ถึงแม้จะมีการต่อต้านจากทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มตัวแทนอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ได้ออกมาคัดค้านในเรื่องนี้แต่ก็ไม่เป็นผล รัฐบาลญี่ปุ่นโดย “ฟูมิโอะ คิชิดะ” นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศออกมาเรียบร้อยว่า หากสภาพอากาศเอื้ออำนวย จะเริ่มการปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิลงสู่มหาสมุทร ในวันที่ 24 ส.ค. 66
สำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวขนาด 9.0 แมกนิจูด และคลื่นสึนามิ เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2011 แหล่งไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าฯ ได้เสียหาย ทำให้ไม่มีไฟ เครื่องหล่อเย็นไม่ทำงาน แกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์เกิดความร้อนสูง ก่อนจะเกิดการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในน้ำที่อยู่ในโรงไฟฟ้า และต้องเร่งอพยพคนออกนอกพื้นที่
โดยหลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว โรงไฟฟ้าฯ ได้ดูดน้ำทะเลจากข้างนอกหลายหมื่นตันเพื่อช่วยในการหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ไม่ให้กัมมันตภาพรังสีรั่วไหลออกมา ซึ่งน้ำที่นำไปหล่อเย็นเกิดการปนเปื้อน ต้องหาที่จัดเก็บในโรงไฟฟ้าฯ ไม่สามารถปล่อยทิ้งได้
ทั้งนี้ทางญี่ปุ่นเผยว่าการปล่อยน้ำที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีที่บำบัดแล้วลงทะเล มีความปลอดภัย โดยสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ซึ่งเป็นหน่วยงานเฝ้าระวังนิวเคลียร์ของสหประชาชาติไฟเขียวแผนดังกล่าวเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยระบุว่าแผนดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานสากล และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อมนั้น “น้อยมาก”
และถึงแม้จะมีการรับรอง แต่ประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศ โดยเฉพาะจีน ก็ยังแสดงความกังขาต่อความปลอดภัยของแผนดังกล่าว
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ ThaiPBS
--------------------------
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : รอยเตอร์