ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เรื่องน่ารู้ความปลอดภัย "ไซต์งานก่อสร้าง"


Insight

19 พ.ค. 68

สันทัด โพธิสา

Logo Thai PBS
แชร์

เรื่องน่ารู้ความปลอดภัย "ไซต์งานก่อสร้าง"

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2693

เรื่องน่ารู้ความปลอดภัย "ไซต์งานก่อสร้าง"
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

เป็นข่าวที่สร้างความตกใจ กรณีคนงานก่อสร้างตกหลุม ความลึกกว่า 19 เมตร โดยเหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นบริเวณจุดก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าหลานหลวง ซอย 6 ทั้งนี้ เรื่องความปลอดภัยถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับ “ไซต์งานก่อสร้าง” 

Thai PBS ชวนทำความเข้าใจ หลักการความปลอดภัยของไซต์งานก่อสร้าง มีอะไรบ้างที่ควรรู้ ?

เข้าใจความหมาย “ไซต์งานก่อสร้าง”

ไซต์งานก่อสร้าง หรือภาษาอังกฤษคือ Construction Site คือสถานที่ดำเนินการก่อสร้างอาคาร ระบบสาธารณูปโภค หรือโครงสร้างส่วนประกอบต่าง ๆ ทั้งนี้ องค์ประกอบของไซต์งานก่อสร้าง เริ่มจากต้องเป็นที่โล่งแจ้ง มีเครื่องจักร และอุปกรณ์ก่อสร้าง รวมถึงมีวัสดุก่อสร้าง และคนงานก่อสร้าง โดยภาพที่เห็นจนชินตาคือ การล้อมรั้วหรือทำสัญลักษณ์บริเวณไซต์งานก่อสร้าง เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาต

นอกจากนี้ ตามกฎกระทรวง ของกระทรวงแรงงาน กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง ที่มีผลบังคับมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2564 ได้นิยามสถานที่ที่มีการก่อสร้างไว้เพื่อความเข้าใจอันตรงกันอีกว่า…

“เขตก่อสร้าง” คือ พื้นที่ที่ดำเนินการก่อสร้าง รวมถึงพื้นที่ที่นายจ้างได้กำหนดเพิ่มเติมจากพื้นที่ที่ดำเนินการก่อสร้างตามกฎกระทรวง

“เขตอันตราย” คือ พื้นที่ที่กำลังก่อสร้าง พื้นที่ที่ติดตั้งนั่งร้าน ปั้นจั่น หรือเครื่องจักรหรือบริภัณฑ์ไฟฟ้าเพื่องานก่อสร้าง พื้นที่ที่เป็นทางลำเลียงวัสดุเพื่องานก่อสร้าง พื้นที่ที่ใช้เป็นสถานที่เก็บเชื้อเพลิงหรือวัตถุระเบิด พื้นที่ที่ลูกจ้างทำงานในที่สูง พื้นที่ที่อาจมีการกระเด็นตกหล่นหรือพังทลายของวัสดุสิ่งของ รวมถึงพื้นที่ที่นายจ้างได้กำหนดเพิ่มเติม

ความปลอดภัยในไซต์งานก่อสร้างที่พึงรู้

กระทรวงแรงงาน กำหนดมาตรการความปลอดภัยของไซต์งานก่อสร้าง มีรายละเอียดที่ครอบคลุมดังนี้

1. ความปลอดภัยด้านพื้นที่ และสภาพแวดล้อมของการก่อสร้าง

  • กำหนดพื้นที่การก่อสร้างอย่างชัดเจน โดยทำรั้วกั้นบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง
  • จัดเตรียมทางเดินและทางออกให้เพียงพอและมีความปลอดภัย
  • ติดตั้งป้ายเตือนกับสัญญาณไฟให้ชัดเจน
     

2.ความปลอดภัยในการใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์ก่อสร้าง

  • ตรวจสอบเครื่องจักรและอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน
  • ควรใช้งานตามคู่มืออย่างเคร่งครัด
  • บำรุงรักษา ดูแลไม่ให้เครื่องจักรและอุปกรณ์ก่อสร้างเสื่อมสภาพ
     

3.ความปลอดภัยของคนงานก่อสร้างหรือเจ้าหน้าที่

  • สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตราย (PPE) ตลอดเวลาที่อยู่ในไซต์งานก่อสร้าง
  • ปฏิบัติตามกฎระเบียบและข้อบังคับด้านความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด

ความปลอดภัยในไซต์งานก่อสร้าง กรณีที่มีงานเจาะหรืองานขุด

งานในไซต์งานก่อสร้างมีหลากหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้น คือ กรณีของงานเจาะ หรืองานขุด ซึ่งเป็นอีกจุดหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญในความปลอดภัย และต้องพึงระวังเป็นอย่างมาก เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายแก่คนงานหรือผู้ปฏิบัติงานในไซต์งานก่อสร้าง

ทั้งนี้ ตามกฎกระทรวง มีหลักการเกี่ยวกับการขุด หรือการเจาะ โดยมีข้อควรปฏิบัติที่พึงกระทำ ครอบคลุมดังต่อไปนี้

  • การเจาะหรือขุดรู หลุม บ่อ คู ในบริเวณที่มีสาธารณูปโภค ซึ่งอาจจะเกิดอันตรายต่อลูกจ้างหรือบุคคลอื่น นายจ้างต้องจัดให้มีการเคลื่อนย้ายสาธารณูปโภคเหล่านั้น ในกรณีที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะไม่อยู่ในความรับผิดชอบ นายจ้างต้องจัดให้มีมาตรการป้องกัน มิให้ลูกจ้างหรือบุคคลอื่นได้รับอันตรายจากการเจาะหรือขุดดังกล่าว
  • นายจ้างต้องจัดให้มีราวกันตกตามมาตรฐานของสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ และมีป้ายเตือนอันตรายที่เห็นได้อย่างชัดเจน ตามลักษณะของงานตลอดเวลาทำงาน และในเวลากลางคืน ต้องจัดให้มีสัญญาณแสงสีส้ม หรือป้ายสีสะท้อนแสงเตือนอันตรายให้เห็นได้อย่างชัดเจนและเหมาะสมกับสภาพของลักษณะงาน
  • นายจ้างต้องจัดให้มีแผ่นโลหะหรือวัสดุอื่นที่มีความแข็งแรงเพียงพอ ปิดคลุมบนบริเวณดังกล่าว และทำราวล้อมกั้นด้วยไม้ โลหะ หรือวัสดุอื่นที่มีคุณสมบัติเท่าเทียมกัน ในกรณีที่การเจาะหรือขุดนั้น ไม่อาจทำการปิดคลุมได้ ให้ทำราวล้อมกั้นอย่างรัดกุม
  • นายจ้างต้องจัดให้มีปลอกเหล็ก แผ่นเหล็ก ค้ำยัน หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่มีความมั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดจากดินพังทลาย และต้องจัดให้มีการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรง เพื่อให้เกิดความปลอดภัย โดยได้รับความเห็นชอบจากวิศวกร
  • การเจาะหรือขุดรู หลุม บ่อ คู ที่มีความลึกตั้งแต่ 2 เมตรขึ้นไป นายจ้างต้องจัดให้มีการคำนวณ ออกแบบ และกำหนดขั้นตอนการดำเนินการโดยวิศวกร ก่อนลงมือปฏิบัติงาน และต้องปฏิบัติตามแบบและขั้นตอน รวมทั้งต้องติดตั้งสิ่งป้องกันดินพังทลายไว้ด้วย
  • ในกรณีที่ใช้ปั้นจั่นหรือเครื่องจักรหนักปฏิบัติงาน หรือมีกองวัสดุหรืออุปกรณ์หนักอยู่บริเวณใกล้ปากรู หลุม บ่อ คู หรือพื้นที่อื่น ๆ ที่มีลักษณะเดียวกัน นายจ้างต้องจัดให้มีการป้องกันดินพังทลาย โดยติดตั้งเสาเข็มพืด (sheet pile) หรือโดยวิธีอื่นตามความเหมาะสม โดยได้รับความเห็นชอบเป็นหนังสือจากวิศวกร และให้ปิดประกาศสำเนาหนังสือดังกล่าวไว้ ณ สถานที่ก่อสร้าง
  • ในกรณีที่ลูกจ้างต้องลงไปทำงานในรู หลุม บ่อ คู นายจ้างต้องจัดให้มีมาตรการและอุปกรณ์ป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ และต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบถึงอันตราย ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการทำงานก่อนเข้าทำงาน
  • หากลูกจ้างต้องลงไปทำงานในสถานที่ที่มีความลึกตั้งแต่ 2 เมตรขึ้นไป นายจ้างต้องจัดให้มีทางขึ้นลงที่มั่นคงแข็งแรง รวมถึงมีระบบการถ่ายเทอากาศและแสงสว่างที่เพียงพอ และควรมีอุปกรณ์เพื่อการสื่อสารหรือรับส่งสัญญาณในกรณีฉุกเฉิน รวมทั้งสายหรือเชือกช่วยชีวิต และเข็มขัดนิรภัยที่เหมาะสม
  • นายจ้างต้องไม่ให้ลูกจ้างลงไปทำงานในรู หลุม บ่อ คู ที่มีขนาดกว้างน้อยกว่า 75 เซนติเมตร และมีความลึกตั้งแต่ 2 เมตรขึ้นไป เพื่อไม่ให้เกิดเหตุอันตราย

“ความปลอดภัย” เป็นสิ่งสำคัญ การป้องกันและใส่ใจในทุกกระบวนการ จะช่วยหลีกเลี่ยงอันตราย และลดโอกาสของความสูญเสียลงได้

อ้างอิง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ไซต์งานก่อสรา้งงานก่อสร้างก่อสร้างคนงาน
สันทัด โพธิสา
ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด