ช่วงหยุดยาวติดต่อกัน 6 วันที่จะถึงนี้ คาดว่าผู้คนจำนวนไม่น้อยจะใช้ฮอลิเดย์พักผ่อนเอาใจไปหย่อนตามต่างจังหวัดแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีการจองที่พักสำหรับค้างคืน กลายเป็นโอกาสให้เหล่ามิจฉาชีพฉวยโอกาสนี้ สร้างเพจปลอมที่เหมือนจริงมาตบตาหลอกให้เราจองและจ่ายมัดจำ ด้วยเหตุดังกล่าว ไทยพีบีเอสจึงขอนำทริก “เช็กและป้องกัน” ควรรู้มาให้ได้ทราบ เพื่อที่คุณจะได้เข้าพักกับที่พักจริงไม่ตกเป็นเหยื่อ เที่ยวอย่างมีความสุข
จากข้อมูลของ “ตำรวจไซเบอร์” หรือ กองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ทำให้ทราบว่า เหล่ามิจฉาชีพมักสร้างเพจเฟซบุ๊กปลอมขึ้นมา โดยลอกเลียนแบบเพจที่พักจริงแบบเหมือนมาก จากนั้นจะปลอมเป็นเจ้าของที่พักหรือพนักงาน พูดคุยหว่านล้อมให้โอนเงินจองค่าที่พักและจ่ายค่ามัดจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่จังหวัดแหล่งท่องเที่ยว เช่น ชลบุรี ระยอง ภูเก็ต จันทบุรี ตราด
รู้จัก 2 กลหลอกลวง ชวนจองที่พัก
- สร้างเพจปลอมให้เหมือนเพจจริง ก็อปปี้ภาพโปรไฟล์ ภาพหน้าปก เนื้อหา และโปรโมชันต่าง ๆ ของเพจจริงมาหลอกลวง และมีการยิงโฆษณาเพื่อหาเหยื่ออีกด้วย
- แฝงตัวเข้าไปในกลุ่มแนะนำที่พักหรือโรงแรม โดยมักโพสต์ข้อความในลักษณะมีที่พักหลุดจองราคาดี เพื่อให้ผู้เสียหายหลงเชื่อแล้วโอนเงิน
How to รู้ 7 ทริก เช็กและป้องกันก่อนถูกเพจที่พัก-โรงแรมปลอม หลอกจอง-จ่ายมัดจำ
1. จองที่พักผ่านช่องทางที่เป็นทางการของสถานที่พักนั้น ๆ หรือใช้บริการแพลตฟอร์มจองที่พักไว้ใจได้ ซึ่งทางแพลตฟอร์มจะมีการดีลกับที่พักโดยตรง ช่วยให้มั่นใจว่าไม่โดนหลอก
2. ตรวจสอบชื่อที่พักสถานที่นั้น ๆ ว่าชื่อถูกต้อง มีชื่อคล้ายกันหรือไม่ นอกจากนี้เฟซบุ๊กจริงจะต้องมีเครื่องหมายยืนยันตัวตน ถ้าไม่มีให้สันนิษฐานว่าปลอมไว้ก่อน
3. สอบถามไปยังที่พักก่อนโอนเงิน ว่าเพจที่พักถูกต้อง รวมถึงต้องดูชื่อเลขบัญชีด้วย ซึ่งโดยปกติส่วนใหญ่แล้วชื่อบัญชีมักเป็นชื่อสถานที่พักนั้น ๆ หรือชื่อบริษัท หลีกเลี่ยงการโอนเงินไปยังบัญชีบุคคลธรรมดา
4. ระมัดระวังโฆษณาชวนเชื่อให้เหยื่อหลงกล เช่น ที่พักหลุดจอง เป็นต้น
5. เช็กเพจว่ามีการเปลี่ยนชื่อเพจมาก่อนหรือไม่ ผู้จัดการเพจอยู่ในประเทศใด รวมถึงตรวจสอบความโปร่งใสของเพจด้วย
6. เช็กหมายเลขบัญชีทุกครั้งว่ามีประวัติการหลอกลวงหรือไม่ เช่น ผ่านเว็บไซต์ Google, blacklistseller.com หรือ chaladohn.com
7. หากเป็นไปได้ขอวิดีโอคุยกับทางที่พัก เพื่อดูว่าเป็นพนักงานของทางที่พักจริงหรือเปล่า อาจให้มีการเดินให้ดูสถานที่พัก เป็นต้น
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : กองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.)