ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“กำแพงภาษี” มาตรการทางการค้าที่มีผลต่อเศรษฐกิจโลก


Insight

สันทัด โพธิสา

แชร์

“กำแพงภาษี” มาตรการทางการค้าที่มีผลต่อเศรษฐกิจโลก

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2895

“กำแพงภาษี” มาตรการทางการค้าที่มีผลต่อเศรษฐกิจโลก

 

เป็นหัวข้อข่าวที่สังคมไทยให้ความสนใจ กรณีสหรัฐอเมริกา ส่งหนังสือแจ้งอัตราภาษีใหม่ไปยังหลายประเทศ หนึ่งในนั้นคือ ประเทศไทย ที่ทางการสหรัฐฯ แจ้งอัตราเก็บภาษีนำเข้าสินค้า 36%  สำหรับผลิตภัณฑ์ไทยที่ส่งไปยังสหรัฐอเมริกา 

นี่อาจเรียกได้ว่า เป็นการตั้ง กำแพงภาษี ที่มีผลต่อเนื่องไปยังภาคธุรกิจอีกมากมาย Thai PBS ชวนทำความเข้าใจมาตรการดังกล่าว มีนัยสำคัญ และเกิดผลลัพธ์ที่ตามมาอย่างไร

เข้าใจที่มา “กำแพงภาษี”

กำแพงภาษี หรือ Tariff Wall คือ การตั้งภาษีศุลกากรในอัตราสูงกับสินค้านำเข้า โดยจุดประสงค์หลักคือ ปกป้องผู้ผลิตในประเทศ จากการแข่งขันของสินค้าจากต่างชาติ

ทั้งนี้ ภาษีศุลกากร เป็นกลไกที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นในตัวเอง แต่เป็นกลไกที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสกัดกั้นการไหลเข้ามาของสินค้าจากต่างประเทศที่จะเข้ามาในประเทศ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้สินค้าในประเทศถูกโจมตีจากสินค้าต่างประเทศที่มีคุณภาพดีแต่ราคาย่อมเยากว่า

ลักษณะของการตั้ง “กำแพงภาษี”

ลักษณะของการเก็บภาษีศุลกากรของสินค้า มีหลักการคือ หากเป็นสินค้าที่สามารถผลิตภายในประเทศได้ ภาษีขาเข้าของสินค้าชนิดนั้น ๆ จะมีอัตราสูง ขณะเดียวกัน  หากเป็นสินค้าที่ผลิตเองไม่ได้ภายในประเทศ อัตราภาษีศุลกากรจะต่ำ 

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่ส่งผลให้ภาษีศุลกากรมีอัตราที่แตกต่างกันไป เช่น สินค้าจำพวกส่งเสริมการเรียนรู้ อาทิ คอมพิวเตอร์ หนังสือ อัตราภาษีศุลกากรจะต่ำ ส่วนสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น น้ำหอม เครื่องสำอาง อัตราภาษีศุลกากรจะสูง เป็นต้น

วิธีการตั้ง “กำแพงภาษี”

โดยทั่วไป ภาษีศุลกากร มักตั้งอัตราการเก็บไว้ 2 แบบ คือ

  1. พิกัดอัตราเดี่ยว เป็นการตั้งภาษีศุลกากรอัตราเดียว ไม่ว่าสินค้าชนิดนั้นจะนำเข้ามาจากประเทศใด หรือส่งออกไปยังประเทศใด
  2. พิกัดอัตราซ้อน เป็นการตั้งภาษีศุลกากร ที่มีความแตกต่างกันตามข้อตกลงของแต่ละประเทศ เป็นการเลือกปฏิบัติในแต่ละประเทศที่ไม่เท่ากัน

ผลกระทบที่เกิดกับการตั้ง “กำแพงภาษี”

เมื่อเกิดการตั้ง “กำแพงภาษี” ผลลัพธ์ที่เกิดมีหลายประการด้วยกัน อาทิ 

  • เกิดการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับประเทศที่กำหนดการตั้งกำแพงภาษี 
  • ส่งผลให้เกิดภาวะ Stagflation หรือภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทางหนึ่ง ทำให้ประเทศที่ถูกเก็บภาษีเพิ่ม ต้องเผชิญกับภาวะเงินฝืดมากขึ้น ส่วนอีกทางหนึ่ง ประเทศที่เป็นผู้นำเข้า จะต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อมากขึ้นเช่นกัน
  • ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้อีกประการ นั่นคือ การตั้งกำแพงภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ซึ่งผลที่ตามมา ทำให้เกิด Stagflation หรือภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ที่แพร่กระจายในวงกว้างได้
  • อีกหนี่งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น นั่นคือ ราคาสินค้าปลายทางจะสูงขึ้น เมื่อสินค้านำเข้าต้องเสียภาษีมากขึ้น ราคาจำหน่ายปลายทางย่อมสูงขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้ผู้บริโภคอาจลดการใช้จ่ายลง กระทบต่อยอดขายและรายได้ของผู้ประกอบการ
  • อีกหนึ่งผลกระทบ คือ การลงทุนชะลอตัว ด้วยนโยบายการตั้งกำแพงภาษี ทำให้นักลงทุนมีความระมัดระวัง โดยเฉพาะประเทศที่มีความเสี่ยงด้านการค้า ส่งผลให้การลงทุนในภาคการผลิตและการตลาด ชะลอตัวลง

หลักการรับมือมาตรการตั้ง “กำแพงภาษี”

วิธีการรับมือการถูกตั้งกำแพงภาษี ต้องอาศัยการปรับตัวทั้งในระดับประเทศและในระดับภาคธุรกิจ ทั้งนี้มีหลักการที่สามารถปฏิบัติได้ ดังนี

  • ลดการพึ่งพาตลาดเดียว โดยการหาตลาดใหม่และขยายฐานการส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ 
  • รัฐควรให้การสนับสนุนผู้ประกอบการภายในประเทศ ให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้น 
  • อีกหนึ่งภารกิจของภาครัฐ คือการเจรจากับประเทศคู่ค้า เพื่อลดผลกระทบจากกำแพงภาษี หรือหาข้อตกลงทางการค้าที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ
  • ภาคธุรกิจ ควรยกระดับคุณภาพสินค้าและบริการให้ได้มาตรฐานสากล เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับสินค้าต่างประเทศ
  • ภาคธุรกิจ ควรลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เพื่อให้สามารถแข่งขันด้านราคาได้
  • สร้างความร่วมมือกับธุรกิจอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและลดความเสี่ยง
  • ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด อัปเดตสถานการณ์เกี่ยวกับมาตรการทางการค้า เพื่อปรับตัวได้ทันท่วงที

การตั้งกำแพงภาษี เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือและการปรับตัวจากทุกภาคส่วน เพื่อให้สามารถรักษาและขยายโอกาสทางการค้าในเวทีโลกได้

แท็กที่เกี่ยวข้อง

กำแพงภาษีTariff Wallภาษีสินค้า
สันทัด โพธิสา

ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด