เข้าสู่ฤดูร้อน อุณหภูมิที่สูงในหน้าร้อน ไม่ได้ส่งผลเฉพาะร่างกายมนุษย์ แต่ความร้อนที่ “สูง” ยังทำอันตรายแก่บรรดาสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะการเกิด “อาการฮีทสโตรกในสัตว์” ที่อาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ Thai PBS รวมแง่มุมที่ควรรู้ เพื่อป้องกันอาการฮีทสโตรกในสัตว์เลี้ยงมาบอกกัน
รู้จัก “ฮีทสโตรกในสัตว์” หรือ “โรคลมแดดที่เกิดกับสัตว์”
โรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนออกมาได้ทันถ่วงที เนื่องจากกลไกในการปรับอุณหภูมิของร่างกายล้มเหลว ทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ ส่งผลให้นำไปสู่ภาวะที่อวัยวะสำคัญต่าง ๆ ในร่างกายล้มเหลว
โดยสามารถเกิดฮีทสโตรกในสัตว์ได้เช่นกัน โดยเฉพาะสุนัขและแมว มีต่อมเหงื่อบริเวณฝ่าเท้าและจมูก โดยอาศัยการระบายความร้อนจากการหายใจเป็นหลัก แต่หากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ตามปกติ จะเกิดภาวะฮีตสโตรกขึ้นได้
ฮีทสโตรกในสัตว์เลี้ยงเสี่ยงจริงหรือ ?
ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการฮีทสโตรกในสัตว์ สาเหตุหลักคือ อยู่ท่ามกลางอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน ๆ จนมีอุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้น รวมทั้งยังเกิดได้จากโรคติดเชื้อที่ทำให้มีไข้สูง
นอกจากนี้ การพาสัตว์ออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมกับสัตว์เลี้ยงในเวลาที่มากเกินไป รวมถึงสัตว์มีความเครียด ที่มาจากการเลี้ยงดู ทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยให้เกิดอาการฮีทสโตรกในสัตว์ได้ทิ้งสิ้น
ฮีทสโตรกในสัตว์ที่เกิดขึ้นกับสุนัข พันธุ์ไหนบ้างที่เสี่ยง
1. พันธุ์หน้าสั้น (Brachycephalic Breeds)
- เช่น บูลด็อก (อังกฤษ/ฝรั่งเศส), พัก, บ็อกเซอร์, ชิห์ทซุ, ปักกิ่ง
- ลักษณะหน้าสั้นทำให้ทางเดินหายใจสั้นและแคบ หายใจลำบาก ระบายความร้อนผ่านการหอบได้ไม่ดี
2. พันธุ์ขนหนา/ขนสองชั้น
- เช่น ไซบีเรียนฮัสกี้, อลาสกันมาลามิวท์, ซามอยด์, เช็ตแลนด์ชีพด็อก
- ขนหนาช่วยเก็บความร้อนในฤดูหนาว แต่ทำให้ร้อนจัดในฤดูร้อน
3. พันธุ์ใหญ่หรือน้ำหนักตัวมาก
- เช่น เซนต์เบอร์นาร์ด, มาสทิฟ, ลาบราดอร์ (หากอ้วน)
- ร่างกายใหญ่ระบายความร้อนได้ช้า และสุนัขอ้วนมีไขมันสะสมมาก
4. พันธุ์อื่นๆ ที่ต้องระวัง
- สุนัขสูงอายุหรือมีโรคประจำตัว (เช่น หัวใจ, ระบบหายใจ)
- สุนัขขนสีดำ (ดูดซับความร้อนมากกว่า)
ฮีทสโตรกในสัตว์ที่เกิดขึ้นกับแมว พันธุ์ไหนบ้างที่เสี่ยง
1. พันธุ์หน้าสั้น (Brachycephalic Breeds)
- เช่น เปอร์เซีย, ฮิมาลายัน, เอ็กโซติกชอร์ตแฮร์
- โครงหน้าสั้นส่งผลต่อการหายใจและระบายความร้อน
2. พันธุ์ขนยาว
- เช่น เมนคูน, แร็กดอลล์, นอร์เวย์เจียนฟอเรสต์แคท
- ขนหนาอาจทำให้ร้อนจัดหากอยู่ในสภาพอากาศร้อนจัด
3. พันธุ์ไร้ขน (Sphynx)
- แม้ไม่มีขน แต่ผิวหนังอาจดูดซับความร้อนได้เร็ว และอาจมีระบบการควบคุมอุณหภูมิไม่มีประสิทธิภาพ
4. แมวอ้วนหรือสูงอายุ
- แมวที่มีน้ำหนักเกินหรืออายุมากอาจปรับตัวกับความร้อนได้ช้า
ฮีทสโตรกในสัตว์อื่นๆ ในช่วงฤดูร้อนมีสัตว์อะไรบ้างที่เสี่ยงกับโรคนี้
1. ฮีทสโตรกในกระต่าย (Rabbits)
เหตุผลเสี่ยง
- ไม่มีต่อมเหงื่อ ระบายความร้อนผ่านใบหูเป็นหลัก
- ขนหนาและร่างกายเล็ก ไวต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ
- สายพันธุ์ที่ต้องระวังกระต่ายขนยาว เช่น แองโกลา (Angora)
2. ฮีทสโตรกในหนูตะเภา (Guinea Pigs) และแฮมสเตอร์ (Hamsters)
เหตุผลเสี่ยง
- ขนาดตัวเล็ก ระบบควบคุมอุณหภูมิไม่มีประสิทธิภาพ
- แฮมสเตอร์อาจเสี่ยงมากหากกรงอยู่ในที่ร้อนจัด (เกิน 30°C)
3. ฮีทสโตรกในนก (Birds)
เหตุผลเสี่ยง
- นกหายใจเร็วเมื่อร้อน (คล้ายการหอบ) แต่หากอุณหภูมิสูงเกินไปอาจเสียชีวิต
- สายพันธุ์ขนหนา เช่น นกแก้ว (Parrots) หรือนกคีรีบูน (Cockatoos)
ปัจจัยความเสี่ยงฮีทสโตรกในสัตว์ขึ้นกับสาเหตุใดบ้าง
นอกจากปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลให้สัตว์เกิดอาการฮีทสโตรกในสัตว์ได้แล้ว ลักษณะของสัตว์เลี้ยงก็มีผลให้เกิดอาการฮีทสโตรกในสัตว์ได้เช่นเดียวกัน เช่น
- สัตว์มีน้ำหนักตัวมากเกินปกติ
- สัตว์เลี้ยงที่มีขนหนา-ขนยาว
- สัตว์เลี้ยงที่มีอายุมาก หรืออยู่ในช่วงวัยอายุน้อย
- สุนัข หรือแมวที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ, โรคอ้วน, โรคหลอดลมตีบ, โรคหอบหืด ถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงทั้งสิ้น
วิธีการสังเกตอาการฮีทสโตรกในสัตว์เลี้ยง
- มีอาการหายใจรุนแรง หายใจไม่ทัน อ้าปากค้าง และหอบมากกว่าปกติ
- อุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 41 องศาเซลเซียส หรือ 106 องศาฟาเรนไฮต์
- น้ำลายยืด จมูกและปากเปียก เซื่องซึม นอนอยู่กับที่ไม่ขยับ หรือเดินเซ
- หัวใจเต้นเร็วผิดปกติหรือเต้นผิดจังหวะ ม่านตาขยาย อาจจำเจ้าของไม่ได้ หรือดุกว่าปกติ ในระยะเวลาสั้นๆ
- ตา เหงือก และลิ้นจะแดงกว่าปกติ
อาการฮีทสโตรกในสัตว์กับการปฐมพยาบาล
สิ่งสำคัญที่จะช่วยบรรทาอาการฮีทสโตรกในสัตว์เลี้ยง คือ การระบายความร้อนออกจากร่างกาย แต่ไม่ควรลดลงเร็วจนเกินไป สิ่งที่ต้องปฏิบัติเบื้องต้น คือ
- นำสัตว์เลี้ยงออกมายังบริเวณที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก
- ปลดพันธนาการต่าง ๆ ออก เช่น ปลอกคอ สายจูง หรือเสื้อผ้าที่สวมใส่ เพื่อให้หายใจสะดวกขึ้น
- ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว และบริเวณจุดอับต่าง ๆ เช่น รักแร้ ขาหนีบ ใต้ฝ่าเท้า รวมถึงอย่าใช้น้ำที่เย็นจนเกินไป อาจทำให้สัตว์เลี้ยงเกิดอาการช็อกได้ แนะนำให้ใช้น้ำที่อุณหภูมิห้อง
- นวดบริเวณขา เพื่อกระตุ้นระบบการไหลเวียนเลือด
ลดอาการฮีทสโตรกในสัตว์ในช่วงหน้าร้อนยังไงบ้าง
- ควรให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในบริเวณที่ร่ม อากาศถ่ายเท โดยเปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศ
- เติมน้ำหรือน้ำเย็นอย่างเพียงพอ ให้ตลอดทั้งวัน
- หมั่นพาสัตว์เลี้ยงไปทำกิจกรรมว่ายน้ำ หรืออาบน้ำเพื่อลดความร้อน
- เพิ่มการดูแลสัตว์เลี้ยงที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพ เช่น สัตว์ป่วย สัตว์สูงอายุ สัตว์ที่อยู่ในช่วงพักฟื้น ให้มากขึ้น
- เพิ่มการดูแลสัตว์เลี้ยงที่มีความเสี่ยงเฉพาะสายพันธุ์อย่างใกล้ชิด เช่น สัตว์ที่มีขนหนา สัตว์พันธุ์หน้าสั้น
นอกจาก “ฮีทสโตรกในสัตว์” ยังต้องระวังโรคที่มากับหน้าร้อนอื่นๆอีก
นอกจากโรคฮีทสโตรกในสัตว์ หรือโรคลมแดดที่เกิดในสัตว์แล้ว ยังมีโรคที่เกิดกับสัตว์เลี้ยงในช่วงหน้าร้อนที่ต้องระวัง
1 พยาธิเม็ดเลือด
พบได้ในสุนัขทุกเพศ ทุกวัย ทุกสายพันธุ์ ตัวการสำคัญคือ เห็บ ที่เป็นพาหะของโรค หากสุนัขเกิดอาการติดเชื้อ จะมีอาการไข้สูง เซื่องซึม ไม่อยากอาหาร หากมีอาการรุนแรง อาจถึงขั้นเสียชีวิต หมั่นทำความสะอาดสุนัข และกำจัดเห็บที่เป็นพาหะของโรค
2 ท้องเสีย
สภาพอากาศที่ร้อนจัด ทำให้เชื้อแบคทีเรียในอาหารเติบโตได้เร็ว ส่งผลให้สัตว์เลี้ยงเกิดอาการท้องเสีย นอกจากนี้อากาศที่ร้อนระอุ ยังทำให้สัตว์เลี้ยงกินน้ำมากผิดปกติ และเกิดอาการถ่ายเหลวมากกว่าที่ควร หากพบว่าสัตว์เลี้ยงมีอาการท้องเสีย ควรงดให้อาหารชั่วคราว 6 – 12 ชม. เพื่อพักการทำงานของลำไส้ อาจเสริมด้วยน้ำเกลือ เพื่อทดแทนแร่ธาตุที่เสียไป หากอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบไปพบสัตวแพทย์ทันที
3 พิษสุนัขบ้า
โรคพิษสุนัขบ้า เกิดได้ทั้งในสุนัข และพบได้ทั้งแมว กระต่าย หนู กระรอก สาเหตุมักมาจากการสัมผัสกับน้ำลายจากการถูกสัตว์กัด ข่วน หรือเลียบริเวณที่มีรอยแผล สัตว์เลี้ยงที่ป่วยเป็นโรคดังกล่าว มักจะมีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด กัดทุกอย่างที่ขวางหน้า น้ำลายไหลมากผิดปกติ และนำไปสู่การเสียชีวิตได้ในที่สุด วิธีป้องกัน ควรพาสัตว์เลี้ยง ทั้งสุนัขและแมว ไปฉีดวีคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงโรคร้ายดังกล่าว
หน้าร้อนนี้ ดูแล “สัตว์เลี้ยง” ให้ปลอดภัย ไม่ประสบกับโรคร้าย เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีตลอดไป…
- ฮีทสโตรกหน้าร้อน อันตรายในสัตว์เลี้ยง