ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รวม “งานศิลปะ” ที่ทำให้เกิด “การตั้งคำถาม” จาก “แกลเลอรี” สู่ “ท้องถนน” ถึง “สนามหลวง”


Lifestyle

อธิเจต มงคลโสฬศ

แชร์

รวม “งานศิลปะ” ที่ทำให้เกิด “การตั้งคำถาม” จาก “แกลเลอรี” สู่ “ท้องถนน” ถึง “สนามหลวง”

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2700

รวม “งานศิลปะ” ที่ทำให้เกิด “การตั้งคำถาม”  จาก “แกลเลอรี” สู่ “ท้องถนน” ถึง “สนามหลวง”

 

KAWS ศิลปินชื่อดังกำลังกลายเป็นที่พูดถึง เมื่องานศิลปะขนาดใหญ่ของเขาได้รับการนำมาจัดแสดงขึ้น ณ ใจกลาง “สนามหลวง” โดยมีฉากหลัง คือ “วัดพระแก้ว” จนเกิดการตั้งคำถามจากสังคมอันหลากหลาย…

บางคนมองว่า ตัวการ์ตูนดังกล่าวดูไม่เหมาะสมกับสถานที่ บ้างก็มีความเห็นว่าเป็นงานศิลปะที่ช่วยโปรโมตประเทศไทย ทำให้ผู้คนเดินทางมาชมความงามที่ดูแปลกตา

งานศิลปะกำลังก่อให้เกิดข้อถกเถียงและความคิดเห็นต่าง ๆ นานา ทว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกของปรากฏการณ์ลักษณะนี้ Thai PBS ชวนทุกคนไปสำรวจดู ศิลปะที่ทำให้เกิดการตั้งคำถาม ข้อถกเถียง ที่ผ่านมามีอะไรบ้าง ?

จากศิลปะ “โถฉี่” ของมาร์เซล ดูชองป์ สู่ข้อถกเถียงในแวดวงศิลปะ

Fountain งานศิลปะในปี 1917 ของมาร์เซล ดูชองป์ (Marcel Duchamp) ศิลปินชาวฝรั่งเศส ที่มีผลงานท้าทายแนวคิดทางศิลปะในยุคสมัยนั้น ด้วยตัวชิ้นที่เป็นเพียงโถปัสสาวะธรรมดาที่มีใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน มาแสดงให้เป็นงานศิลปะ โดยเขาได้ส่งงานดังกล่าวไปร่วมจัดนิทรรศการศิลปะของสมาคมศิลปินอิสระในนิวยอร์ก (Society of Independent Artists) ผ่านนามแฝงที่ปรากฏเป็นลายเซ็นต์บนโถ ในชื่อ R.Mutt

โถฉี่ชิ้นนี้ถูกคัดออก แต่กลับได้รับความสนใจจากสาธารณะมากกว่าชิ้นงานอื่น ๆ เนื่องจากความหมายแฝงของมันที่ชวนให้เกิดข้อถกเถียง ทั้งว่าศิลปะคือสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว และถึงขั้นว่าสามารถฉี่รดได้ หลายปีต่อมา ตัวงาน Fountain ค่อย ๆ สะสมชื่อเสียงและความโด่งดัง แม้โถปัสสาวะชิ้นเดิมจะสูญหายไปนานแล้ว แต่ดูชองป์ได้สั่งทำใหม่ในปี 1950 จัดแสดงขึ้นในอีกหลายแห่ง และถูกประมูลไปด้วยมูลค่าสูงถึง 1.7 ล้านเหรียญสหรัฐในเวลาต่อมา

Fountain งานศิลปะในปี 1917 ของมาร์เซล ดูชองป์ (Marcel Duchamp)

“กราฟฟิตี” ศิลปะนอกแกลเลอรีของ Banksy

การขีดเขียนในพื้นที่สาธารณะที่เรียกกันว่า กราฟฟิตี มีที่มาจากรากศัพท์คำว่า “sqraffiato” ในภาษาอิตาลีที่แปลว่าการขูด ตัด หรือสลัก การขีดเขียนนพื้นที่สาธารณะด้วยการพ่นสี เขียนข้อความต่าง ๆ เพื่อสื่อสารความหมายบางอย่าง มีนัยยะหนึ่งที่ชัดเจนคือการแสดงออกถึงการปฏิเสธการปกครอง นำมาสู่ข้อถกเถียงที่ว่า สิ่งเหล่านี้เป็นงานศิลปะหรืออาชญากรรมที่ทำให้บ้านเมืองเสียหาย

ข้อถกเถียงดังกล่างทวีความเข้มข้นขึ้นจากการมาถึงของผลงานกราฟฟิตีของ Banksy ที่สร้างชิ้นงานกราฟฟิตีที่มีการนำเสนอให้เห็นถึงคุณค่าในแง่ศิลปะ ผ่านชิ้นงานที่น่าสนใจมากมาย เช่น ข้อความ I DON’T BELIEVE IN GLOBAL WARMING ที่ถูกพ่นไว้ตามกำแพง โดยให้ขอบล่างของข้อความ จมอยู่ในน้ำ สะท้อนถึงภาวะโลกร้อน หรือผลงาน Girl with Balloon ภาพเด็กผู้หญิงยื่นมือไปหาลูกโป่งสีแดงรูปหัวใจที่สื่อถึงความหวัง

กราฟิตีของ Banksy นำไปสู่เส้นแบ่งของการแยกระหว่างกราฟฟิตีที่ทำลายทรัพย์สินกับงานศิลปะ อย่างไรก็ตาม ข้อถกเถียงเกี่ยวกับกราฟิตีตามพื้นที่สาธารณะยังคงมีอยู่จนปัจจุบัน เพราะการพ่นข้อความที่เป็นชื่อ ตัวตนของคนกลุ่มเล็กนั้นก็มีแง่มุมของการเป็นเสียงเล็ก ๆ ที่สะท้อนรื่องการเมืองซ่อนอยู่

หนึ่งในงานกราฟฟิตีของ Banksy

งานศิลปะไทยคำถามจากสังคมไทยถึงศิลปิน

งานศิลปะที่กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมไทย มีปรากฏมาอย่างยาวนาน หลายชิ้นทำให้เกิดขึ้นถกเถียงเมื่อก้าวมาสู่การสื่อสารเกี่ยวกับประเด็นของศาสนาและวัฒนธรรมไทย โดยมีหมุดหมายหนึ่งที่เป็นที่พูดถึงคือ อ.ถวัลย์ ดัชนี เจ้าของฉายา ศิลปินบ้าบิ่น ด้วยผลงานแนวพุทธศิลป์ที่แปลกประหลาด มีภาพสัตว์ต่าง ๆ ร่างเปลืองเปล่าอยู่กับเศียรพระ ทำให้เกิดกลุ่มคนไม่พอใจมองว่าดูหมิ่นศาสนาถึงขั้นบุกทำลายผลงาน ร้อนจนตัวศิลปินต้องอธิบายถึงผลงานที่สื่อสารเปรียบเทียบถึงความดี ความเลวเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมี ผลงาน “เสน่ห์แห่งยักษ์ ๒” ของ อ.สมศักดิ์ รักษ์สุวรรณ ที่เป็นภาพหัวโขนยักษ์ขนาดใหญ่ 2 หัวที่มีผู้หญิงร่างเปือนยืนหันหลังอยู่กลางภาพ เกิดเป็นที่วิจารณ์ในแวดวงนาฏศิลป์ ผลงาน “ภิกษุสันดานกา” ของ อ.อนุพงษ์ จันทร ที่เป็นรูปของพระสงฆ์ร่างผอมมีปากเป็นอีกา ต่อมาได้รับรางวัลเหรียญทองศิลปกรรมแห่งชาติ แต่ก็ถูกประท้วงในถอดรางวัลเนื่องจากกระทบส่งภาพลักษณ์ของศาสนา จนในเวลาต่อมามีการยุติการแสดงภาพดังกล่าวลง 

และในช่วงปี 2562 มีผลงานที่เรียกกันว่า “พระพุทธเจ้าอุลตราแมน” ผลงานของนักศึกษาจากจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีกระแสวิจารณ์กันเป็นวงกว้าง ถึงขั้นมีกลุ่มชาวพุทธแจ้งความดำเนินคดีถึงความไม่เหมาะสม

การถกเถียงวิพากษ์วิจารณานศิลปะในหลาย ๆ กรณี นำไปสู่การเรียนรู้ทางสังคม และสะท้อนถึงความเปลี่ยนของสังคมที่เกิดขึ้นเสมอ

การห่อโลก ของ คริสโตและฌานน์-โคล้ด ศิลปกับพื้นที่สาธารณะ

ศิลปะในพื้นที่สาธารณะมักมองเห็นได้สะดุดตา กลายเป็นที่พูดถึงได้เสมอ ที่ผ่านมา เคยมีศิลปินยุคโมเดิร์นคนหนึ่งที่โดดเด่นในด้านการเล่นสนุกกับแลนด์มาร์กของโลก พวกเขาคือ คริสโตและฌานน์-โคล้ด (Christo and Jeanne-Claude) คู่รักศิลปินนักห่อโลก พวกเขาทำงานศิลปะร่วมกันโดยมีเอกลักษณ์คือการห่อสิ่งต่าง ๆ (Wrapped) จากสิ่งของสู่สถาปัตยกรรม และสถานที่ที่มีชื่อเสียง

ผลงานชิ้นสำคัญของทั้งคู่คือ การห่อไรซส์ทาค (Reichstag) หรือรัฐสภาเยอรมัน ที่ต้องใช้เวลาเจรจาขออนุญาตเกือบ 24 ปี ผ่านประธานาธิบดีถึง 6 คน จนเมื่อสำเร็จ ได้กลายเป็นผลงานชิ้นเอกในชื่อ Wrapped Reichstag จัดแสดงเป็นเวลา 2 อาทิตย์ ดึงดูดนักท่องเที่ยวมากมาย สร้างสถิติผู้เข้าชมกว่า 5 ล้านคน จนภายหลังทางการเยอรมันมีความพยายามอยากจะให้คงชิ้นงานนี้ไว้นานกว่าเดิม แต่ถูกปฏิเสธเนื่องจากศิลปินต้องการให้ผู้ชมได้รับประสบการณ์ล้ำค่าในเวลาที่จำกัดเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีผลงานชิ้นสุดท้าย นั่นคือ L'Arc de Triomphe, Wrapped เป็นการห่ออาร์ก เดอ ทรียงฟ์ (Arc de triomphe de l’Etoil) หรือประตูชัยฝรั่งเศส อนุสรณ์สถานที่สำคัญในกรุงปารีส ที่เป็นโปรเจกต์ที่คริสโตวางแผนไว้ แต่เจ้าตัวได้เสียชีวิตไปก่อน การห่อประตูชัยดังกล่าวดำเนินการโดยทีมงานของคริสโตและฌานน์-โคล้ด และได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย แถมงานศิลปะนี้ยังมีขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแด่ศิลปินที่จากไป

Wrapped Reichstag ที่มา Christo and Jeanne-Claude Official

ออพติมัส ไพร์มกลางตลาดน้อย และ KAWS กับตัวการ์ตูนยักษ์กลางสนามหลวง

เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา (ก.พ. 2568) เทพออพดิมัสไพรม์ กลายเป็นแลนด์มาร์กใหม่ย่านตลาดน้อย สร้างกระแสให้ผู้คนรวมถึงนักท่องเที่ยวเดินทางไปถ่ายรูป ที่มาของความแปลกตานี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือของเขตสัมพันธวงศ์และชาวบ้านในพื้นที่ สร้างแลนด์มาร์คในชุมชน

แม้จะถูกตั้งคำถามเรื่องความไม่เข้ากันของหุ่นยนต์กับพื้นที่ย่านเก่าของกรุงเทพฯ ทว่าต่อมา ออพติมัส ไพร์ม กลับกลายเป็นการเชื่อมความแตกต่างเข้าหากัน หนำซ้ำ ยังมีการนำพวงมาลัยมาไหว้ หลังจากมีผู้บนบานของหวย กลายเป็นพหุวัฒนธรรมที่เชื่อมโลกยุคใหม่เข้ากับโลกแห่งความเชื่อไปโดยปริยาย

เทพออพดิมัสไพรม์ แห่ง ตลาดน้อย

อีกหนึ่งงานศิลปะที่กำลัง Talk of the town นั่นคือ ตัวการ์ตูนขนาดใหญ่ นั่งอยู่กลางสนามหลวง โดยมีฉากหลังเป็น “วัดพระแก้ว” ตัวการ์ตูนดังกล่าวมีชื่อว่า COMPANION เป็นตัวละครชื่อดังของ KAWS (อ่านว่า คอวส์) หรือชื่อจริงว่า ไบรอัน ดอนเนลลี (Brian Donnelly) ศิลปินร่วมสมัยระดับโลก

การแสดงงานศิลปะกลางสนามหลวงครั้งนี้อยู่ในโปรเจกต์ชื่อว่า KAWS:HOLIDAY ที่ศิลปินจะพางานศิลปะของเขา เดินทางไปพักผ่อนรอบโลก ตามสถานที่สำคัญมากมาย

KAWS:HOLIDAY โปรเจคศิลปะได้มาจัดแสดงที่สนามหลวง

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา KAWS:HOLIDAY เดินทางมาแล้วกว่า 12 ประเทศ เริ่มต้นที่ทะเลสาบซอกชนในเกาหลีใต้ ตามด้วยไต้หวัน ฮ่องกง ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร สิงคโปร์ อินโดนีเซีย (วัดปรัมบานันที่ยอกยาการ์ตา) และอีกหลายจุดหมายสำคัญ ที่แต่ละแห่ง COMPANION จะปรากฏตัวในขนาด ท่าทาง และบริบทที่เชื่อมโยงกับพื้นที่นั้น ๆ เสมอ บางครั้งนอนหลับตานิ่งกลางธรรมชาติ บางครั้งนอนลอยอยู่กลางน้ำ หรือแม้แต่นอนหลบแสงไฟเมืองใหญ่

จนมาถึง “สนามหลวง” สถานที่ที่ได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่เก่าแก่ของประเทศไทย ซึ่งได้กลายเป็นที่พักผ่อนหนึ่งของงานศิลปะของเขา จนเป็นที่มาของคำถามที่เกิดขึ้นมากมาย ทว่าภาพของผู้คนที่ต่างเดินทางมาเก็บภาพร่วมกับศิลปะชิ้นนี้ อาจเป็น “คำตอบ” ที่สำคัญ ถึงความเปลี่ยนแปลงไปของสังคมและยุคสมัยก็เป็นได้

สิ่งที่เกิดขึ้นกับผลงานของ KAWS ถือเป็นปรากฏการณ์หนึ่งในโลกของศิลปะที่ชวนให้สังคมมีส่วนร่วม ทำให้เห็นว่าศิลปะนั้นไม่แยกขาดจากโลก แต่เป็นมีส่วนต่อกันและกัน ทำให้เห็นข้อถกเถียง การตั้งคำถาม และสะท้อนถึงความคิดของยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป

อ้างอิง

  • studiobinder
  • artshortlist
  • moontonerecords
  • Christo and Jeanne-Claude official
  • A Beautiful Mess: The Evolution of Political Graffiti in the Contemporary City

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ศิลปะKAWSสนามหลวงวัดพระแก้วศิลปิน
อธิเจต มงคลโสฬศ

ผู้เขียน: อธิเจต มงคลโสฬศ

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส สนใจเนื้อหาด้านสุขภาพจิต สาธารณสุข และความยั่งยืน รวมถึงประเด็นทันกระแสที่มีแง่มุมน่าสนใจซ่อนอยู่

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด