นักวิทยาศาสตร์เคยเชื่อกันว่าการเปลี่ยนเส้นทางของแม่น้ำนั้นใช้เวลาเป็นร้อยเป็นพันปี ธารน้ำแข็งก็เช่นกัน แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ข้อมูลจากดาวเทียม Sentinel-1 ได้พบว่ากระแสธารน้ำแข็งแห่งหนึ่งในขั้วโลกใต้กำลังถูกอีกกระแสธารหนึ่งแย่งมวลน้ำแข็งไป และการเกิดขึ้นนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและจำนวนน้ำแข็งลงทะเลในจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นในอีกภูมิภาค ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่ถึง 20 ปีเท่านั้น
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยลีดส์ (University of Leeds) สหราชอาณาจักร รายงานการค้นพบที่มีความสำคัญต่อความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงของธารน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกา โดยอาศัยข้อมูลจากดาวเทียม Copernicus Sentinel-1 และข้อมูลระดับความสูงของพื้นผิวน้ำแข็งจากภารกิจ CryoSat ขององค์การอวกาศยุโรป ครอบคลุมช่วงเวลาระหว่างปี 2005 ถึง 2022 เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงของธารน้ำแข็งในบริเวณ Pope Smith และ Kohler ทางฝั่งตะวันตกของแอนตาร์กติกา ผลการศึกษาพบว่า ธารน้ำแข็ง Kohler East ซึ่งเป็นหนึ่งในธารน้ำแข็งที่ไหลเร็วที่สุดในพื้นที่ กำลังดึงมวลน้ำแข็งจากธารน้ำแข็ง Kohler West ซึ่งอยู่ติดกันและมีอัตราการไหลที่ช้ากว่า เข้ามายังแนวไหลของตนเองในอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยมีการเปลี่ยนทิศทางของการไหลจากเดิมที่แยกจากกัน กลายเป็นการเบี่ยงเข้าหากัน ส่งผลให้ธารน้ำแข็ง Kohler West ชะลอตัวลง ในขณะที่ Kohler East ยังคงเร่งความเร็วขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากการวิเคราะห์พบว่า ธารน้ำแข็งในพื้นที่นี้จำนวน 7 ใน 8 สาย มีอัตราการไหลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 51 นับตั้งแต่ปี 2005 โดยเฉพาะ Kohler East และ Smith West ซึ่งมีอัตราการเพิ่มความเร็วเฉลี่ยประมาณ 32 เมตรต่อปีตลอดระยะเวลา 17 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ Kohler West เป็นธารน้ำแข็งเดียวที่แสดงค่าการไหลที่ลดลงประมาณร้อยละ 10 ในช่วงเวลาเดียวกัน
นักวิจัยสรุปว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดจากความแตกต่างอย่างชัดเจนในอัตราการละลายและความเร็วของธารน้ำแข็งทั้งสองสาย ซึ่งทำให้ธารที่ไหลเร็วกว่าและมีการละลายมากกว่ากลายเป็นแรงดึงมวลน้ำแข็งจากธารที่ไหลช้ากว่าเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการไหลของตนเอง ปรากฏการณ์นี้มีลักษณะคล้ายกับการ “ขโมยน้ำแข็ง” ระหว่างธารน้ำแข็งซึ่งแต่เดิมนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเป็นกระบวนการที่ใช้เวลาหลายร้อยปี แต่ข้อมูลล่าสุดชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้สามารถเกิดขึ้นภายในระยะเวลาไม่ถึงสองทศวรรษ
พื้นที่แถบตะวันตกของแอนตาร์กติกายังเป็นบริเวณที่มีการถอยร่นของเส้นขอบน้ำแข็ง (Grounding Line) อย่างรวดเร็ว ซึ่งเส้นขอบดังกล่าวเป็นจุดที่ธารน้ำแข็งบนพื้นดินเปลี่ยนสถานะเป็นชั้นน้ำแข็งลอยน้ำ การถอยร่นของเส้นขอบนี้ส่งผลให้ชั้นน้ำแข็งเกิดความไม่เสถียร และสามารถเร่งให้ธารน้ำแข็งบนพื้นดินไหลลงสู่ทะเลได้รวดเร็วขึ้น จึงมีความเป็นไปได้ที่กระบวนการนี้จะส่งผลต่อระดับน้ำทะเลโลกในระยะยาวอย่างมีนัยสำคัญ งานวิจัยนี้จึงมีบทบาทสำคัญต่อการทำความเข้าใจกลไกการไหลของธารน้ำแข็งในเขตขั้วโลก ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นต่อการประเมินความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะในบริเวณชายฝั่งทั่วโลก
การศึกษาครั้งนี้สะท้อนถึงความสำคัญของการเฝ้าระวังระบบน้ำแข็งในขั้วโลกด้วยข้อมูลจากดาวเทียมที่มีความแม่นยำและต่อเนื่องในระยะยาว ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการติดตามผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต ทั้งนี้ โครงการที่เกี่ยวข้องกับการสังเกตการณ์โลก เช่น FutureEO ขององค์การอวกาศยุโรป ได้แสดงให้เห็นถึงบทบาทของเทคโนโลยีอวกาศในการสนับสนุนการวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมและการวางนโยบายอย่างเป็นระบบเพื่อความมั่นคงของโลกในระยะยาว
เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล
พิสูจน์อักษร ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
ที่มาข้อมูล : ESA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech