหตุหลายประการ ดังนี้

1.ฟันผุมากจนถึงชั้นโพรงประสาทฟัน และไม่สามารถบูรณะได้

2.ฟันที่เป็นโรคปริทันต์อักเสบรุนแรง (Advanced periodontal disease) และไม่สามารถรักษาได้

3.ฟันน้ำนมไม่หลุดตามระยะเวลา ทำให้ฟันแท้ข้างใต้ขึ้นมาแทนที่ไม่ได้ หรือฟันแท้ขึ้นผิดตำแหน่ง

4.ฟันที่ต้องถอนเพื่อการรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน

5.ฟันที่ต้องถอนเพื่อการใส่ฟัน

6.ฟันที่ได้รับอุบัติเหตุ ฟันแตก ฟันหักแบบที่ไม่สามารถซ่อมแซมได้ หรือรากฟันหัก ไม่สามารถอุดหรือรักษาคลองรากฟันได้

7.ฟันที่อยู่ในแนวหักของขากรรไกร ในรายที่กระดูกเบ้าฟันหัก หรือกระดูกขากรรไกรหัก ต้องพิจารณาแต่ละรายให้ดีว่าควรถอนหรือควรเก็บไว้

8.ฟันที่มีพยาธิสภาพของกระดูกรอบ ๆ รากฟัน เช่น ถุงน้ำ (Cyst), เนื้องอก (Tumor), กระดูกอักเสบ (Osteomyelitis) หรือกระดูกขากรรไกรตาย (Bone necrosis)

9.ฟันที่อยู่ในบริเวณที่ต้องได้รับการฉายรังสีรักษา และมีภาวะเสี่ยงที่จะต้องถอนในอนาคต

10.มีปัญหาเกี่ยวกับตำแหน่งและการขึ้นของฟัน ซึ่งทันตแพทย์เห็นสมควรที่จะถอน เช่น ปัญหาฟันคุด ฟันชน (Embedded or Impacted tooth) ฟันเกิน (Supernumerary tooth) หรือฟันที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์

11.ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถดูแลสุขภาพช่องปากให้ดีได้ เกิดปัญหาติดเชื้อจากฟันและเหงือกบ่อย ๆ และไม่ใช้ฟันในการบดเคี้ยวอาหารอีกต่อไป อาจพิจารณาถอนออกเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อในช่องปากได้

การถอนฟัน คือการรักษาโดยนำเอาฟันออกจากกระดูกเบ้าฟัน

 

ทั้งนี้ เพราะการถอนฟันทำเพื่อกำจัดฟันที่มีพยาธิสภาพต่าง ๆ หรือฟันที่ไม่เกิดประโยชน์ออก กระทำภายใต้การให้ยาชาเฉพาะที่ หรือการให้ยาระงับความรู้สึกทั่วร่างกาย การถอนฟันมีทั้งข้อดี-ข้อเสีย ดังนี้

ข้อดีของการถอนฟัน
1.กำจัดอาการปวดจากสาเหตุต่าง ๆ

2.กำจัดเชื้อในช่องปาก ป้องกันการติดเชื้อในบริเวณใบหน้า

3.ช่วยให้ฟันแท้ขึ้นได้ตามปกติ

4.ลดโอกาสเกิดฟันผุ ในฟันที่ขึ้นซ้อนเก

5.ป้องกันไม่ให้มีฟันหลุดไปอุดหลอดลม กรณีฟันโยกและผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว

ข้อเสียของการถอนฟัน
1.ผู้ป่วยอาจมีความเจ็บปวด และเกิดความเครียดขณะรับการรักษา ในกรณีที่มีความเจ็บปวดมาก ทันตแพทย์จะให้ยาชาเฉพาะที่ระงับความเจ็บปวดเพิ่มเติม

2.สูญเสียฟันในการบดเคี้ยวอาหาร

3.สูญเสียความสวยงาม

4.กรณีสูญเสียฟันมาก ๆ อาจพบฟันที่เหลือสบโดนเหงือกเกิดแผลได้

 

การถอนฟัน มีข้อดีคือ สามารถกำจัดเชื้อในช่องปาก ป้องกันการติดเชื้อในบริเวณใบหน้า
 

ปวดฟันแต่ไม่ถอนฟันได้หรือไม่?
เมื่อทันตแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าต้องถอนฟัน แต่ปฏิเสธการรักษา อาจมีผลกระทบที่ตามมา ดังนี้  

• อาจมีการติดเชื้อจากฟันสู่ปลายรากและกระดูกเบ้าฟัน จนส่งผลให้มีการติดเชื้อบริเวณใบหน้าได้

• บดเคี้ยวอาหารลำบาก

• สามารถกลายเป็นเนื้องอกหรือถุงน้ำในขากรรไกรได้

• อาจมีการติดเชื้อจากในช่องปากไปสู่อวัยวะต่าง ๆ ได้ เช่น ในผู้ที่ใส่ลิ้นหัวใจเทียม ข้อเข่าเทียม อวัยวะต่าง ๆ ทำงานผิดปกติ

ถอนฟันแบบไหนเสี่ยงตาย?
มีหลายกรณีทั้งในและต่างประเทศ ที่ไปถอนฟันแล้วมาเสียชีวิตภายหลัง แต่ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่าอัตราการเสียชีวิตจากการถอนฟันมีเท่าไหร่กันแน่ ในทางการแพทย์การเข้ารับบริการถอนฟันจากทันตแพทย์ ด้วยอุปกรณ์เครื่องมือที่ได้มาตรฐาน ในสถานพยาบาล มีความปลอดภัยสูง

แต่การถอนฟันเองเสี่ยงเสียชีวิตมากกว่า อย่างกรณีถอนฟันแล้วมีเลือดไหลอย่างต่อเนื่องและปล่อยทิ้งไว้ โดยไม่หาทางแก้ไขรักษา กรณีแบบนี้อาจอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
การถอนฟันเอง ยังอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ อีกด้วย เช่น เสี่ยงติดเชื้อ รากฟันตกค้าง เป็นต้น

แต่บางคนเกิดถอนฟันไปเองแล้ว กรณีแบบนี้ควรรีบไปพบทันตแพทย์ เพื่อตรวจสอบว่ายังมีเศษฟันหรือรากฟันหลงเหลืออยู่ในเหงือกหรือไม่ พร้อมทั้งตรวจประเมินสุขภาพช่องปากและฟัน เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนหรือปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดตามมาภายหลัง

ถอนฟันที่ไหนดี?
หลายคนอาจมีคำถามต่อว่า แล้วจะเลือกสถานบริการทางทันตกรรมอย่างไรดี สามารถเลือกได้ทั้งโรงพยาบาลที่มีแผนกทันตกรรม คลินิกทันตกรรม ที่มีความน่าเชื่อถือ ได้มาตรฐาน มีบริการครบวงจร แจ้งราคาค่าใช้จ่ายเปิดเผย และสามารถตรวจสอบได้ ว่าสถานพยาบาลที่จะถอนฟันนั้น มีการขึ้นทะเบียนกระทรวงสาธารณสุขอย่างถูกต้อง มีเลขที่ใบอนุญาตประกอบกิจการ 11 หลัก นอกจากนี้ ควรสังเกต ความสะอาดภายในคลินิก ต้องสะอาด และไม่มีกลิ่นไม่พึงประสงค์

การถอนฟันเอง เสี่ยงเสียชีวิตที่สุด
 

เตรียมตัวก่อนไปถอนฟัน
ก่อนการถอนฟัน ทุกคนควรเตรียมตัวให้พร้อม คล้าย ๆ ตอนก่อนไปฉีดวัคซีนโควิด-19 ยิ่งคนที่มีสภาวะทางสุขภาพแตกต่าง ยิ่งต้องเตรียมตัวให้ดี ดังนี้

1.ควรมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง รับประทานอาหาร และนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ

2.ผู้มีโรคประจำตัว มียารับประทานประจำ ควรรับประทานอาหาร และยามาตามปกติ

3.ในเด็กอาจจะต้องเข้ารับการรักษาห่างจากมื้ออาหาร 2 ชั่วโมงขึ้นไป เพื่อป้องกันการอาเจียน

4.ผู้มีโรคประจำตัวที่อาจมีผลต่อการรักษา ควรได้รับความเห็นชอบในการรักษาจากแพทย์ก่อนและเตรียมตัวให้พร้อมรับการถอนฟัน เช่น ผู้ที่มีโรคทางโลหิตวิทยา ผู้ที่รับประทานยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด ผู้ที่อยู่ในระหว่างการให้เคมีบำบัดหรือฉายรังสีรักษา ผู้ที่อยู่ในภาวะวิกฤต เป็นต้น

5.ผู้ที่เป็นโรคหัวใจรุนแรง ผู้ที่ใส่อวัยวะเทียม เช่น ลิ้นหัวใจ ข้อเข่าเทียม ผู้ที่เป็นหลอดเลือดดำอุดตัน  จะต้องรับประทานยาปฏิชีวนะก่อนการรักษา 1 ชั่วโมง

6.ผู้ที่รับประทานยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด เช่น วาฟาริน (Warfarin) จะได้รับการส่งตรวจค่าการแข็งตัวของเลือดก่อน เพื่อให้ทันตแพทย์พิจารณาว่าเหมาะสมที่จะถอนฟันได้หรือไม่ ซึ่งค่าความแข็งตัวของเลือดน้อยกว่าหรือเท่ากับ 3.5 สามารถถอนฟันได้

7.ผู้ที่วิตกกังวลสูงหรือผู้ที่ไม่สามารถให้ความร่วมมือในการรักษา อาจพิจารณาทำการรักษาภายใต้ยาระงับความรู้สึกทั่วร่างกาย

8.ควบคุมความดันโลหิต ไม่ควรต่ำกว่า 90/60 มิลลิเมตรปรอท และไม่ควรสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท อาจผ่อนผันให้ถึง 160/90 มิลลิเมตรปรอท ในผู้สูงอายุหรือกรณีปวดฟันมากความดันอาจขึ้นสูงได้ หรือในผู้ป่วยบางรายที่มีความดันโลหิตต่ำในเกณฑ์ที่แพทย์ยอมรับได้จึงจะได้รับการถอนฟัน

9.วันที่มารับการรักษาผู้ป่วยจะได้รับการซักประวัติด้านสุขภาพอีกครั้ง ควรให้ข้อมูลด้านสุขภาพของตนที่ถูกต้องและครบถ้วน โดยเฉพาะปัญหาที่เคยเกิดขึ้นเมื่อได้รับการถอนฟัน ปัญหาการหยุดไหลของเลือด โรคประจำตัว รวมถึงการแพ้อาหาร และยาประเภทต่าง ๆ เป็นต้น

9 ข้อ ต้องทำหลังถอนฟัน
หลังจากผ่านพ้นช่วงเวลาทนทรมานแล้ว อีกไม่นานโลกที่สดใส กำลังรอเราอยู่ จะด้วย 1 ชั่วโมงหลังถอนฟัน หรือ 1 สัปดาห์ หลังถอนฟัน มีควรข้อปฏิบัติหลังถอนฟัน ดังนี้

1.กัดผ้าก๊อซนาน 1-2 ชั่วโมง กลืนน้ำลายตามปกติ 

2.ครบ 2 ชั่วโมง คายผ้าก๊อซออก ถ้ายังมีเลือดซึมจากแผลให้ใช้ผ้าก๊อซที่สะอาดกัดใหม่อีกประมาณ 1 ชั่วโมง

3.ประคบด้วยน้ำแข็งภายนอกบริเวณแก้มข้างที่ทำการผ่าตัดหรือถอนฟัน 24-48 ชั่วโมง

4.รับประทานอาหารอ่อน ๆ ภายหลังรับประทานอาหารให้บ้วนน้ำเบา ๆ ได้ในช่วง 3 วันแรก และหลังจากนั้นสามารถบ้วนน้ำตามปกติ

5.รับประทานยาแก้ปวดหลังถอนฟัน 1–2 ชั่วโมง ก่อนที่ยาชาจะหมดฤทธิ์ ปกติจะทนอาการปวดได้ในช่วง 6–12 ชั่วโมงหลังถอนฟัน

6.แปรงฟันทำความสะอาดได้ตามปกติ

7.ตัดไหมได้ภายหลังการถอนฟัน 5-7 วัน

8.กรณีมีรูทะลุโพรงอากาศ (ทะลุไซนัส) ให้งดการบ้วนน้ำรุนแรง กรณีไอ จาม ให้อ้าปากกว้าง เพื่อลดแรงดัน งดสั่งน้ำมูก ให้ซับ ๆ เพียงอย่างเดียวและงด ว่ายน้ำ 2 เดือน

9.หากมีปัญหาหรือผลแทรกซ้อนเกิดขึ้น ให้โทรนัดหมายเพื่อกลับมารับการตรวจวินิจฉัยอีกครั้ง

ก่อนการถอนฟัน ทุกคนควรเตรียมตัวให้พร้อม คล้าย ๆ ตอนก่อนไปฉีดวัคซีนโควิด-19
 

5 ข้อห้าม ทำแล้วอาจเลือดไหลไม่หยุด หลังถอนฟัน
หลังถอนฟันบางคนอาจมีภาวะเลือดไหลไม่หยุดได้ หลายครั้งอาจเกิดจากการกระทำ ฉะนั้นควรหลีกเลี่ยง 5 ข้อห้ามหลังถอนฟัน ที่อาจทำให้เลือดไหลไม่หยุด ดังนี้

1.ห้ามดูดแผล หรือเอานิ้วและวัสดุใด ๆ เขี่ยแผล

2.ห้ามบ้วนน้ำหรือน้ำลายภายหลังการทำการผ่าตัดหรือถอนฟัน ภายใน 1-2 ชั่วโมง

3.ห้ามสูบบุหรี่ กินหมาก และดื่มสุรา ภายใน 24 ชั่วโมง

4.ห้ามออกกำลังกาย ภายใน 24 ชั่วโมง ในผู้มีภาวะเสี่ยงเลือดออก ควรงดออกกำลังกาย 5-7 วัน หลังถอนฟัน

5.ห้ามใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีแอลกอฮอล์ หรือบ้วนน้ำแรง ๆ หลังถอนฟัน 3 วัน

ข้อมูล โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์, Plus Dental Clinic

📖 อ่านและรับชมข่าวเพิ่มเติม :
• "ทันตแพทยสภา"สอบปมถอนฟัน 12 ซี่ตาย รพ.จ่อแถลง 29 พ.ค.

ไขข้อข้องใจ ถอนฟันได้มากที่สุดกี่ซี่ต่อ 1 ครั้ง?

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ถอนฟันสุขภาพ
ชาลี นวธราดล
ผู้เขียน: ชาลี นวธราดล

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส

บทความ NOW แนะนำ