ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ประจานคนอื่นบนโลกออนไลน์ มีความผิดทางกฎหมายแค่ไหน ?


Insight

22 พ.ค. 68

พีรชัย พสุทันท์

Logo Thai PBS
แชร์

ประจานคนอื่นบนโลกออนไลน์ มีความผิดทางกฎหมายแค่ไหน ?

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2712

ประจานคนอื่นบนโลกออนไลน์ มีความผิดทางกฎหมายแค่ไหน ?
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

ทุกวันนี้ เรามักจะเห็นผู้คนบนโลกโซเชียล – ตั้งแต่เพื่อนฝูงไปจนถึงคนดัง – ด่าทอสาดสีใส่กันจน (เหมือนจะ) เป็นเรื่องปกติไปแล้ว แต่หลายคนก็หลงลืมไปว่า การด่าผู้อื่นทางออนไลน์นั้นอาจนำไปสู่คดีความใหญ่โตได้

จริงอยู่ที่ว่า สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการโฆษณาผ่านช่องทางต่าง ๆ จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 34 ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และการโกรธเคืองผู้อื่นนั้นเป็นเรื่องปกติของมนุษย์เดินดิน ไม่ว่าจะเกี่ยวกับเรื่องหลอกลวง เรื่องชู้สาว ฯลฯ แต่วินาทีที่เราเดือดดาลถึงใครคนใดคนหนึ่งจนโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย ก็อาจเข้าข่ายความผิดอาญาได้ตามพฤติการณ์ที่ต่างกันไป

ประจาน-กล่าวหาคนอื่นลงโซเชียล ระวังติดคุกและถูกปรับฐาน “หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา”

ในทางกฎหมาย การกล่าวร้ายถึงผู้อื่นแบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้แก่ การดูหมิ่น ซึ่งหมายถึงการด่าบุคคลที่ 2 และการหมิ่นประมาท ที่หมายถึงการประจาน นินทา หรือใส่ความบุคคลที่ 3 ดังนั้น ฐานความผิดและโทษก็จะแตกต่างกันออกไปตามที่ประมวลกฎหมายอาญาได้บัญญัติไว้ ดังนี้

  • ด่าทอต่อหน้าหรือผ่านโซเชียลมีเดีย เป็นความผิดตามมาตรา 393 ฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ประจานบุคคลที่ 3 ด้วยวาจา กล่าวหาหลับหลังในวงจำกัด (เช่น แชตกลุ่ม) เป็นความผิดตามมาตรา 326 ฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • โพสต์ประจานหรือกล่าวหาบุคคลที่ 3 ลงโซเชียลมีเดียหรือสื่อประเภทอื่น ๆ (เช่น ป้าย ภาพวาด หนัง) เป็นความผิดตามมาตรา 328 ฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท 

ทั้งนี้ ต่อให้จะโพสต์พาดพิงกล่าวหาผู้อื่นโดยตั้งค่าให้เห็นแค่แวดวงกลุ่มเพื่อน หากมีคนบันทึกภาพหน้าจอเก็บไว้ ก็ถือว่าเข้าค่ายหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาเช่นกัน

ประจานชู้ที่ “มีตัวตนอยู่จริง” จะรอดพ้นความผิดอาญาหรือเปล่า ?

เรื่องหนึ่งที่คนมักจะกล่าวหาและประจานกันในสาธารณะก็คือ “เรื่องชู้สาว” หลายครั้ง สิ่งที่ประจานไว้นั้นก็เป็นความจริง แถมมีหลักฐานชัดเจน แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้การกล่าวหานั้น “ชอบด้วยกฎหมาย” เสมอไป 

พีรภัทร ฝอยทอง ทนายความ อธิบายไว้ใน ‘รู้ทันกันได้’ ไว้ว่า คนที่กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทที่สามารถรับการยกเว้นโทษนั้น ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า เรื่องที่ไปหมิ่นประมาทบุคคลที่ 3 ไว้นั้นเป็นความจริง และต้องเกี่ยวกับประโยชน์ของประชาชนโดยรวม ซึ่งกรณีนี้จะเข้าค่ายมาตรา 330 โดยพีรภัทรได้ยกตัวอย่างฉากทัศน์ที่คู่สมรสคนใดคนหนึ่งไปมีชู้ แล้วคู่สมรสอีกคนหมิ่นประมาทถึงชู้

ถ้าเขาจะเป็นชู้กัน มันเป็นเรื่องส่วนตัวและเรื่องในครอบครัวของเขา คุณจะไปบอกว่าเรื่องนี้เป็นประโยชน์แก่ชาวบ้าน อันนี้ไม่ได้ แต่ถ้าข้าราชการคนหนึ่งไปมีภรรยาน้อย แล้วใช้เงินหลวงไปเลี้ยง เอารถหลวงไปขับ พาไปเที่ยวต่างประเทศโดยใช้เงินของหลวง แล้วคุณพิสูจน์ได้ว่าเป็นภรรยาน้อยจริง อันนี้คุณได้รับการยกเว้นโทษ เพราะฉะนั้น มันขึ้นอยู่กับว่า อันนี้เป็นเรื่องส่วนตัวหรือไม่ครับ - พีรภัทร ฝอยทอง

เว้นแต่เรื่องชู้สาวจะกระทบต่อสาธารณประโยชน์ คู่สมรสที่ถูกนอกใจไม่ควรประจานสามีน้อย-ภรรยาน้อยลงโซเชียลมีเดีย หรือตามไปด่าทอถึงเนื้อถึงตัว เพราะคนที่ถูกกล่าวหาอาจฟ้องกลับทั้งทางแพ่งและอาญาได้ สิ่งที่คู่สมรสที่ถูกนอกใจควรทำมากกว่า คือการรวบรวมหลักฐานและพยานบุคคลว่า คู่ชีวิตของตัวเองมีบ้านเล็กบ้านน้อยจริง แล้วฟ้องหย่า และ/หรือ เรียกร้องค่าทดแทนทั้งจากคู่สมรสและชู้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516 และ 1523 ตามลำดับ 

“ถ้าอยู่ ๆ คุณอยากจะไปด่า [ชู้ของคู่สมรส] หรือโพสต์ประจานเขา ห้ามทำเรื่องเหล่านี้นะครับ เพราะมันอาจทำให้คุณมีความผิดเสียเอง” พีรภัทร ย้ำเตือนไว้ใน ‘รู้ทันกันได้’ 

การนอกใจ ถูกหักหลัง และโดนเอารัดเอาเปรียบย่อมเป็นเรื่องที่รับไม่ได้เสมอ และผู้ถูกกระทำก็มีสิทธิที่จะโกรธเคืองหรือบอกเล่าประสบการณ์ของตัวเอง แต่ต้องไตร่ตรองให้ดีก่อนจะโพสต์อะไร เพราะหากสิ่งที่พูดนั้นถูก แต่วิธีการพูดนั้นผิด ก็อาจทำให้เราต้องเจ็บช้ำซ้ำซ้อนได้

อ่านเนื้อหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจากเครือ Thai PBS

อ้างอิง

  • กรมประชาสัมพันธ์, ด่าคนอื่นพล่อย ๆ ผิดกฎหมายหรือไม่? 
  • กรมประชาสัมพันธ์, ด่า ประจานคนอื่น ความผิดใกล้ตัวที่ต้องรู้ มีโทษจำคุก
  • ประมวลกฎหมายอาญา
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐

ติดตามบทความและเรื่องราวทันทุกกระแสที่ Thai PBS NOW: www.thaipbs.or.th/now

แท็กที่เกี่ยวข้อง

นอกใจกฎหมายการประจานโซเชียลมีเดียรู้เท่าทันสื่อออนไลน์หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา
พีรชัย พสุทันท์
ผู้เขียน: พีรชัย พสุทันท์

ศิษย์เก่าอักษร จุฬาฯ และโปรแกรมปริญญาโททุน EU ด้านวรรณกรรมยุโรปในฝรั่งเศสและกรีซ ผู้ชอบพาตัวเองไป (หลง) อยู่ในกระแสพหุวัฒนธรรม และเปิดเพลง ABBA ประโลมชีวิตทุกครั้งที่เขียนงาน | porrorchor.com

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด