“กล้วยมูสัง” หรือในบางถิ่นเรียกว่า “กล้วยหมูสัง” หรือ “กล้วยพังพอน” ฟังดูเหมือนกล้วยเพราะมีคำว่า “กล้วย” นำหน้ามาเต็ม ๆ แต่แท้จริงแล้วกล้วยมูสังไม่ใช่พืชในวงศ์กล้วย (Musaceae) คำว่า “กล้วย” น่าจะมีที่มาจากลักษณะของผลที่ออกเป็นกลุ่มแน่น ผลย่อยทรงกระบอก เรียวยาว คล้ายหวีกล้วยแบบย่อขนาด เมื่อผลสุกจะมีสีเหลืองอมส้ม ดูเผิน ๆ ก็คล้ายหวีกล้วย จึงอาจเป็นที่มาของการตั้งชื่อในลักษณะเปรียบเทียบ ส่วนคำว่า “มูสัง” เป็นคำในภาษาถิ่นภาคใต้ที่หมายถึง “ชะมด” (มูซัง/มูแซ แปลว่าชะมดในภาษามลายู) ซึ่งเป็นสัตว์ป่าที่ชอบกินผลสุกของพืชชนิดนี้เป็นพิเศษ กล้วยมูสังจึงเหมือนเป็น “กล้วยของชะมด” หรือผลไม้โปรดของมันนั่นเอง
ในทางพฤกษศาสตร์ “กล้วยมูสัง” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า 𝙐𝙫𝙖𝙧𝙞𝙖 𝙜𝙧𝙖𝙣𝙙𝙞𝙛𝙡𝙤𝙧𝙖 Roxb. ex Hornem. ซึ่งจัดอยู่ในวงศ์กระดังงา (𝗔𝗻𝗻𝗼𝗻𝗮𝗰𝗲𝗮𝗲) วงศ์เดียวกับพืชที่มีกลิ่นหอมหลายชนิด เช่น นมแมว (𝘍𝘪𝘴𝘴𝘪𝘴𝘵𝘪𝘨𝘮𝘢 𝘱𝘰𝘭𝘺𝘢𝘯𝘵𝘩𝘰𝘪𝘥𝘦𝘴 (G.Don) Merr.) และ กระดังงา (𝘊𝘢𝘯𝘢𝘯𝘨𝘢 𝘰𝘥𝘰𝘳𝘢𝘵𝘢 (Lam.) Hook.f. & Thomson)
กล้วยมูสังเป็นไม้เถาเลื้อยขนาดใหญ่ กิ่งอ่อนมีขนละเอียดสีน้ำตาลปกคลุม ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปร่างขอบขนานแกมไข่กลับ ปลายใบแหลม โคนสอบมน ดอกออกเดี่ยวใกล้ปลายยอด สีแดงถึงแดงเข้ม แซมสีเหลืองอ่อนที่โคนกลีบ กลีบรองดอกรูปสามเหลี่ยมสีเขียวอ่อน กลีบดอก 6 กลีบ รูปขอบขนานถึงรูปไข่แคบ ปลายสอบถึงเป็นติ่งแหลม เกสรผู้จำนวนมากสีเหลือง ผลเป็นผลกลุ่ม มีผลย่อยจำนวนมาก รูปทรงกระบอก ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก ผลสุกส่งกลิ่นหอม
กล้วยมูสังเป็นพืชที่มักพบในป่าดิบเขตต่ำ ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงความสูง 400 เมตรจากระดับน้ำทะเล กระจายพันธุ์ในพื้นที่ต่าง ๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน, เมียนมา, ไทย, ลาว, เวียดนาม, กัมพูชา, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และ นิวกินี
กล้วยมูสังยังมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ที่มักจะส่งกลิ่นในช่วงพลบค่ำและกลางคืน ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมของชะมดที่เป็นสัตว์กินผลไม้ที่มักจะออกหากินในช่วงเวลาดังกล่าว ชะมดเป็นสัตว์ที่มีกิจกรรมหากินในเวลากลางคืน โดยเฉพาะผลไม้ที่มีน้ำหวานหรือกลิ่นหอมดึงดูด ความสัมพันธ์นี้ทำให้กล้วยมูสังมีบทบาทสำคัญในธรรมชาติเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญสำหรับชะมดและสัตว์ป่าอื่น ๆ
ใบและรากของกล้วยมูสังสามารถนำมาต้มกับน้ำเพื่อดื่มเป็นยาบำบัดอาการปวดท้อง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการใช้ประโยชน์ทางสมุนไพรในท้องถิ่น การมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ และมีดอกสีสันสวยงาม สามารถออกดอกและผลได้ตลอดทั้งปี จึงเป็นพืชที่มีศักยภาพในการปลูกประดับในสวนเขตร้อนและสวนป่าธรรมชาติ
การรู้จักชื่อพืชและลักษณะของพืชอย่างถูกต้องไม่เพียงแต่ช่วยให้เราเข้าใจพืชพรรณในธรรมชาติได้ดีขึ้น แต่ยังช่วยให้เราใช้ประโยชน์จากพืชต่าง ๆ อย่างปลอดภัย โดยเฉพาะในกรณีที่บางพืชมีชื่อคล้ายกับพืชที่มีพิษซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ ดังนั้น การศึกษาลักษณะพืชอย่างละเอียดก่อนการใช้งานจึงเป็นสิ่งที่เราควรให้ความสำคัญเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง
Thai PBS Sci & Tech พรรณไม้น่ารู้
📌อ่าน : กล้วยไม้เข็มม่วง อัญมณีแห่งผืนป่าไทย
📌อ่าน : เรื่องกล้วย ๆ ที่ไม่กล้วย ! EP2 : “กล้วยน้ำบราซิล” ไม่ใช่พืชวงศ์กล้วย
📌อ่าน : เรื่องของ “กล้วย” ที่ไม่กล้วย EP1 “กล้วยพัด” ไม่ใช่กล้วยแต่ก็เป็นเครือญาติกับกล้วย
📌อ่าน : “ดอกจาน” ดอกไม้แห่งการบอกลา (เวลา) กับวิทยาศาสตร์ที่ซ่อนอยู่
📌อ่าน : ช่วยลดน้ำหนัก ! “ส้มแขก” สมุนไพรพื้นบ้านสรรพคุณหลากหลาย
📌อ่าน : สมุนไพรไทยทรงคุณค่า “กัลปพฤกษ์” ต้นไม้มงคลแห่งป่าเมืองไทย
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
ภาพจาก : Cerlin Ng
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : ธวัชพงศ์ บุญมา นิสิตปริญญาเอก หลักสูตรความหลากหลายทางชีวภาพ สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช ม.มหาสารคาม
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech